กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--กทม.
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร วันนี้ (14 มิ.ย. 43) เวลา 11.50 น. ดร.พิจิตต รัตตกุลรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการ กรุงเทพ-มหานคร เปิดเผยว่า การที่ตนรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลังจากครบวาระการเป็นผู้ว่าฯกทม. แล้ว ได้มีการหารือกับส่วนราชการทั้งปลัดกรุงเทพมหานคร และรองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมการว่าในการดำรงตำแหน่งรักษาการนี้มีความหมายอย่างไร ซึ่งได้ตกลงกันเรียบร้อยแล้วโดยปลัดกรุงเทพมหานคร ได้เสนอแนะตนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าเนื่องจากขณะนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่มีแล้วก็ควรจะมีการมอบหมายงาน ให้กับปลัดกรุงเทพมหานคร และรองปลัดกรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยงาน ตนจึงได้ให้กองการเจ้าหน้าที่รวบรวมเรื่องราวต่างๆ ในการที่จะมอบหมายงาน อย่างไรก็ดีสิ่งที่สำคัญกว่าเรื่องเอกสารการมอบหมายงาน คือ เจตนารมย์ของการรักษาการ ตนมีเจตนารมย์ว่า ในการรักษาการนั้นจะรักษาการเพื่อไม่ให้เกิดความลำบากหรือสร้างความอึดอัดใจให้กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ที่จะเข้ามาทำงาน โดยเฉพาะโครงการที่มีความสำคัญ หรือโครงการใหญ่จะไม่ไปทำการอนุมัติเพื่อที่จะให้ไม่เป็นเรื่องที่ไปผูกพันกับ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่และตนจะรักษาการเพื่อที่ให้งานประจำดำเนินไปได้โดยไม่เกิดความเสียหาย กับราชการและประชาชนเท่านั้น และการมอบหมายงานที่มอบไปนั้นเป็นการมอบหมายงานเพื่อให้ปลัดกทม. และรองปลัดกทม. ดูแลงานปกติ งานประจำ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ และการมอบหมายงานก็เกิดจากคำแนะนำของปลัดกทม.
รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของโครงการใหญ่ๆในช่วงนี้ตนไม่ต้องการที่จะให้มีการ ตัดสินใจเลย แต่ถ้าหากว่าจำเป็นต้องตัดสินใจจริงๆ ก็ให้เสนอเข้าที่ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีปลัดกรุงเทพมหานคร รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมหารือ ซึ่งการประชุมคณะผู้บริหารจะเริ่มประชุมในวันอังคารหน้า (20 มิ.ย. 43) เป็นต้นไป สำหรับอดีตรองผู้ว่าฯกทม. ขณะนี้ก็ได้มาช่วยตนกรองงานซึ่งมีจำนวนมาก โดยไม่ได้รับเงินเดือน
ด้าน นายประเสริฐ สมะลาภา ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า เรื่องนี้เป็นการปฏิบัติราชการโดยปกติ เนื่องจากรองผู้ว่าฯกทม. ต้องหมดวาระไป และงานเอกสารมีจำนวนมาก ตนเป็นผู้เสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่าควรต้องมีการมอบหมายงาน มิฉะนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องทำงานแทนรองผู้ว่าฯ 4 คน ซึ่งอาจจะไม่ไหว เพราะงานประจำมีมากมายที่ต้องอนุมัติ และในกฎหมายอำนาจทุกอย่างเป็นของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหมด อย่างไรก็ดีแม้ผู้ว่าฯกทม. จะมอบงานให้กับปลัดกทม. และรองปลัดกทม. แล้ว ในเรื่องสำคัญๆ ก็ยังคงต้องมาหารือในที่ประชุมคณะผู้บริหารกทม. ทั้งนี้ผู้มอบอำนาจไม่ได้หมายความว่าจะพ้นภาระความรับผิดชอบ กล่าวคือ ยังคงต้องรับผิดชอบในฐานะผู้มอบ ตนจึงขอชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจถึงการมอบหมายงานดังกล่าว