กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--สศอ.
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พฤษภาคม 2559 ขยายตัวที่ร้อยละ2.60 ต่อเนื่องจากเดือนมีนาคมและเมษายนที่ขยายตัวร้อยละ 1.83 และ 0.89 ตามลำดับ เนื่องจากการผลิตของอุตสาหกรรมหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น
นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในภาพรวมของเดือน พฤษภาคม 2559 มีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 2.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตของสินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญ ประกอบด้วย รถยนต์,เครื่องปรับอากาศ, เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ และผลิตภัณฑ์ยาง ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น
สำหรับสินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลติอุตสาหกรรม (MPI) มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่
รถยนต์ การผลิตเดือนพฤษภาคม ปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของรถปิคอัพ เป็นหลัก เนื่องจากมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆที่ได้รับการตอบรับดีทั้งตลาดในประเทศ และส่งออก รวมทั้งรถยนต์นั่งขนาดเล็กมีการผลิตเพิ่มขึ้นจากการขยายโรงงานประกอบรถยนต์แห่งใหม่
เครื่องปรับอากาศ การผลิตเดือนพฤษภาคม ปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของคอนเดนซิ่ง และแฟนคอยล์ ในเครื่องปรับอากาศ ทั้งนี้ ผู้ผลิตทำการกระตุ้นตลาดในช่วงที่สภาพอากาศร้อนต่อเนื่อง ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น โดยปริมาณการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 51.23 เช่นเดียวกับปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.52
เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ การผลิตเดือนพฤษภาคม ปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของเครื่องยนต์ดีเซล ตามความต้องการใช้ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากได้อานิสงส์จากการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้ารถปิคอัพขนาด1,900 ซีซี.รวมถึงคำสั่งซื้อของลูกค้าตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย ยุโรป และกลุ่มลาตินอเมริกา
ผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตเดือนพฤษภาคม ปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ยางแท่ง และในปีนี้ ภาครัฐได้ออกมาตรการโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นราคาในประเทศให้สูงขึ้น เช่น การทำยางปูพื้นลู่วิ่ง ลานกรีฑา เป็นต้น ส่งผลให้ราคาของผลิตภัณฑ์ยางดีขึ้น
นอกจากนี้การส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมดังกล่าวมีอัตราการขยายตัวที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศสำคัญๆ ในเอเชีย กล่าวคือ รถยนต์ไทยมีการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8.4 ในขณะที่จีนส่งออกลดลงร้อยละ 11.9และเกาหลีใต้ส่งออกลดลงร้อยละ 8.4