โครงการประหยัดพลังงานและมลภาวะที่เกิดจากการใช้เครื่องยนต์

ข่าวทั่วไป Friday March 24, 2000 07:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--ปตท.
โครงการประหยัดพลังงานและมลภาวะที่เกิดจากการใช้เครื่องยนต์ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการตรวจสภาพเครื่องยนต์ ด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถบอกให้ทราบถึงข้อบกพร่องของเครื่องและระบบ ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของรถเกิดความเอาใจใส่ นำรถไปแก้ไขข้อบกพร่องให้ได้ตามมาตรฐานของรถนั้น ซึ่งจะทำให้ประหยัดเชื้อเพลิง และลดมลพิษที่เป็นอันตรายในไอเสียให้น้อยลง ผู้คนที่อยู่ใกล้ถนนหรือทำงานสัญจรไปมาในท้องถนนจะมีอากาศบริสุทธิ์หายใจมากขึ้น โครงการนี้อยู่ระหว่างการหาข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานที่จะประหยัดได้กับค่าใช้จ่ายที่เจ้าของรถต้องเสียในการปรับปรุงเครื่องยนต์จะคุ้มค่าเพียงใด ซึ่งจะเป็นทางไปกำหนดราคาค่าบริการที่เหมาะสม เพื่อให้การลงทุนในเครื่องวัด ได้ผลตอบแทนกลับคืนในระยะเวลาสมควรเช่นกัน ข้อมูลดังกล่าวอาจจะได้จากการวิเคราะห์พลังงานที่ประหยัดได้กับค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป ผลที่ได้จะใช้ประกอบการพิจารณาส่งเสริมโครงการขั้นต่อไป
เครื่องมือตรวจวัดสภาพเครื่องยนต์ที่ใช้ในโครงการฯ จะเป็นเครื่องแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถแสดงผลออกมาได้ทั้งทางจอภาพและบันทึกผลออกมาทางเครื่องพิมพ์นี้ ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวมีใช้ในต่างประเทศนานแล้ว แต่สำหรับในประเทศไทยปัจจุบันมีใช้อยู่ทั้งหมดประมาณ 80 เครื่อง ซึ่งนับว่าน้อยมาก ส่วนมากจะมีใช้อยู่ในหน่วยบริการรถราคาแพง ไม่มีใช้ในหน่วยบริการทั่วไป ดังนั้นจึงถือว่าเครื่องมือวัดดังกล่าว ยังเป็นเทคโนโลยีที่ยังใหม่อยู่สำหรับบริการตรวจวัดสภาพเครื่องยนต์ในประเทศ
เครื่องมือวัดสภาพรถยนต์นั้นยังมีอีกแบบหนึ่ง คือ แบบ Testing kit เป็นเครื่องที่สามารถวัดค่าต่างๆ ของระบบไฟฟ้า วัดความเร็วเครื่องวัดมุมจุดระเบิด วัดแรงอัดของเครื่อง เป็นต้น ซึ่งจะสามารถอ่านค่าได้จากหน้าปัทม์ของเครื่องมือ เครื่องมือชุดนี้ราคาไม่แพง อยู่ในระดับ 5,000-10,000 บาท ใช้การได้ดี และจะได้นำมาสาธิตการใช้ ช่วยในการฝึกอบรมช่างเทคนิคยานยนต์ให้มีความคุ้นเคยกับการใช้เครื่องมือวัด และดูผลการปรับตั้งเครื่องของตนด้วย
ขั้นตอนในการนำรถยนต์เข้าตรวจประสิทธิภาพเครื่องยนต์
ลำดับที่ 1 ตรวจรายละเอียดใบสมัครของผู้เข้าร่วมโครงการ
เจ้าของรถยนต์ ส่งรายละเอียดตามแบบฟอร์มการสมัครที่โครงการฯ ได้กำหนดให้กับมูลนิธิฯ เพื่อตรวจสอบก่อนที่จะนัดวันเข้าตรวจวัดจริง โดยในรายละเอียดดังกล่าวจะระบุเกี่ยวกับข้อมูลของรถยนต์ ได้แก่ ชื่อเครื่องยนต์ หรือยี่ห้อเครื่องยนต์ อายุการใช้งาน ระบบควบคุมการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ระบบจุดระเบิด และอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
ลำดับที่ 2 ตรวจสภาพทั่วไป
เมื่อได้ตรวจรายละเอียดในลำดับที่ 1 แล้ว โครงการฯ จะนัดวันตรวจกับเจ้าของรถ และเมื่อรถดังกล่าวมาที่ศูนย์บริการประการแรกที่จะต้องตรวจสอบก่อนการตรวจวัดจริงคือ การตรวจสภาพทั่วไปของเครื่องยนต์ ซึ่งมีรายละเอียดต่อไปนี้
- ไส้กรองอากาศ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ลำดับแรกที่ควรตรวจสอบ เพราะหากเครื่องยนต์ไม่มี ไส้กรองอากาศแล้วจะมีผลโดยตรงต่อคุณภาพส่วนผสมของน้ำมันเชื้อเพลิง และอากาศรวมไปถึงค่าปริมาณสารพิษในไอเสีย นอกจากนี้เราจะต้องทราบว่าเจ้าของได้ดูแลทำความสะอาดหรือเปลี่ยนตามอายุการใช้งานหรือไม่อย่างไร
- ระบบบำบัดไอเสีย หรือ CATALYTIC CONVERTER ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ลดค่าปริมาณสารพิษในไอเสีย ให้มีค่าต่ำหรืออยู่ในเกณฑ์ที่เป็นอันตรายน้อยที่สุด ซึ่งในการตรวจวัดค่าดังกล่าวจากรถ ที่ไม่มีระบบบำบัดไอเสีย จึงมีความแตกต่างกันมาก
- การรั่วซึมของน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เรามักจะมองข้ามไป ในเรื่องนี้เราสอบถามจากเจ้าของรถให้ช่วยสังเกตุ และหากมีกรณีนี้จริงซึ่งอาจจะมากหรือน้อยก็ตาม เราจะแนะนำให้ไปตรวจซ่อมก่อน แต่หากเจ้าของรถต้องการเข้ารับบริการก่อนทางโครงการฯ จะบันทึกรวมไปกับการสรุปผลพร้อมคำแนะนำ
- การรั่วซึมของไอเสีย เป็นเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งหากมีการรั่วซึมจริง การตรวจสอบส่วนผสมของน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าปริมาณสารพิษในไอเสียจะไม่ได้ค่าที่ถูกต้อง ดังนั้นในกรณีนี้เราจะต้องให้เจ้าของรถนำรถไปตรวจซ่อมก่อนการนำรถเข้ารับการบริการ
- หัวเทียน และคาร์บูเรเตอร์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เจ้าของรถยนต์จะต้องให้ความเอาใจใส่ไม่แพ้ไส้กรองอากาศ เพราะหากหัวเทียนให้ประกายไฟไม่ดี หรือคาร์บูเรเตอร์สกปรกล้วนมีผลต่อการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นทางโครงการฯ จะต้องสอบถามจากเจ้าของรถเพื่อให้ทราบถึงการดูแลเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์
ลำดับที่ 3 การตรวจวัด และปรับตั้งเครื่องยนต์
ในการตรวจวัด และปรับตั้งเครื่องยนต์ เราจะตรวจวัดและปรับตั้งเครื่องยนต์ด้วยเครื่องวัดแบบอิเล็กทรอนิคส์ ซึ่งสามารถแสดงลำดับขั้นตอนการดำเนินงานดังนี้
1. ตรวจวัดค่าไอเสีย การตรวจวัดค่าไอเสีย จะเป็นตัวบอกถึงประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ เนื่องจากค่าที่วัดได้จะชี้ให้ทราบว่าการเผาไหม้ที่เกิดขึ้นสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด โดยค่าที่วัดได้จะประกอบไปด้วย
- คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) เป็นก๊าซพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอากาศช่วยในการเผาไหม้ไม่เพียงพอ ซึ่งทางกรมควบคุมมลพิษกำหนดไว้ดังนี้
รถยนต์ที่จดทะเบียนก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2536 ค่า CO ที่วัดได้ไม่ควรเกิน 4.5% โดยปริมาตรสำหรับรถยนต์ที่จดทะเบียนหลังพฤศจิกายน 2536 ค่า CO ที่วัดได้ไม่ควรเกิน 1.5% โดยปริมาตร
- ไฮโดรคาร์บอน (HC) เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เผาไหม้ไม่หมด ซึ่งสาเหตุหลักจากการที่ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการเผาไหม้มีมากกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสมและทางควบคุมมลพิษได้กำหนดไว้ดังนี้
รถยนต์ที่จดทะเบียนก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2536 ค่า HC ที่วัดได้ไม่ควรเกิน 600 ppm และสำหรับรถยนต์ที่จดทะเบียนหลังพฤศจิกายน 2536 ค่า HC ที่วัดได้ไม่ควรเกิน 200 ppm
- คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และออกซิเจน (O2) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซออกซิเจนที่ได้จากไอเสียถือว่าไม่ใช่ก๊าซพิษแต่ค่าของ CO2 ไม่ควรให้มีมากเกินไป โดยทั่วไปกำหนดไม่ให้เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ โดยประมาณ
- ไนโตรเจนออกไซด์ (NOX) อัลดีไฮด์ (CHO) และคาร์บอน (C) ก๊าซทั้ง 3 ชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มของก๊าซพิษเช่นกัน ซึ่งปริมาณที่เกิดขึ้นจะมากน้อยจะขึ้นอยู่กับปริมาณที่เกิดขึ้นจะมากน้อยจะขึ้นอยู่กับปริมาณของก๊าซต่างๆ ที่กล่าวมารวมไปถึงความสมบูรณ์ของการเผาไหม้
2. ตรวจความเร็วรอบเครื่องยนต์ การตรวจความเร็วรอบของเครื่องยนต์ยังเป็นค่าที่สามารถชี้ให้เห็นถึงการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงได้ เพราะเนื่องจากรถยนต์บางคันได้มีการปรับความเร็วรอบเครื่อง ที่จังหวะเดินเบาสูงกว่าที่กำหนดใน Specification ทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงกว่าที่ควรจะเป็น
3. ตรวจอุณหภูมิน้ำมันเครื่อง ในการตรวจค่าต่างๆ ของการทำงานของเครื่องยนต์จะต้องตรวจวัดขณะที่อุณหภูมิเครื่องอยู่ในภาวะที่กำหนดจึงจะได้ผลไม่คลาดเคลื่อน ซึ่งอยู่ระหว่าง 60-90 ฐ C
4. ตรวจการทำงานของอุปกรณ์ปรับองศาจุดระเบิดล่วงหน้า สำหรับการตรวจการทำงานของอุปกรณ์ปรับองศาจุดระเบิดล่วงหน้านั้น เพื่อต้องการตรวจสอบภาวะของเครื่องยนต์ที่ความเร็วรอบสูงขึ้น หรืออยู่ในจังหวะการเร่งเครื่องอุปกรณ์ดังกล่าวทำงานตามปกติหรือไม่ เพราะหากไม่สามารถปรับองศาจุดระเบิดให้เหมาะสมกับการทำงานของเครื่องยนต์ แล้วจะส่งผลต่ออัตราส่วนผสมการเผาไหม้ และไอเสียที่ออกมา
5. ตรวจความสมดุลย์ของการทำงานในกระบอกสูบ วัตถุประสงค์ของการตรวจความสมดุลย์ของการทำงานภายในกระบอกสูบเพื่อต้องการทราบถึงกำลังอัดของเครื่องยนต์ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปถึงปัญหากำลังของเครื่องยนต์ การรั่วซึมของน้ำมันเครื่อง และสภาพของไอเสียด้วย ซึ่งปกติค่าที่วัดได้ควรมีความแตกต่างไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ