สารดับเพลิงไพโรเจนรั่วไหล บทเรียนที่ต้องเคร่งกับมาตรการความปลอดภัย

ข่าวทั่วไป Friday July 8, 2016 10:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ จากเหตุการณ์สารดับเพลิงไพโรเจนทำงานอัตโนมัติทั้งที่ไม่มีการเกิดเพลิงไหม้แต่อย่างใด ภายในธนาคารชื่อดังเมื่อเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้คนงานที่เข้าไปทำงานภายในห้องใต้ดิน เสียชีวิตจำนวน 8 ราย และบาดเจ็บอยู่ที่โรงพยาบาลอีก 7 ราย นับเป็นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียเป็นอย่างมากและเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนให้ความสนใจกับเหตุการณ์นี้ ทั้งนี้ สังคมตั้งประเด็นคำถามมากมายว่า ไพโรเจน (Pyrogen) คืออะไร และอันตรายของสารตัวนี้เป็นอย่างไรเมื่อระบบดับเพลิงอัตโนมัติทำงานขึ้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้จัดงานเสวนา "เราเรียนรู้อะไร..จากเหตุการณ์รั่วไหลสารดับเพลิงไพโรเจน" ขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านความปลอดภัยในการทำงานของนายจ้าง-ลูกจ้าง พร้อมแนะสถานประกอบการทั้งภาครัฐ-เอกชน เคร่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2544 นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสารดับเพลิง ดร.อารุญ เกตุสาคร อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ไพโรเจน (Pyrogen) เป็นชื่อเรียกทางการค้าของสารดับเพลิงซึ่งความจริงแล้วสารดับเพลิงชนิดนี้เรียกว่า "Self-Generated Aerosol Fire Extinguishing Agent" โดยสารดับเพลิงนี้จะไม่นำไฟฟ้า และมีภาชนะบรรจุเป็นถัง สะดวกในการติดตั้งใช้พื้นที่น้อย ทำงานโดยการฉีดสารดับเพลิงออกมาได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นสารดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพที่นำมาทดแทนฮาลอน โดยสารที่ฉีดพ่นออกมาประกอบด้วยโปรตัสเซียมคาร์บอเนต ซึ่งมีสถานะเป็นของแข็ง คาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจน และไอน้ำซึ่งมีสถานะเป็นก๊าซ ดังนั้น สารที่ฉีดออกมาจะมีทั้งที่เป็นอนุภาคและก๊าซที่แขวนลอยอยู่ในอากาศ จึงเรียกสารที่ฉีดออกมาจากถังระบบดับเพลิงว่าแอโรซอล (Aerosol) โดยระบบการทำงานของการดับเพลิง จะเริ่มทำงานโดยอัตโนมัติด้วย 3 สาเหตุหลัก ดังนี้ 1. เมื่ออุปกรณ์เริ่มสัญญาณอัตโนมัติ อย่าง อุปกรณ์ตรวจจับควัน ความร้อน เปลวเพลิง ฯลฯ ตรวจจับควันหรือความร้อนได้จะส่งสัญญาณเตือนไปยังแผงควบคุม (Control Panel) ก่อนส่งสัญญาณต่อไปยังถังแอโรซอล 2. เมื่อเกิดเปลวเพลิงหรือความร้อนที่มีอุณหภูมิมากกว่าหรือเท่ากับ 175 องศาเซลเซียส 3. เมื่อถังดับเพลิงได้รับความร้อนที่มีอุณหภูมิมากกว่าหรือเท่ากับ 500 องศาเซลเซียส จากเหตุการณ์ดังกล่าวเมื่อระบบดับเพลิงอัตโนมัติทำงานจะเกิดปฏิกิริยาการเผาไหม้และปล่อยสารแอโรซอลออกมาจะเป็นผลให้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปิดล้อมขาดอากาศหายใจ หรือสูดดมอนุภาคโปรตัสเซียมคาร์บอเนตเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนปลายได้ ดร.ชัยยุทธ ชวลิตนิธิกุล คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังได้เสนอแนะให้สถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนเคร่งครัดกับมาตรการความปลอดภัยการคุ้มครองการกำกับดูแลอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในงานที่มีความเสี่ยง ตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 โดยเสนอแนะให้หน่วยงานภาครัฐมีมาตรการที่เคร่งครัดในเรื่องความปลอดภัยกับสถานประกอบการที่มีความเสี่ยง ตามพระราชบัญญัติและกฎกระทรวงว่า"อาคารพาณิชยกรรมทุกแห่งแม้แต่สถาบันการศึกษา ถือว่ามีความเสี่ยง กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายบริหารจัดการที่นายจ้างต้องบริหารจัดการด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของนายจ้างจะต้องดูแลสถานประกอบกิจการและลูกจ้างให้มีสถานที่ทำงานและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและ ถูกสุขลักษณะ ตลอดจนการส่งเสริมสนับสนุนการทำงานของลูกจ้างไม่ให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิตร่างกายจิตใจและสุขภาพอนามัย ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวง" ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า นายจ้างหรือผู้ดูแลสถานประกอบการที่มีอาคารสำนักงานเป็นอาคารพาณิชย์ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการดูแลและจัดสภาพแวดล้อมการทำงานให้ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานในทุกภาคส่วนมิควรละเลย ที่จะจัดอบรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านความปลอดภัยในการทำงานของนายจ้าง-ลูกจ้าง ตลอดจนจัดกิจกรรมฝึกซ้อมหนีไฟเพื่อฝึกการรับมือกับเหตุการณ์ในภาวะคับขัน หรือเหตุการณ์เพลิงไหม้ในอาคารสาธารณะ อาทิ สังเกตทางหนี สังเกตสัญญาณ คลานหนีเมื่อมีควัน และใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกแล้วคลานต่ำ ฯลฯ รวมไปถึงฝึกใช้อุปกรณ์ดับเพลิงและอุปกรณ์เตือนภัยต่างๆ อาทิ ถังดับเพลิง อุปกรณ์แจ้งเหตุฉุกเฉิน ฯลฯ เพื่อเป็นการป้องกันการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นสู่การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมไทย ปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษา ด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรม การมีจิตสาธารณะ และการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21" สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มธ. ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์02-564-4493 หรือเข้าไปที่เว็บไซต์www.tu.ac.th
แท็ก เพลิงไหม้  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ