กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
วันนี้ (8 ก.ค.59) เวลา 14.00 น. พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการแปลงใหญ่ประชารัฐปลานิล ณ สหกรณ์ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชลบุรี จำกัด อ.พานทอง จ.ชลบุรี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีกล่าวต้อนรับ และนายพรชัย บัวประดิษฐ์ ประธานสหกรณ์ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชลบุรี จำกัด บรรยายสรุปโครงการแปลงใหญ่ พร้อมพาคณะเยี่ยมชมการสาธิตการเลี้ยงปลานิลแบบลดต้นทุน ได้แก่ การให้อาหารแบบแขวนสวิง การจับกุ้งขาวในบ่อปลานิล และรับชมการสาธิตการแปรรูปปลานิลของวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลาและกลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำบ้านเนินแฝก
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะเลี้ยงปลานิลแบบครบวงจร ภายใต้นโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามแผนการปรับโครงสร้างและพัฒนาการผลิตสินค้าประมง (ประมงแปลงใหญ่) ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เกิดมูลค่าเพิ่มและเกิดระบบตลาด เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้เกษตรกร โดยมุ่งเน้นการลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพด้วยการตรวจประเมินฟาร์มให้ได้มาตรฐานการผลิต ภายใต้การทำประมงอย่างรับผิดชอบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งมีการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลานิลที่เป็นแปลงเล็กหลายคนจนกลายเป็นการบริหารจัดการร่วมกันในพื้นที่ขนาดใหญ่ โดยมีการนำร่องใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย กาฬสินธุ์ ชลบุรี และนครศรีธรรมราช ซึ่งขณะนี้มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม 7 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มมูลค่าสินค้า การยกระดับมาตรฐานฟาร์ม การจัดตั้งสหกรณ์ผู้เพาะเลี้ยง การติดตามประเมินผล และการบริหารโครงการ โดยกำหนดเป้าหมายให้มีผลผลิตปลานิลเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 สามารถลดต้นทุนการเลี้ยงได้อย่างน้อย ร้อยละ 10 มีการรวมกลุ่มแปรรูปอย่างน้อย 1 กลุ่ม และมีฟาร์มที่ได้ GAP อย่างน้อย 320 ฟาร์ม สามารถจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนอย่างน้อย 4 กลุ่ม และส่งเสริมทางการตลาด ซึ่งได้ร่วมกับสภาหอการค้า โดยสมาคมแช่เยือกแข็งส่งจำหน่ายผลผลิตปลานิลในห้างสรรพสินค้าได้ 1 แห่ง และขยายไปสู่ตลาดอื่นๆ รวมถึงตลาดต่างประเทศต่อไป
ปัจจุบันโครงการแปลงใหญ่ปลานิล มีการดำเนินการที่ชัดเจนและประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในรูปแบบ "ประชารัฐ"คือความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เกษตรกร และภาคเอกชน ซึ่งสอดรับกับนโยบายรัฐบาลในขณะนี้โดยเฉพาะโครงการปลานิลแปลงใหญ่ที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งจากเดิมเมื่อปี 58 มีเกษตรกรในพื้นที่เพาะเลี้ยงปลานิลแปลงใหญ่ในเขตอำเภอพานทอง และอำเภอพนัสนิคมจำนวน 180 ราย พื้นที่เลี้ยง จำนวน 1,797 ไร่ ปัจจุบันปี 59 มีเกษตรกรเพิ่มขึ้นอีก 300 และมีพื้นที่เลี้ยงเพิ่มขึ้นเป็น 3,235 ไร่ พร้อมทั้งมีการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ซึ่งประกอบด้วยคณะทำงาน จำนวน4 ทีม ได้แก่ ทีมผู้จัดการ ทีมลดต้นทุน ทีมการตลาด และทีมบริหารจัดการ ดังนี้
ด้านนางสาวจูอะดี พงษ์มณีรัตน์ อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อนการดำเนินงานของแต่ละทีมประกอบด้วย ทีมผู้จัดการแปลง จะจัดเก็บข้อมูลเกษตรกรและทำแผนที่รายแปลง พร้อมทั้งจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิก และจัดทำแผนการผลิตร่วมกันทั้งการปล่อยปลาขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเพิ่มอัตรารอดให้สูงขึ้น อีกทั้งปล่อยจำนวนไม่หนาแน่นเพื่อให้ปลาโตเร็วและมีขนาดใหญ่ รวมถึงการส่งเสริมให้ใช้ปลานิลพันธุ์ดีและการอบรมเรื่องการเพาะเลี้ยงให้กับเกษตรกร ส่งผลให้ได้ผลผลิตปลานิลเพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 566 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มเป็น 623 กิโลกรัม/ไร่คิดรวมผลผลิตทั้งหมด 2,015 ตัน ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามมาตรฐาน GAP ทีมลดต้นทุน: ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อหาปัจจัยการการผลิตร่วมกันและสามารถบริหารจัดการเลี้ยงตามหลักวิชาการได้ เช่น กำหนดจุดให้อาหาร ส่งเสริมศักยภาพฟาร์มเพาะพันธุ์ สนับสนุนปลานิลพันธุ์ดีให้เกษตรกร ให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงแหล่งลูกพันธุ์ที่มีคุณภาพ ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยเดิมซึ่งอยู่ที่ 34.86 บาท/กิโลกรัม ลดเหลือ 31.37 บาท/กิโลกรัม ทีมการตลาด: ส่งเสริมกระบวนการรวมกลุ่มเกษตรกรซึ่งขณะนี้สามารถจัดตั้งสหกรณ์ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ชลบุรี จำกัด พร้อมทั้งมีการสำรวจความต้องการของตลาด การเพิ่มมูลค่าสินค้า (พัฒนาผลิตภัณฑ์) รวมถึงการเจรจาธุรกิจระหว่างสมาชิกในแปลงกับห้างสรรพสินค้าไฮเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 2 แห่งและขณะนี้ ผลผลิตปลานิลในพื้นที่อำเภอพานทอง ประมาณ 30 ตันต่อวัน ส่งไปขายที่แพปลาในพื้นที่ทั้งหมด 23 แห่ง และ ทีมบริหารจัดการ จะวิเคราะห์จุดอ่อน – จุดแข็ง ของแปลงใหญ่ รวมทั้งบูรณาการตลอดห่วงโซ่อุปทานการบริหารจัดการน้ำ การแหล่งเงินทุน และสนับสนุนการดำเนินงานของคณะทำงานทั้ง 4 ทีมนอกจากนี้ ยังมีการสร้างรายได้เสริมและลดต้นทุนการเลี้ยงให้กับเกษตรกรด้วยการส่งเสริมให้เลี้ยงปลานิลร่วมกับกุ้งขาว ซึ่งทำให้มีรายได้เฉลี่ย 26,000 บาท/ไร่ (ปล่อยกุ้งขาว 2 รุ่น/ปล่อยปลานิล)
"โครงการปลานิลแปลงใหญ่ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในความสำเร็จภายใต้นโยบายที่มุ่งช่วยเหลือเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งและสามารถมีผลผลิตและตลาดรองรับอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการประกอบอาชีพเกษตรกรที่มีความยั่งยืน โดยในปี60 โครงการปลานิลแปลงใหญ่ ทั้ง 4 จังหวัด กรมประมงมีแผนที่จะเพิ่มผลผลิต ต้นทุนการผลิตลดลง ให้ได้ตามเป้า 10 %คิดเป็น36,000 ตัน/ปี มีการรับรองมาตรฐาน GAP 1,680 ฟาร์ม จาก 2,100 ฟาร์ม และจัดตั้งกลุ่มแปรรูปสินค้าปลานิลให้ครบ 5 กลุ่ม กลุ่มวิสาหกิจชุมชน 14 กลุ่ม สหกรณ์ปลานิล 4 แห่ง และมีผลผลิตปลานิลจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าภายในจังหวัดให้ได้จังหวัดละ1 แห่ง ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้" รองอธิบดีกรมประมง กล่าว