กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ....ได้มีการประชุมเป็นครั้งแรก เพื่อหารือถึงความคืบหน้าของ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจัดจ้างฯ
นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. .... ว่า เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา
ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ....เป็นครั้งแรก ซึ่งในที่ประชุมได้มีการคัดเลือกประธาน รองประธาน เลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ โฆษกและที่ปรึกษา โดยได้แต่งตั้ง นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ นายนรนิติ เศรษฐบุตร เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ คนที่หนึ่ง พลเอกโสภณ ศีลพิพัฒน์ เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ คนที่สอง นายเข็มชัย ชุติวงศ์เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ คนที่สาม นายมนัส แจ่มเวหา เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และนางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ เป็นโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ดังกล่าว
ในการประชุมวันนั้น คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีข้อสังเกตเบื้องต้นว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความสะดวก คล่องตัวในการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรอิสระ และมหาวิทยาลัยภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ฯลฯ หรือไม่อย่างไร ซึ่งในกรณีดังกล่าวกรมบัญชีกลางได้ชี้แจงว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นเพียงหลักการกว้าง ๆ
ส่วนรายละเอียดจะได้ไปกำหนดในระเบียบ กฎกระทรวง ประกาศ หรือ หลักเกณฑ์ต่อไป ดังนั้นจึงจะไม่ส่งผลกระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของหน่วยงาน เนื่องจากกฎหมายนี้ถูกออกแบบให้มีความสมดุลกันระหว่างการป้องกันการทุจริต และในขณะเดียวกันก็ทำให้หน่วยงานภาครัฐมีความคล่องตัวในการจัดซื้อจัดจ้าง มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและเป็นมาตรฐานเดียวกัน
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะมีนัดประชุมทุกวันพฤหัสบดีในแต่ละสัปดาห์ โดยคาดว่าในเบื้องต้น
จะพิจารณาแล้วเสร็จได้ประมาณวันที่ 29 สิงหาคม 2559 ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำหนด กล่าวคือ แล้วเสร็จภายหลังรับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.ภายใน 60 วัน และในวันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคมนี้ คณะกรรมาธิการได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลางมาชี้แจง อธิบายภาพรวมและขั้นตอนการดำเนินงานของร่างกฎหมายฉบับนี้ ตั้งแต่มาตราแรกถึงมาตราสุดท้าย และในการประชุมครั้งต่อไปจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น
"เชื่อว่าร่างกฎหมายดังกล่าว จะช่วยให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ เป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ที่สำคัญประเทศจะได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้อย่างมาก" โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯกล่าว