กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--BRAINASIA COMMUNICATION
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นำโดย ผศ.ยุทธนา มหัจฉริยวงศ์ ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วสท. พร้อมด้วย ศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท., ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า เลขานุการคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท., รศ.ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุลรองประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. และผู้เชี่ยวชาญสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและวิศวกรรมแหล่งน้ำ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างความตระหนักแก่นักวิชาการในการให้ข้อมูลสาธารณะแก่สื่อมวลชนและภาคประชาชน จึงได้จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ "บทบาทนักวิชาการกับการให้ข้อมูลสาธารณะ"
ผศ.ยุทธนา มหัจฉริยวงศ์ ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า นักวิชาการเป็นผู้ที่มีความรู้สาขาใดสาขาหนึ่งหรือหลายสาขา นักวิชาการมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ความรู้ ซึ่งทำได้หลายรูปแบบ เช่น การพูด การแสดงสาธิต การออกแบบ การสร้างหรือการเขียน ในปัจจุบันประเทศไทยมีนักวิชาการผู้มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ จำนวนมากมายหลายท่าน นอกจากจะปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจในสายงานประจำแล้ว ยังมุ่งให้ความรู้และข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชนและสังคม ซึ่งนับว่าเป็นบทบาทที่มีความสำคัญและสอดคล้องกับพันธกิจของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) อันเป็นองค์กรวิชาชีพที่เป็นศูนย์รวมของวิศวกรและนักวิชาการผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในงานวิศวกรรมหลากหลายสาขาในการรับใช้สังคมในหลายบริบทตามหลักวิชาการ
ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า เลขานุการคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เป็นจำนวนมาก นอกจากจะปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจในสายงานประจำแล้ว ยังมุ่งให้ความรู้และข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เป็นการสร้างภูมิปัญญาให้แก่สังคม นับเป็นบทบาทที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาได้มีนักวิชาการบางคน บางกลุ่มได้แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชนหลายครั้ง โดยให้ข้อมูลแก่สาธารณะในสาขาที่ตนเองไร้ความรู้พื้นฐาน ขาดความเชี่ยวชาญ และขาดการกลั่นกรอง ขาดการตรวจสอบความถูกต้องอย่างเหมาะสม ทั้งที่ตั้งใจมีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝง และทั้งที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนทั่วไปในวงกว้าง สร้างความคาดเคลื่อนให้แก่ผู้ที่ได้รับข้อมูลข่าวสาร การกระทำดังกล่าวนอกจากจะล่วงล้ำการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานประจำซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญตัวจริงแล้ว ยังเป็นการบั่นทอนความน่าเชื่อถือของวงการวิชาการ และก่อให้เกิดความเบี่ยงเบนต่อกระบวนการบริหารจัดการในเรื่องนั้น ซึ่งหากประเด็นนั้น เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติของประเทศ อาจทำให้มีการกำหนดทิศทางที่ผิดพลาดต่อกระบวนการบริหารจัดการและเฝ้าระวังภัยพิบัตินั้นได้ คณะอนุกรรมสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
ศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า คณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. ในฐานะวิศวกรและนักวิชาการผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในงานวิศวกรรมสาขาสิ่งแวดล้อมและสาขาแหล่งน้ำ มีความเห็นว่านอกจากการส่งเสริมให้นักวิชาการใช้ความรู้ ความสามารถ ในการสร้างสรรค์สิ่งอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติตามสาขาที่มีความเชี่ยวชาญแล้ว ควรต้องมีการให้ข้อมูลแก่สังคมถึงพฤติกรรมที่ผิดมรรยาท ผิดจรรยาบรรณของนักวิชาการ ที่พยายามสร้างคุณค่าให้แก่ตนเองด้วยการให้ข้อมูลที่มโนขึ้นเอง ขาดหลักวิชาการรองรับ ขาดการตรวจสอบ ขาดการกลั่นกรอง ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสังคมมิให้หลงเชื่อ หรือรับฟังข้อมูลที่ขัดแย้งกับหลักวิชาการ ซึ่งรวมถึงการเตือนภัยที่ขาดหลักการที่ถูกต้อง เพื่อมิให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนทั่วไปในวงกว้าง โดยร่วมกันเผยแพร่พฤติกรรมดังกล่าวให้เป็นที่รับทราบแก่สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป อันจะเป็นการป้องกันหรือป้องปรามการกระทำพฤติกรรมดังกล่าว เพื่อความน่าเชื่อถือของวงการวิชาการ และเพื่อประโยชน์ของสาธารณะซึ่งรวมถึงการกำหนดทิศทางที่ถูกต้องของกระบวนการเฝ้าระวังและเตือนภัยพิบัติของประเทศต่อไป
รศ.ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุล รองประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า วสท. แสดงบทบาทของนักวิชาการในระดับหนึ่ง ซึ่งความน่าเชื่อถือของนักวิชาการของ วสท. ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี การให้ข้อมูลที่เป็นจริง และเป็นกลาง เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อภาคบริหารระดับประเทศ นักวิชาการจะออกไปให้ข้อมูลข่าวสารหรือแก้ต่างต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้นั้น ไม่ควรออกไปพูดในลักษณะของการแสดงความคิดเห็น แต่ควรออกไปพูดในฐานะของผู้มีความรู้ในด้านนั้นๆ การให้ข้อมูล แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.การให้ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ คือ ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ให้ข้อมูลแบบหลักการและเหตุผล 2.การให้ข้อมูลจากความคิดเห็นส่วนตัว ทำให้ประชาชนรับข้อมูลข่าวสารไปแบบผิดๆ หรืออาจตื่นตระหนกกับข้อมูลที่ได้มาซึ่งข้อมูลอาจคาดเคลื่อนได้ อย่างไรก็ตามควรชี้แจงตามหลักความเป็นจริง เพราะเรื่องธรรมชาติอาจคาดเคลื่อนได้ โอกาสที่จะเกิดอาจจะมีหรือไม่มีเปอร์เซ็นต์การเกิดเลยก็ได้ โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้มาจากการคาดการณ์ จะได้ป้องกันหรือเตรียมการ โดย วสท .ขอเสนอแนวทางเพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวดังนี้ 1.ควรมีการชี้แจงโอกาสของข้อมูล 2.หากเรื่องที่นักวิชาการจะพูดถึงมาจากความคิดเห็นส่วนตัวก็ควรจะชี้แจงให้เห็นแบบเป็นรูปธรรม 3.ควรให้ข้อมูลเชิงสร้างสรรค์และต้องระมัดระวังในสิ่งที่จะให้ข้อมูลออกไปด้วย 4.ควรกลั่นกรองข้อมูลร่วมกันเพื่อให้เกิดความถูกต้องจากการระดมสมอง ระดมความคิด รวมไปถึงการประชุมเพื่อหารือร่วมกัน 5.ควรเริ่มสร้างกลไกในการอบรมจรรยาบรรณสำหรับนักวิชาการและวิศวกรของ วสท. และสภาวิศวกร และควรจัดสอบทุกครั้งหลังจบการอบรมเพื่อประเมินผล หากสอบไม่ผ่านก็ต้องมีการสอบซ่อม 6.ควรสร้างเครื่องมือในการประเมินศักยภาพของวิศวกรเพื่อประเมินความรู้ความเข้าใจต่อการให้ข้อมูลในเรื่องนั้นๆ
คณะกรรมการสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ใคร่ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนผู้มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณะ โปรดละเว้นการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จจากพฤติกรรมดังกล่าว รวมทั้งขอให้มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลกับนักวิชาการ ผู้มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้นๆ ก่อนเผยแพร่สู่ประชาชนในวงกว้างต่อไป