กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศว่า ล่าสุด (5 ก.ค. 59) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 31,178 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 7,746 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนใหญ่ทั้งประเทศยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 39,200 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ ตลอดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา(ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. – 5 ก.ค. 59) มีน้ำไหลลงอ่างฯสะสมในเขื่อนต่างๆมากขึ้น อาทิ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก 63.99 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ 184.91 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก 71.62 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี 11.67 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ 3.39 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง9.36 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร 2.89 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น 15.96 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ 53.22 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก 4.78 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนประแสร์ จ.ระยอง 2.12 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นต้น สถานการณ์น้ำไหลลงอ่างฯในภาพรวม แม้ว่าปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯจะเริ่มมีมากขึ้น แต่ปริมาณน้ำในอ่างฯส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์น้อย กรมชลประทาน ได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ เน้นการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด โดยให้สอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกลงมาและไม่กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน
ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม้ว่า 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) จะมีน้ำไหลลงอ่างฯมากขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก ส่งผลให้ปัจจุบัน(5 ก.ค 59) ทั้ง 4 เขื่อน มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,206 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 1,510 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังคงการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ประมาณวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉพาะเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และไม้ผลต่อเนื่องเท่านั้น
ในส่วนของการทำนาปีในเขตพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศ พบว่า(ณ 29 มิ.ย. 59) มีการเพาะปลูกไปแล้วกว่า 3,020,000 ไร่ เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกนาปีไปแล้วประมาณ 1,113,389 ไร่ และในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองมีการเพาะปลูกนาปีไปแล้วกว่า 119,000 ไร่ ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะใช้อาคารบังคับน้ำและอาคารชลประทานต่างๆควบคุมน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในการส่งน้ำเข้าระบบชลประทานไปยังพื้นที่การเกษตรได้อย่างทั่วถึง