เสียงสนับสนุนของคนไทยในเรื่องการตัดต่อทางพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอลดลงหรือไม่

ข่าวเทคโนโลยี Thursday August 23, 2001 14:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--เอ็น เอฟ โอ (ไทยแลนด์)
ในขณะที่คนไทยที่อาศัยอยู่ในเมืองส่วนใหญ่เห็นว่า เทคโนโลยีทางชีวภาพที่ใช้ในการผลิตอาหารที่ต้านทานศัตรูพืชนั้นให้ประโยชน์มากกว่าโทษ ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยอมรับว่าจริงๆแล้วเขาไม่เข้าใจว่าการตัดต่อทางพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอนั้นคืออะไร แม้ในกลุ่มคนที่เข้าใจและสนับสนุนการพัฒนาทางด้านนี้ก็ยังมีอยู่อีกประมาณครึ่งหนึ่งที่ยอมรับว่าพวกเขาจะหยุดบริโภคอาหารที่มีการตัดต่อทางพันธุกรรม
ผลการสำรวจที่น่าสนใจนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงความคิดเห็นของคนไทยทั่วประเทศที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดทำโดย บริษัท เอ็น เอฟ โอ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัทวิจัยตลาดที่ร่วมมือกับ บริษัทเอ็นไวรอนิคส์ บริษัทของประเทศแคนาดาที่ทำการสำรวจความคิดเห็นของสาธารณชน โดยร่วมมือกับประเทศต่างๆอีกกว่า 20 ประเทศทั่วโลก
การสนับสนุนอาหารที่ผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรมนั้นลดลงหรือไม่
จากการสำรวจประชากร 1,000 คน ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองทั่วประเทศ พบว่า 64% ของประชากรมีความเห็นว่า เทคโนโลยีทางชีวภาพที่ใช้ในการผลิตพืชที่มีการตัดต่อทางพันธุกรรม ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงและยาปราบศัตรูพืชนั้น ให้ประโยชน์มากกว่าโทษ ในขณะที่อีก 32% รู้สึกว่าไม่คุ้มค่าต่อความเสี่ยง ในประเทศไทย ถึงแม้ว่ามีคนส่วนใหญ่มองเห็นถึงประโยชน์ของการตัดต่อทางพันธุกรรมดังกล่าวมาข้างต้น แต่การสนับสนุนเทคโนโลยีทางชีวภาพอย่างเข้มแข็งกลับลดลง จะเห็นได้จากการสำรวจเดียวกันนี้เมื่อปีที่ผ่านมา มี 72% ที่สนับสนุนเทคโนโลยีทางชีวภาพ ในขณะที่มีเพียง 17% เท่านั้นที่คัดค้าน จริงๆแล้ว จากผลการสำรวจทั้งหมด 17 ประเทศในปีที่แล้ว ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่สามร่วมกับจีนที่สนับสนุนเทคโนโลยีทางชีวภาพ รองจากอินโดนีเซียและคิวบา
การลดลงของการสนับสนุนนี้ส่วนใหญ่ดูเหมือนว่าจะมาจากประชากรในกรุงเทพมหานครซึ่งบางทีอาจเป็นผลมาจาก เมื่อเร็วๆนี้ที่ทาง กรีนพีซ ไทยแลนด์ ได้ประกาศรายชื่ออาหารที่มีการตัดต่อทางพันธุกรรม และในขณะเดียวกัน 27% ของประชากรที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัดก็ได้แสดงความคิดเห็นในเชิงต่อต้านเทคโนโลยีชีวภาพเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยกลุ่มผู้ที่ต่อต้านเทคโนโลยีชีวภาพที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้เป็นกลุ่มประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ในขณะที่ประชากรที่อายุน้อยกว่านั้นยังคงมีเสียงสนับสนุนเทคโนโลยีชีวภาพค่อนข้างสูงอยู่
ผู้บริโภคเข้าใจถ่องแท้หรือไม่ว่าอาหารที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมนั้นเป็นอย่างไร
เมื่อสอบถามอย่างเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับเรื่องการตัดต่อทางพันธุกรรม พบว่า 70% ของประชากรยังไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของการตัดต่อทางพันธุกรรม ในขณะที่ส่วนที่เหลืออีก 30% ของประชากรนั้น แบ่งเป็น 18% ที่ให้การสนับสนุนเทคโนโลยีชีวภาพ และอีก 12% คัดค้าน ในเรื่องนี้จะเห็นได้ชัดว่า จากกลุ่มผู้ที่เข้าใจถึงประเด็นนี้ พบว่า มีเพียงจำนวนประชากรไม่มากนักที่ให้การสนับสนุนการตัดต่อทางพันธุกรรม ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นว่ายังมีกลุ่มคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่มีความเข้าใจที่ชัดเจนในเรื่องของการตัดต่อพันธุกรรมซึ่งคนกลุ่มนี้อาจเป็นกลุ่มที่ให้การสนับสนุน หรือคัดค้านก็ได้
อาจเป็นที่น่าประหลาดใจว่า ในขณะที่ระดับการศึกษาและการฝึกอบรมในเชิงวิทยาศาสตร์อาจมีผลต่อความเข้าใจของคนๆนั้นในเรื่องของการตัดต่อทางพันธุกรรม แต่ไม่จำเป็นว่าสิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อการสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนในเทคโนโลยีชีวภาพของคนๆนั้นด้วย จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีการฝึกอบรมในเชิงวิทยาศาสตร์เป็นอย่างดีหรือได้รับการศึกษาที่ดีนั้น ให้การคัดค้านการตัดต่อทางพันธุกรรมเป็นจำนวนมากพอๆกับจำนวนผู้ที่ให้การสนับสนุน โดยผู้คัดค้านเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มที่มีฐานะดีของประเทศไทย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด
ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรในประเทศไทย (จำนวนร้อยละ 51) อ้างว่าเคยได้ยินข่าวเมื่อเร็วๆนี้เกี่ยวกับอาหารบางชนิดที่มีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทยที่มีการใช้เทคโนโลยีการตัดต่อทางพันธุกรรม โดยกลุ่มผู้ที่เคยได้ยินข่าวนี้ส่วนใหญ่เป็นเพศชายที่มีการศึกษา มีฐานะดี อายุในช่วงกลางคนระหว่าง 25-39 ปี และอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับกลุ่ม 30% ของผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการตัดต่อทางพันธุกรรม
จำนวนผู้บริโภคมากน้อยขนาดใดที่ทราบว่าอาหารที่ตัวเองทานเข้าไปนั้นผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรมหรือไม่
จากการสอบถามพบว่า 43% ของจำนวนประชากรทั้งหมดมั่นใจว่าไม่เคยทานอาหารที่ผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรมเลย แต่จริงๆแล้วเมื่อถามคำถามเพิ่มขึ้นนั้น พบว่าคนจำนวนมากเคยทานอาหารที่ผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรมโดยไม่รู้ตัวมาก่อน จากการสอบถามพบว่า มีเพียง 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรเท่านั้น (หรือคิดเป็นร้อยละ 18) ที่ตอบโดยทันทีว่าเคยทานอาหารที่ผ่านการตัดต่อทานพันธุกรรมมาก่อน ในขณะที่อีก 39% ของจำนวนประชากรทั้งหมดบอกว่าพวกเขาไม่ทราบ อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาตัวเขาหรือสมาชิกในครอบครัวของเขาได้ทานอาหาร 7 ชนิดที่ทดสอบโดยกลุ่มกรีนพีซและเชื่อว่ามีส่วนประกอบที่ผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรมหรือไม่ พบว่ามี 78% ที่กล่าวว่าเคยทานอาหารที่อยู่ในรายการเหล่านี้อย่างน้อย 1 ชนิดมาแล้ว
การรับทราบถึงการตัดต่อทางพันธุกรรมที่มีอยู่ในอาหารจะมีผลต่อการบริโภคหรือไม่
การรับทราบถึงสินค้าที่มีสารตัดต่อทางพันธุกรรมประกอบอยู่จะมีผลต่อพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคหรือไม่ จากการสอบถามผู้บริโภค ส่วนใหญ่ยอมรับว่าอาจจะมีผลต่อการซื้อสินค้าในจำนวน 7 ชนิดที่กล่าวมาอัน ได้แก่ เนสท์เล่ซีรีแล็คสำหรับเด็ก, เครื่องดื่มธัญญาหารสำเร็จรูปตรากู๊ด ไทม์, ซุปข้าวโพดกึ่งสำเร็จรูปตราคนอร์
บะหมี่ถ้วยกึ่งสำเร็จรูปรสเป็ดพะโล้ตรานิชชิน, มันฝรั่งทอดกรอบรสดั้งเดิมตราเลย์ สแต็กซ์, มันฝรั่งตราพริงเกิลส์ และเต้าหู้อนามัยตรารถพยาบาล และประมาณ 40% ของผู้บริโภคในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะหยุดการบริโภคสินค้าเหล่านี้ทันที หรือไม่ก็หลังจากที่สินค้าที่พวกเขาซื้อเก็บไว้อยู่หมดลง และอีก 20-30% กล่าวว่า พวกเขามีแนวโน้มที่จะพยายามลดปริมาณการบริโภคลง มีเพียง 15% เท่านั้นที่มีแนวโน้มที่จะยังคงบริโภคเหมือนเช่นแต่ก่อน จำนวนตัวเลขเหล่านี้มีค่าใกล้เคียงกันในสินค้าต่างๆ ยกเว้นสินค้าอาหารสำหรับเด็ก คือ เนสท์เล่ซีรีแล็ค ที่สัดส่วนผู้บริโภคมีแนวโน้มลดปริมาณการบริโภคลงในทันทีสูงกว่าสินค้าอื่นๆ
แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ แม้แต่คนซึ่งรู้เรื่องการตัดต่อทางพันธุกรรมและสนับสนุนเรื่องนี้ยังมีแนวโน้มที่จะไม่บริโภคอาหารที่ตัดต่อทางพันธุกรรมอีก ซึ่งมีถึง 46% ของผู้สนับสนุนการตัดต่อพันธุกรรมที่บอกว่าจะหยุดการบริโภคอาหารเหล่านี้ ในขณะที่อีก 19% กล่าวว่าพวกเขาจะลดปริมาณการบริโภคลง ในส่วนนี้จะเห็นว่าพวกเขาไม่แตกต่างไปจากกลุ่มผู้คัดค้านการตัดต่อพันธุกรรมเท่าไหร่ ซึ่งมีจำนวนถึง 57% ในกลุ่มผู้คัดค้าน ที่บอกว่าจะเลิกกินทันทีเมื่อมีการพบการตัดต่อทางพันธุกรรมในอาหาร
ผู้บริโภคชาวไทยต้องการให้ติดฉลากอาหารที่มีการตัดต่อพันธุกรรมหรือไม่
ความกลัวเรื่องการคัดค้านจากสาธารณชน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้ผลิตหลายรายพยายามอย่างหนักที่จะโน้มน้าวรัฐบาลให้เลื่อนกำหนดการติดฉลากสินค้าที่มีส่วนประกอบของสารที่ทำการตัดต่อทางพันธุกรรม แต่การติดฉลากให้ชัดเจนนั้นเป็นสิ่งที่ประชาชนให้การสนับสนุนอย่างแท้จริง ประมาณ 90% ของประชากรในประเทศไทยที่เห็นด้วยอย่างยิ่งหรือไม่ก็ค่อนข้างเห็นด้วยกับการบังคับให้มีการติดฉลากสินค้าอาหารที่บรรจุสารตัดต่อทางพันธุกรรม การให้มีการติดฉลากได้รับการสนับสนุนจากประชากรในทุกๆกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้สนับสนุนสินค้าที่มีการตัดต่อทางพันธุกรรมมากน้อยเพียงใด หรือเป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในภูมิลำเนาใดก็ตาม
แท้จริงแล้ว แม้ในกลุ่มผู้สนับสนุนเทคโนโลยีชีวภาพยังมีถึง 92% ที่รู้สึกว่า การติดฉลากนั้นเป็นข้อกำหนดที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ช่วยให้ผู้บริโภคได้ตัดสินใจก่อนซื้อ การบังคับให้ติดฉลากนี้ได้รับการสนับสนุนจากประชากรมากกว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมอื่นๆเสียอีก เช่น การยกเลิกให้มีการใช้สารเคมีสำหรับสินค้าเกษตร, การขยายการเพาะเลี้ยงฟาร์มกุ้งในป่าโกงกาง, การสร้างเขื่อน, การส่งเสริมให้ชุมชนในท้องถิ่นปลูกป่าของตนเอง และประเด็นที่น่าสนใจต่างๆอีกมากมาย
ไม่ว่าความคิดเห็นของประชากรโลกในเรื่องการต่อต้านเทคโนโลยีชีวภาพและการตัดต่อทางพันธุกรรมจะออกมาเป็นอย่างไรและยังไม่มีใครทราบจนกว่าผลจากการทำสำรวจความคิดเห็นจากประเทศต่างๆอีก 19 ประเทศได้มีการเผยแพร่ขึ้น แต่อย่างน้อยที่สุด ในประเทศไทยของเรานั้น เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า ในขณะที่ความคิดเห็นของประชาชนโดยทั่วไปแล้ว ยังให้ผลในทางบวกต่ออาหารที่มีการตัดต่อทางพันธุกรรมซึ่งหมายถึงการลดปริมาณสารเคมีที่ใช้ในการผลิตลง แต่ประชากรกลุ่มใหญ่ตรงนี้เป็นผู้ที่ยอมรับว่ายังไม่เข้าใจในเรื่องนี้มากนัก ดังนั้นยิ่งผู้คนมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นนี้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของเขามากขึ้นเท่านั้น
บริษัท เอ็น เอฟ โอ (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นบริษัทวิจัยตลาดอิสระ โดยที่การวิจัยนี้เป็นการวิจัยจากเงินสนับสนุนของบริษัท เอ็น เอฟ โอ เอง โดยมิได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ อนึ่ง รายงานการตรวจวัดสภาวะแวดล้อมโลก (International Environment Monitor) ฉบับสมบูรณ์ในรูปแบบภาษาไทยจะมีเนื้อหาครอบคลุมถึงความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องของเทคโนโลยีชีวภาพ และประเด็นสิ่งแวดล้อมอื่นๆที่น่าสนใจ อันได้แก่ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป, ความรับผิดชอบในทางอุตสาหกรรม, บริษัทต่างๆที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม, และประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆของประเทศไทย ซึ่งจะจัดจำหน่ายในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2544 หากผู้ใดสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม หรือมีข้อสงสัยประการใด กรุณาติดต่อที่ Mr. Bill Pritchard บริษัท เอ็น เอฟ โอ (ไทยแลนด์) จำกัด โทรศัพท์ 0-2655-0654 อีเมล์: bill.p@nfothailand.com-- จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ