กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อนโยบายเบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25 ถึง 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,166 คน
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้เริ่มดำเนินการในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 โดยเริ่มแรกรัฐบาลได้จัดให้ผู้สูงอายุที่มีความยากจนได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 300 บาท ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและมีการปรับปรุงเงื่อนไขของผู้มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพเพื่อให้ครอบคลุมผู้สูงอายุมากขึ้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมาได้มีการกำหนดให้ผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีและมีสันชาติไทยมีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทุกคนโดยได้รับเดือนละ 600 บาท และในปี พ.ศ. 2556 ได้มีการปรับปรุงการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เป็นแบบขั้นบันได เช่น ผู้มีอายุ 60 ถึง 69 ปีจะได้รับเดือนละ 600 บาท ผู้มีอายุ 70 ถึง 79 ปีได้รับเดือนละ 700 บาท เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาวะของสังคมไทยที่มีแนวโน้มจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคตซึ่งจะมีจำนวนผู้สูงอายุในอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้น จึงเริ่มมีแนวคิดในการปรับปรุงเงื่อนไขของผู้ที่มีสิทธิ์จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพื่อลดงบประมาณของประเทศและนำไปพัฒนาในด้านอื่นๆต่อไป ซึ่งผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวเนื่องจากผู้สูงอายุทุกคนควรมีสิทธิ์เท่าเทียมกันและรัฐควรต้องให้การดูแลอย่างเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันผู้คนอีกส่วนก็เห็นด้วยเพราะเป็นการลดการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินและควรนำไปใช้ทำอย่างอื่นที่มีความสำคัญ
จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อนโยบายเบี้ยผู้สูงอายุ
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.69 และร้อยละ 49.31 เป็นเพศชาย สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 55.49 ระบุว่าในปัจจุบันไม่มีสมาชิกในครอบครัวที่รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.51 ระบุว่ามี ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.41 มีความคิดเห็นว่าการดำเนินนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไม่ถือเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน ส่วนกลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.75 มีความคิดเห็นว่าอัตราเบี้ยผู้สูงอายุที่ให้อยู่ในปัจจุบันมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุได้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 73.67 มีความคิดเห็นว่าอัตราเบี้ยยังชีพที่ให้กับผู้สูงอายุในปัจจุบันน้อยเกินไป และเมื่อเปรียบเทียบสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุในบางพื้นที่ไม่ได้รับเบี้ยยังชีพหรือได้รับเบี้ยยังชีพช้านั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 76.24 มีความคิดเห็นว่าการที่ผู้สูงอายุไม่ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุหรือได้รับช้านั้นเกิดจากการทุจริตมากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.76 มีความคิดเห็นว่าเกิดจากสาเหตุการมีงบประมาณไม่เพียงพอมากกว่า
ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับแนวคิดการจำกัดสิทธิ์ผู้ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.34 ทราบ/ได้ยินข่าวเกี่ยวกับแนวคิดที่จะมีการจำกัดสิทธิ์การรับเบี้ยผู้สูงอายุให้เฉพาะผู้ที่มีรายได้ตำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 52.66 ไม่ทราบ/ไม่ได้ยิน ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 70.67 ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะมีการจำกัดสิทธิ์การรับเบี้ยผู้สูงอายุให้เฉพาะผู้ที่มีรายได้ตำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.75 เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.58 ไม่แน่ใจ แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.97 มีความคิดเห็นว่าภาครัฐจะสามารถนำแนวคิดการจำกัดสิทธิ์การรับเบี้ยผู้สูงอายุให้เฉพาะผู้ที่มีรายได้ตำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดมาปฏิบัติได้จริง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.82 มีความคิดเห็นว่าไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.21 ไม่แน่ใจ
ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 69.38 ไม่เชื่อว่าภาครัฐจะนำงบประมาณที่เหลือจากการจำกัดสิทธิ์การรับเบี้ยผู้สูงอายุให้เฉพาะผู้ที่มีรายได้ตำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไปพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆให้ดีขึ้นได้จริง และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.56 ไม่เชื่อว่าหากมีการนำแนวคิดการจำกัดสิทธิ์การรับเบี้ยผู้สูงอายุให้เฉพาะผู้ที่มีรายได้ตำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดมาปฏิบัติจะทำให้ปัญหาการไม่ได้รับเบี้ยยังชีพหรือการได้รับเบี้ยยังชีพช้าของผู้สูงอายุหมดไป ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว