กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--เจริญโภคภัณฑ์อาหาร
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ โดยสถานประกอบการ 36 แห่งทั่วประเทศ เข้ารับรางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัยฯ, รางวัลเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพดีเด่น และรางวัล ASEAN-OSHNET Excellence Award 2016 จาก หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ภายในงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 30 ประจำปี 2559 จัดโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ 201-203 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ตอกย้ำองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดีต่อพนักงานอย่างยั่งยืน
นายจารุบุตร เกิดอุดมผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้วางระบบมาตรฐานการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมของซีพีเอฟ หรือ CPF SHE Management System ที่ทุกสายธุรกิจได้ยึดถือปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 2551 ต่อมาในปี 2558 ได้พัฒนามาเป็นระบบมาตรฐานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม และพลังงาน หรือ "CPF SHE&En Standard" ซึ่งเป็นมาตรฐานเฉพาะของซีพีเอฟที่ออกแบบมา เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานต่าง ๆ กฎหมาย ข้อกำหนดลูกค้า ซึ่งครอบคลุมด้านทรัพยากรและพลังงาน เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน โดยในปี 2559 ตั้งเป้าการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ ในส่วนของอัตราความถี่ของการบาดเจ็บของพนักงาน (IFR) ลดลง 4% และในส่วนของอัตราความรุนแรงของการบาดเจ็บของพนักงาน (ISR) ลดลง 10% เมื่อเปรียบเทียบจากปี 2558
"หลังจากที่ซีพีเอฟได้เปลี่ยนมาใช้ระบบ CPF SHE&En Standard ใหม่ที่แบ่งออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่ Management Standards 9 ด้าน และ Technical Standards 15 ด้านนั้น ในส่วนของด้านความปลอดภัยฯ ซีพีเอฟจะเน้นด้านวัฒนธรรมองค์กร (Safety Culture) คือต้องการสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้านความปลอดภัย โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงาน (Safety Behavior) ของพนักงานทุกระดับตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงในทุกสายธุรกิจ เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีให้กับพนักงานระดับปฏิบัติการให้คำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงานให้มากขึ้น พร้อมวัดผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ซีพีเอฟยังเน้นเรื่องการดูแลสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด" นายจารุบุตร กล่าวเสริม
ในปีนี้มีสถานประกอบการซีพีเอฟจำนวน 36 แห่งได้รับรางวัลประกอบด้วย สายงานอาหารสัตว์บก สายงานอาหารสัตว์น้ำ สายธุรกิจไก่เนื้อ สายธุรกิจไก่ไข่ สายงานสุกร สายงานเลี้ยงสัตว์น้ำ สายธุรกิจอาหารสำเร็จรูป และสายงานธุรกิจห้าดาวและร้านอาหาร โดย "รางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัยฯ ต่อเนื่องกันตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป" ระดับเพชร จำนวน 6 แห่ง และระดับทอง จำนวน 12 แห่ง, "รางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัยฯ ต่อเนื่องกันตั้งแต่ 5-9 ปี" ระดับเพชร จำนวน 4 แห่ง และระดับทอง จำนวน 7 แห่ง, "รางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัยฯ ต่อเนื่องกันตั้งแต่ 1-4 ปี" ระดับเพชร จำนวน 2 แห่ง และระดับทอง จำนวน 5 แห่ง และ "รางวัลเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับวิชาชีพดีเด่น" แก่นางสาวสุภาวิณี อ่อนอินทร์ โรงงาน แปรรูปเนื้อไก่ จังหวัด นครราชสีมา
สำหรับสถานประกอบการซีพีเอฟที่ได้รับรางวัลติดต่อกันสูงสุด ได้แก่ โรงงานผลิตอาหารสัตว์พิษณุโลก จังหวัด พิษณุโลก ได้รับรางวัล 16 ปีติดต่อกัน นอกจากนี้สถานประกอบการซีพีเอฟจำนวน 18 แห่ง ที่ได้รับรางวัลด้านความปลอดภัยฯ ต่อเนื่อง 10 ปีขึ้นไป อาทิ โรงงานอาหารสัตว์น้ำบ้านพรุ จังหวัดสงขลา, โรงงานผลิตอาหารสัตว์ลำพูน จังหวัด ลำพูน, โรงงานผลิตอาหารสัตว์บกหนองแค จังหวัดสระบุรี, โรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำบ้านบึง จังหวัด ชลบุรี, โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ จังหวัดนครราชสีมา, โรงเพาะฟักลูกกุ้งท่าบอน จังหวัดสงขลา, โรงงานอาหารสำเร็จรูปสัตว์น้ำมหาชัย จังหวัด สมุทรสาคร, โรงงานอาหารสำเร็จรูปหนองจอก กรุงเทพฯ, โรงงานมีนบุรี 1 กรุงเทพฯ, ฯลฯ
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการมอบ "รางวัล ASEAN OSHNET Excellence Award 2016" แก่โรงงานอาหารสัตว์น้ำซีพีเอฟบ้านพรุ จังหวัดสงขลา ในฐานะที่ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงแรงงานให้เป็นตัวแทนสถานประกอบการดีเด่นของประเทศไทย เข้ารับรางวัลในพิธีมอบรางวัลสถานประกอบการดีเด่นด้านความปลอดภัยและ อาชีวอนามัยของอาเซียน ณ ประเทศเวียดนาม ตอกย้ำการเป็นองค์กรต้นแบบด้านความปลอดภัยในประเทศไทย
ด้าน นายชูศักดิ์ เลิศอมรกิตติ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส โรงงานอาหารสัตว์น้ำบ้านพรุ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า โรงงานอาหารสัตว์น้ำ บ้านพรุ มีแนวทางการดำเนินงานด้านความปลอดภัยที่โดดเด่น 4 ด้าน ทำให้ได้รับรางวัล ASEAN OSHNET Excellence Award 2016 ในครั้งนี้ ได้แก่ 1. การมีระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่ดี โดยมีระบบตรวจประเมินของซีพีเอฟและจากหน่วยรับรองภายนอก (Third Party) 2. การปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง 3. การมีส่วนร่วมระหว่างผู้บริหารระดับสูงกับพนักงาน โดยเปิดเวทีให้พนักงานได้ให้ข้อเสนอแนะต่าง ๆ อันนำไปสู่การพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง และ 4. มีการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม และพลังงานอย่างต่อเนื่อง
"รางวัลที่ซีพีเอฟได้รับจากงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาตินี้ จะเป็นขวัญและกำลังใจให้กับพนักงานในการช่วยกันพัฒนาและขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม และพลังงานร่วมกับองค์กรอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้คำนึงถึงสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้พนักงานทุกระดับทำงานได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน" นายจารุบุตร กล่าวทิ้งท้าย.