กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--ฟร้อนท์เพจ
กระทรวงไอซีที แนะผู้ประกอบการ SMEs ปรับตัวในยุค 4.0 ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้สามารถค้าขายออนไลน์รองรับการเปลี่ยนแปลงการค้าโลก เผยแผนส่งเสริมสนับสนุนตั้งเป้าภายใน 1 ปีครึ่งต้องบ่มเพาะและเป็นที่ปรึกษาแก่ผู้ประกอบการค้าขายออนไลน์ครบวงจร 15,000 ราย สร้างมาตรฐานสินค้าไทยบนโลกออนไลน์ 100,000 รายการ
ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าว
ในการเสวนา "SMEs จะปรับตัวอย่างไรในโลกยุค 4.0" ภายในงาน Smart SME EXPO 2016 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็คเมืองทองธานี ว่า ผู้ประกอบการ SMEs รายใดยังไม่รู้เท่าทันหรือยังไม่มีประสบการณ์ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการค้าขาย จำเป็นต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจให้สามารถค้าขายออนไลน์ให้ได้นั่นเป็นเพราะในอนาคตมูลค่าการค้าขายโลกจะเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก โดยคาดว่าภายในปี ค.ศ.2025 หรือปี พ.ศ.2568 ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของโลกคาดว่ามีมูลค่าถึง 70 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมูลค่าการค้าส่วนใหญ่เกิดจากการใช้แอปพลิเคชั่น โดยเฉพาะการค้าขายผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ (Mobil Internet) สูงเป็นอันดับหนึ่งคือประมาณ 10.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือเครื่องมือเครื่องใช้ทางเทคโนโลยี (Automation of Knowledge work) มีมูลค่าประมาณ 6.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เทคโนโลยีการเชื่อมต่อทุกอย่างเข้าด้วยกัน (The Internet of Things) มูลค่า 6.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และ Cloud Technology มูลค่า 6.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูลจาก Base on Manyika et al. 2013) ดังนั้น ผู้ประกอบการ SMEs ต้องหันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการค้าออนไลน์รองรับการเติบโตทางการค้าโลกในอนาคต
แนวทางการสนับสนุนให้เกิดการค้าขายออนไลน์ของภาครัฐนั้น ขณะนี้กระทรวงไอซีทีได้เร่งพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงการยกระดับศูนย์ดิจิทัลชุมชนเพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนได้อย่างทั่วถึง การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่โดยตั้งเป้าว่าภายใน 1 ปี 6 เดือนจะมีการบ่มเพาะผู้ประกอบการ Tech Startup กลุ่ม SME และ Micro SMEs จำนวน 1,500 ราย การพัฒนาสินค้าต้นแบบพร้อมผลิต 300 รายการ ร้านค้าออนไลน์ชุมชนอย่างน้อย 10,000 ราย ผ่านเครือข่ายศูนย์ดิจิทัลชุมชน นำร่องพัฒนา Smart Farming ตรวจสอบย้อนหลังกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์ เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ ต่อยอดโครงการคนกล้าคืนถิ่นบ่มเพาะให้เป็นเกษตรกรดิจิทัล (Smart Farmer) จำนวน 1,600 คน อีกทั้งทำการบ่มเพาะและเป็นที่ปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ SMEs ค้าขายออนไลน์อย่างครบวงจรให้ได้ 15,000 ราย
"นอกจากนี้ยังมีการจัดทำคู่มือสำหรับ SME go online ทั้งรูปแบบการค้าส่งออนไลน์ระหว่างธุรกิจด้วยกัน (B2B) และรูปแบบอี-คอมเมิร์ชระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C) รวมถึงการสร้างมาตรฐานสินค้าออนไลน์ 100,000 รายให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี 6 เดือน เพื่อแก้ไขปัญหาที่ผู้ซื้อจากต่างประเทศไม่สามารถเข้าถึงสินค้าไทยได้โดยตรง" ดร.อุตตม กล่าวในที่สุด