กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--อพวช.
นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า "ในปัจจุบัน วิทยาศาสตร์มีความสำคัญกับคนในทุกเพศทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่ในเด็กปฐมวัย เพราะวิทยาศาสตร์คือพื้นฐานของการเรียนรู้ โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย จึงเป็นก้าวสำคัญในการสร้างเยาวชนของชาติให้รู้จักการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในขั้นพื้นฐาน ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ เราได้ส่งเสริมให้โรงเรียนระดับปฐมวัยในสังกัดเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กอนุบาล โดยอาศัยเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในการร่วมกันสร้างพื้นฐานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้กับเด็กไทย ให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยประสบการณ์ โดยการรู้จักช่างสังเกต ตั้งคำถามและค้นหาคำตอบด้วยตนเอง เพื่อพัฒนาทักษะให้นักเรียนเหล่านี้เติบโตขึ้นเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพ หรือเป็นกำลังสำคัญในการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต" รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว
ด้าน นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพการจัดงานในส่วนของภาคกลางว่า "กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำโดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีภารกิจหลักในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ รวมทั้งการสื่อสารเผยแพร่องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ใน สาขาต่าง ๆ สู่สังคม เพื่อให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้การวางรากฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็กตั้งแต่วัยเยาว์จึงมีความสำคัญยิ่ง ในการปลูกฝังเด็กให้เติบโตไปพร้อมกับวิทยาศาสตร์ โครงการ "บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย" จึงถือว่าเป็นเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็ก รู้จัก เข้าใจ และสามารถนำประโยชน์จากการเรียนรู้นี้ไปดำเนินชีวิตต่อไปในสังคมได้ ซึ่ง อพวช. ก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ "บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย" ที่พร้อมส่งเสริมให้เด็กในวัยอนุบาล (3 – 6 ปี) ได้เริ่มเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างมีคุณภาพ เพราะหากเราปลูกฝังความรักความประทับใจในวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็ก ก็จะง่ายต่อการพัฒนากระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างทรัพยากรบุคคลให้มีคุณภาพในอนาคต ซึ่งในแต่ละปีจะเห็นว่า "เทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย" จะหยิบยกเรื่องราวที่อยู่ใกล้ตัวมาให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ทำกิจกรรมที่สามารถเข้าใจได้ง่ายและรู้สึกสนุกที่ได้ลงมือทำด้วยตนเอง โดยในปีนี้ อพวช. ยังเป็นอีกหนึ่งสถานที่ในการจัดกิจกรรมฯ โดยจะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม นี้ ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 อาคารจัตุรัสจามจุรี อพวช.
คุณสุวดี จงสถิตย์วัฒนา ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด รองประธานกรรมการ โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย เปิดเผยว่า "โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย เป็นโครงการที่เราจัดกันมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เราได้ตระหนักถึงปัญหาของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของเด็กไทย ที่ผ่านมาซึ่งไม่ได้รับการพัฒนาทักษะอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้ปัจจุบันเกิดการขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้ทำการศึกษาโครงการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยในประเทศเยอรมนี จากมูลนิธิ "Haus der Kleinen Forscher" (หรือ มูลนิธิบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย) และได้นำโครงการดังกล่าวมานำร่องเป็นต้นแบบในประเทศไทย เพื่อพัฒนาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของเยาวชน เป้าหมายสำคัญเพื่อปลูกฝังนิสัยรักวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเราได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ และเอกชน 8 หน่วยงาน ได้แก่ มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กลุ่มบริษัท บี.กริม และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ปัจจุบันได้ดำเนินโครงการเข้าสู่ปีที่ 6 ซึ่งได้ขยายผลสู่กว่า 15,000 โรงเรียนทั่วประเทศ ผ่านผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น 220 แห่ง โดยมีกิจกรรมอบรมครู พัฒนาสื่อการเรียนการสอน และทำกิจกรรมสู่กลุ่มครอบครัว ในปีนี้เราจัดกิจกรรมภายใต้หัวข้อ "โลกแห่งการสื่อสาร" เพราะการสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของเรา การสื่อสารในสังคมดิจิตัลยังเป็นเรื่องที่ซับซ้อนสำหรับเด็ก เราจึงจัดกิจกรรมสร้างประสบการณ์ด้านการสื่อสารให้ครูและเด็กได้ตั้งคำถาม ฝึกการสังเกตและหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน โดยแบ่งออกเป็น 4 ฐานประกอบด้วย 1.เรื่องการสื่อสาร การฟัง การมองเห็นและการรับรู้ด้วยความรู้สึก : กิจกรรม รูปหน้ายิ้มแบบต่างๆ (Emoticon)และกิจกรรมการแสดงประกอบท่าทาง 2.เรื่องภาพวาด รหัสและสัญลักษณ์ : กิจกรรมมองมาทางนี้สิ ,สิ่งนี้แหละที่ฉันชอบ และกิจกรรมตัวอักษรจากการกด 3.เรื่องจากที่นี่ถึงที่นั่น : กิจกรรมไปรษณีย์ของเราเอง (จรวดลูกโป่ง) 4.เรื่องการติดต่อสื่อสารยุคดิจิทัล : กิจกรรมการระบายสีตามรหัส โดยจากฐานกิจกรรมเด็กๆ จะได้เรียนรู้พื้นฐานเรื่องการสื่อสารที่หลากหลายสำหรับเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นทักษะที่โครงการฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการวางรากฐานการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์"
นอกจากนี้ ในปีนี้ยังมีการจัดงานเปิดตัวพร้อมกันอีกใน 4 ภูมิภาคต่างๆ ดังนี้ 1.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดบึงกาฬ ดำเนินงานโดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2.ภาคตะวันออก ณ จังหวัดสระแก้ว ดำเนินงานโดย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 3.ภาคเหนือ ณ จังหวัดน่าน ดำเนินงานโดย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 4.ภาคใต้ ณ จังหวัดสตูล ดำเนินงานโดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ทั้งนี้จึงอยากจะขอเชิญชวนโรงเรียนอนุบาล และศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ มาเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวฯ สำหรับผู้สนใจ สามารถดูรายละเอียด และดาวน์โหลดเนื้อหา คู่มือการจัดกิจกรรมได้ในเว็บไซต์www.littlescientistshouse.com และ www.nsm.or.th