กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เผย "นวัตกรรมสามประสาน (3i)" สามปัจจัยที่นักการตลาดทุกคนต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคนวัตกรรมและเทคโนโลยี ได้แก่ นวัตกรรมในการพัฒนาสินค้าและบริการ (iProduct & Service) นวัตกรรมและภาพรวมทิศทางการตลาด (iMarket) และนวัตกรรมที่ส่งผลต่อช่องทางการทำธุรกิจ (iChannel) ทั้งนี้ ในยุคปัจจุบัน นักการตลาดหรือผู้ทำธุรกิจอาจต้องศึกษารูปแบบความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคและการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งจะส่งผลต่อรูปแบบการตลาดที่อาจเปลี่ยนแปลงไปจากแนวคิดในอดีต
ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้จัดสัมมนาพิเศษในหัวข้อ "นวัตกรรมสามประสาน สำหรับผู้ประกอบการยุคใหม่"ในงาน "CMMU โชว์เคส" เมื่อเร็วๆนี้ ณ อาคารมิว วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปที่ www.cmmu.mahidol.ac.th
รศ.ดร. ณัฐสิทธิ์ เกิดศรี รองคณบดีงานวิชาการ และอาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีและนวัตกรรม วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า จากสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน นวัตกรรมเข้ามามีบทบาทในด้านการขับเคลื่อนภาคธุรกิจเป็นอย่างมากทั้งในระดับประเทศ และระดับเวทีโลก ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความตื่นตัวของภาคธุรกิจในประเทศไทยที่มีต่อกระแสโลกเทคโนโลยีและนวัตกรรมในปัจจุบัน เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อภาคธุรกิจแล้ว หลักการตลาดแบบเดิมๆอย่าง 4P หรือ 4C ไม่สามารถครอบคลุมกลยุทธ์การทำการตลาดอีกต่อไป โดยนักการตลาดในยุคปัจจุบันควรคำนึงถึงผลกระทบจากนวัตกรรม 3ด้านหลักๆ ได้แก่ นวัตกรรมในด้านพัฒนาตัวสินค้าและบริการ (iProduct) นวัตกรรมและทิศทางภาพรวมการตลาด (iMarket) และนวัตกรรมที่ส่งผลต่อช่องทางการทำธุรกิจ (iChannel)
รศ.ดร. ณัฐสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมเรื่อง นวัตกรรมในด้านพัฒนาสินค้าและบริการ (iProduct & Service) ว่า นวัตกรรมกลายเป็นหนึ่งในตัววัดผลสำคัญของธุรกิจ อันเห็นได้จากการที่หลายบริษัทหันมาให้ความสนใจ และลงทุนกับด้านการทำวิจัยและพัฒนา (Research & Development)เพื่อค้นหานวัตกรรมใหม่ในการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ บริการ หรือแม้กระทั่งรูปแบบธุรกิจแบบใหม่ๆมากขึ้น แต่มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทเหล่านั้น ลงทุนไปกับการวิจัยและพัฒนาอย่างเปล่าประโยชน์ เนื่องจากบริษัทเหล่านั้นมองเห็นว่าการทำวิจัยและพัฒนาเป็นคนละเรื่องกับการทำธุรกิจที่ทำอยู่ทุกวัน เช่น การแยกแผนกวิจัยและพัฒนา ออกจากผู้ประกอบกิจกรรมต่างๆในธุรกิจ ซึ่งนำไปสู่การขาดอินไซท์ที่แท้จริงของผู้ปฏิบัติงาน โดยที่ความจริงแล้วการทำวิจัยและพัฒนาควรเป็นการใช้กระบวนการอย่างมีระบบ(Systematic Process) หรือปลูกฝังให้อยู่ในวัฒนธรรมขององค์กร (Organization Culture) ซึ่งหากบริษัทต่างๆหันมาปฏิบัติเช่นนี้แล้ว ผลการวิจัยและพัฒนาที่ได้ลงทุนไป จะมีโอกาสสำเร็จขึ้นอีกกว่าเท่าตัว
หลังจากได้แนวคิดที่น่าสนใจแล้ว การทำให้แนวคิดหรือไอเดียต่างๆเหล่านั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริงและเป็นประโยชน์กับธุรกิจเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ท้าทายกับทุกองค์กร โดยเฉพาะหากแนวคิดเหล่านั้นเป็นเรื่องใหม่ ที่ทางองค์กรไม่มีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในเรื่องดังกล่าว หนึ่งตัวแปรสำคัญซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถขจัดปัญหาต่างๆเหล่านี้คือ Crowdsourcing หรือการระดมความคิดเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาแบบออนไลน์ โดยเทคโนโลยีดังกล่าวทำหน้าที่ในการเป็นตัวกระจายปัญหาไปยังวงกว้างเพื่อหาคำตอบ และสามารถนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาธุรกิจตามโจทย์ที่ได้รับมาจากการทำวิจัยและพัฒนา รศ.ดร. ณัฐสิทธิ์ กล่าวต่อ
อาจารย์บุริม โอทกานนท์ รองคณบดีงานสนับสนุนการศึกษา และอาจารย์ประจำสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวเพิ่มเติมในหัวข้อ นวัตกรรมและภาพรวมทิศทางการตลาด (iMarket) ว่า ปัจจุบันนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทอย่างมากกับภาพรวมการตลาด และถือได้ว่าเป็นตัวแปรสำคัญในการปฏิวัติแนวความคิดการทำธุรกิจยุคใหม่ เพราะในสภาวะที่เหล่าธุรกิจสตาร์ทอัพได้มีการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเข้าสู่ตัวธุรกิจ หากผู้ประกอบการธุรกิจใดยังไม่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม ย่อมเสี่ยงต่อการเสียโอกาสในการยึดครองพื้นที่ในการตลาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นตัวบ่งชี้สำคัญที่ทำให้เห็นว่า นวัตกรรมเป็นตัวกำหนดทิศทางการตลาดในปัจจุบันและสามารถคาดการณ์ถึงทิศทางการตลาดในอนาคตอันใกล้ได้เป็น 7 ลักษณะดังต่อไปนี้
1. Accelerated Change – การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนโลกจะรวดเร็วขึ้นและทั่วถึงมากขึ้น
2. Fast Innovation – นวัตกรรมใหม่ๆจะถูกพัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
3. Smart Technology – วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทุกตัวแปรของธุรกิจ ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ บริการ โมเดลธุรกิจ
4. Predictive System – ทุกอย่างจะสามารถวัด และคาดการณ์อนาคตได้ โดยระบบการคาดการณ์นี้จะสำคัญต่อเรื่องทิศทางการตลาดเป็นอย่างมาก
5. Connected Markets – ทุกตลาดจะเชื่อมโยงกันหมดทั่วโลก การซื้อขายแลกเปลี่ยนทั่วโลกจะสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิม
6. Digital Everything – ทุกอย่างจะเข้าสู่ระบบดิจิตอล ตั้งแต่การเก็บข้อมูล ประมวลผล และปฏิบัติการต่างๆจะผ่านระบบดิจิตอล
7. Mobile Commerce – ช่องทางการซื้อขายแบบติดตัว ที่ผู้ใช้โทรศัพท์ทุกคนสามารถติดต่อ ซื้อ ขาย ได้อย่างสะดวก ตลอดเวลา
ด้าน อาจารย์กิตติชัย ราชมหา อาจารย์ประจำสาขาผู้ประกอบการและนวัตกรรม วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวเสริมในเรื่อง นวัตกรรมที่ส่งผลต่อช่องทางการทำธุรกิจ (iChannel) ว่า นอกจากนวัตกรรมจะส่งผลต่อการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ และภาพรวมการตลาดแล้ว อีกหนึ่งผลกระทบสำคัญจากนวัตกรรมคือการเปลี่ยนแปลงช่องทางในการทำธุรกิจ และเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ (Disruption) โดยหนึ่งในนวัตกรรมที่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการเงิน และธุรกรรมทางการเงินกับธุรกิจต่างๆ คือ ฟินเทค (FinTech) ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ฟินเทคเป็นมากกว่าสิ่งอำนวยความสะดวกในเรื่องธุรกรรมทางการเงิน แต่ฟินเทคได้กลายเป็น"อาวุธ" สำคัญที่ทำให้นวัตกรรมที่ถูกคิดค้นขึ้น สามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจและสร้างโอกาสการเติบโตแบบก้าวกระโดดสำหรับโมเดลธุรกิจที่พัฒนาขึ้น (Commercialization) และถูกแพร่กระจายต่อ (Diffusion) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ฟินเทค คือนวัตกรรมที่ส่งผลต่อช่องทางการทำธุรกิจ สามารถสังเกตได้จากสถานการณ์ของฟินเทคในเวทีโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการลงทุนในธุรกิจฟินเทคเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในไตรมาสแรกของปี 2559 นี้ มีการเติบโตขึ้นถึง 67เปอร์เซ็นต์ ต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่ารวมถึง 5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง 62 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการลงทุนนั้นเกิดขึ้นในเอเชียและยุโรป และจากการสำรวจแบบเจาะลึกถึงการเติบโตของมูลค่าการลงทุนในเอเชียของปี 2557 – 2558 พบว่า มีการเติบโตขึ้นถึง 445 เปอร์เซ็นต์ โดยหลักๆมาจาก 2ประเทศมหาอำนาจ คือ จีน (2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และ อินเดีย (1.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) อาจารย์กิตติชัย กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้จัดสัมมนาพิเศษในหัวข้อ "นวัตกรรมสามประสาน สำหรับผู้ประกอบการยุคใหม่"ในงาน "CMMU โชว์เคส" เมื่อเร็วๆนี้ ณ อาคารมิว วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปที่ www.cmmu.mahidol.ac.th