กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
กรมบัญชีกลางลงพื้นที่สำนักงานคลังภายในเขต 7 เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน รับฟังปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของคลังเขต คลังจังหวัด และติดตามความคืบหน้าของโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้ สอดคล้องกับความต้องการของหมู่บ้านและชุมชนเมือง
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า เมื่อวันอังคารที่ 5 กรกฎาคม 25559 ที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางได้ตรวจเยี่ยมและประชุมคลังเขตและคลังจังหวัดในเขต 7 ประกอบด้วย จังหวัดนครปฐม จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดเพชรบุรี เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน รับทราบปัญหาอุปสรรคต่างๆ พร้อมข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ เราได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ จนหมดสิ้นแล้ว และในที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานของโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท ว่าสามารถเบิกจ่ายเงินได้ทุกโครงการแล้ว ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการเหล่านี้สามารถประหยัดงบประมาณได้มาก ทำให้ยังมีเงินคงเหลือ และเพื่อให้ทางจังหวัดนำเงินคงเหลือดังกล่าวไปใช้ในโครงอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ในพื้นที่ ทางคลังเขตและคลังจังหวัด จึงเห็นว่าควรแจ้งให้ทางกระทรวงมหาดไทยโอนเงินในส่วนที่เหลือให้กับจังหวัด
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ วงเงิน 35,000 บาท (หมู่บ้านละ 500,000 บาท) ในเขต 7 มีกองทุนจำนวน 5,683 กองทุน อนุมัติโครงการแล้ว 2,749 กองทุนเป็นเงิน 1,552.64 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 448.23 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.ค. 59) และจังหวัดนครปฐม มีกองทุนที่เข้าข่ายได้รับการสนับสนุนงบ จำนวน 981 กองทุน อนุมัติโครงการแล้ว 127 กองทุน จำนวนเงิน 63.50 ล้านบาท ซึ่งจากการได้ลงพื้นที่และหารือร่วมกับนายจตุรวัฒน์ สรวงท่าไม้ ผู้ใหญ่บ้านและประธานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน (กม.) หมู่ 8 ตำบลอ้อมใหญ่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม พบว่า ชุมชนได้ให้ความสำคัญเรื่องของน้ำ ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น
ต่อการดำรงชีพ ทุกครัวเรือนต้องซื้อน้ำดื่มตามร้านค้า ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง ทางคณะกรรมการชุมชนจึงเล็งเห็นถึงการแก้ปัญหานี้ จึงได้เสนอโครงการจัดหาเครื่องทำน้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวน 7 เครื่อง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย แค่ทุกบ้านมีขวดใส่น้ำมาหยอดเหรียญที่ตู้ ก็จะได้น้ำดื่มไปบริโภคที่บ้านในราคาถูก เพียงแค่ 1 บาท ก็จะได้น้ำ 1.2 ลิตร โดยตู้น้ำหยอดเหรียญเป็นน้ำแร่ ที่มีความเป็นด่าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
ทั้งนี้ ยังได้รับรายงานถึงโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ วงเงิน 15,000 ล้านบาท (หมู่บ้านละ 2 แสนบาท) ได้นำเงินมาก่อสร้างสาธารณูปการ เช่น สร้างรั้วของชุมชนเพื่อป้องกันอาชญากรรม เนื่องจากในชุมชนมีขโมยเข้ามาแล้วถึง 3 รอบ
นอกจากนี้ ชุมชนอ้อมใหญ่ก็มีคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน (กม.) และผู้ตรวจสอบภายใน เพื่อการบริหารจัดการเรื่องของรายได้ของโครงการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญชุมชน โดยแบ่งรายได้เป็นสัดส่วน คือ ให้เจ้าของสถานที่ เพื่อเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ 30% ให้เจ้าหน้าที่การเงินของกองทุนชุมชน 10% ค่าดำเนินการในการเก็บเงินจากตู้น้ำ 10% และฝากเข้าบัญชีโครงการประชารัฐ 50% โดยคณะกรรมการได้จัดทำบัญชีแบบง่าย พร้อมทั้งจะมีการประเมินผลโครงการทุก 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ว่าโครงการนี้จะสามารถสร้างผลกำไรได้มากน้อยเพียงใด
"หากโครงการดังกล่าวสำเร็จ จะช่วยทำให้หมู่บ้านและชุมชน มีความเข้มแข็ง มีรายได้สามารถพึงพาตนเองได้ ส่งผลให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และยังกระจายการลงทุนไปในพื้นที่ต่างๆ ในต่างจังหวัด รวมถึงผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในท้องถิ่นและภูมิภาคอย่างทั่วถึง และบรรลุวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากได้อย่างแท้จริงตามแนวทางนโยบายประชารัฐ" นายมนัส กล่าว
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง