กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--กกร.
ที่ประชุม กกร. มีความเห็นว่า เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้นหลังจากผลการลงประชามติของ สหราชอาณาจักรสนับสนุนการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ BREXIT เนื่องจากความไม่แน่นอนในรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและอียู ซึ่งยังต้องรอกระบวนการเจรจาที่คงต้องใช้เวลานานพอสมควร ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และสร้างความผันผวนต่อตลาดการเงินทั่วโลก ทั้งนี้ แม้ว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจาก BREXIT น่าจะอยู่ในวงจำกัดในช่วงที่เหลือของปี 2559 นี้ เนื่องจากความเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ของไทยกับ สหราชอาณาจักร มีสัดส่วนไม่มาก อีกทั้งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยยังค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่กระบวนการในการเจรจาความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปต่อจากนี้ยังคงใช้เวลาอีกพอสมควร จึงต้องติดตามความคืบหน้าจากประเด็น BREXIT นี้อย่างใกล้ชิด
สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือนพฤษภาคม 2559 ยังคงได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐและการขยายตัวของการท่องเที่ยว รวมทั้งมีสัญญาณบวกที่ยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นได้เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกในเดือนพฤษภาคมและในช่วง 5 เดือนแรกของปีที่ยังคงหดตัว สะท้อนภาวะอุปสงค์ของคู่ค้าที่ยังอ่อนแอและกระทบการผลิตในภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ภายใต้ความท้าทายของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อสินค้าจากไทย และทำให้การฟื้นตัวของการส่งออกอาจต้องใช้เวลามากกว่าที่คาด ที่ประชุม กกร.จึงเห็นควรปรับลดประมาณการมูลค่าการส่งออกในปี 2559 ลงมาเป็น -2.0% ถึง 0.0% จากเดิมที่ 0.0-2.0% ซึ่งไม่ต่ำมากจากที่หดตัว 1.9% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี และน่าจะยังเป็นอัตราการหดตัวที่น้อยกว่าอีกหลายประเทศในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการใช้จ่ายในประเทศเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ประกอบกับการใช้จ่ายของภาครัฐและการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ที่ประชุมจึงยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ไว้ที่ 3.0-3.5% ตามเดิม
คณะกรรมการ กกร. รู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐออกรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ.2559 (Trafficking in Persons Report 2016) โดยปรับระดับประเทศไทยขึ้นเป็น "ระดับ 2 บัญชีที่ต้องจับตามอง" (Tier 2 Watch List) โดยรายงานระบุว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยยังมีอยู่กว้างขวาง แต่เปรียบเทียบกับปีก่อน รัฐบาลมีความพยายามในการดำเนินการสืบสวนคดี รวมถึงดำเนินคดีและพิพากษาโทษผู้ทำการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น และขอให้ไทยดำเนินงานให้ก้าวหน้ามากขึ้นอย่างต่อเนื่องในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมาย
ในเรื่องการค้ามนุษย์นี้ ทางรัฐบาลไทยโดย ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหามาโดยตลอด และจัดเรื่องดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมกันนี้ ในส่วนภาคเอกชนโดย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้สนับสนุนและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด และผลักดันให้หอการค้าจังหวัด สมาคมการค้าที่เป็นสมาชิกทั่วประเทศ ดำเนินการร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังในทุกรูปแบบ ทำให้สหรัฐเห็นถึงความพยายามในการแก้ปัญหา รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยดีขื้น สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้นำเข้า และผู้บริโภคมีความมั่นใจและสบายใจในการ
บริโภคสินค้าจากประเทศไทย พร้อมทั้ง ยังส่งผลให้การส่งออกของไทยสามารถขับเคลื่อนไปได้ดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยได้ปรับระดับเป็น Tier 2 Watch List ยังจะเป็นผลดีต่อเนื่องถึงการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, unreported and unregulated fishing : IUU) ซึ่งรวมเรื่องค้ามนุษย์ไว้ด้วย โดยรายงานของสหรัฐครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงผลของความพยายามในการแก้ปัญหาของประเทศไทย
กกร. มีมติให้ความเห็นชอบในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดงาน "มห-กรรมสนองโกง" ที่จัดโดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ในวันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน 2559 เวลา 16.30 น. ณ ท้องสนามหลวง และงานสัมมนาทางวิชาการ "ใคร-อะไร-อย่างไร ในการต้านโกง" ในวันอังคารที่ 6 กันยายน 2559 เวลา 8.00 น. ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้แนวคิดคือ การรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ แสดงเจตนารมณ์ต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยจะมีการรับฟังผลงานทั้งภาคเอกชนและภาครัฐในการลงโทษคนโกงชาติ (กรรมสนองโกง) และปิดท้ายด้วย การปาฐกถาพิเศษ โดย ท่านนายกรัฐมนตรี โดยจะได้ประสานกับกระทรวงมหาดไทย เชิญชวนให้ กรอ. ทุกจังหวัดแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในวันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน 2559
กกร. ยังมีมติให้ความเห็นชอบในการศึกษาความเป็นไปได้ ผลได้ผลเสียในการเจรจาการค้าเสรีระบบทวิภาคีกับประเทศสหราชอาณาจักร ภายใต้บริบทที่ประเทศสหราชอาณาจักรจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป
กกร. ให้การสนับสนุนการเสริมสร้างประสิทธิภาพทางธุรกิจและการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ยุค Digital Economy จึงได้ร่วมกับกรมสรรพากร ในการจัดงานสัมมนา "จัดทำภาษีอย่างไร...ให้เป็นธรรมกับผู้เสียภาษี" เมื่อวันที่ 1 และ 5 กรกฎาคม 2559 แล้วนั้น วันที่ 6 กรกฎาคม 2559 จะเป็นการจัดสัมมนาวันสุดท้าย ซึ่งทาง กกร. และกรมสรรพากร ได้จัดเสวนาพิเศษเรื่อง เตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ยุค Digital Economy กับระบบ National e-payment" โดยได้รับเกียรติจากอธิบดีกรมสรรพากร และผู้บริหารระดับสูงของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมงานเสวนาก่อนเริ่มการอบรมเรื่องบัญชีเล่มเดียวในวันสุดท้าย