MBA ธรรมศาสตร์ชนะเลิศการแข่งขัน MIT Sloan Operations Management Competition 2016

ข่าวทั่วไป Wednesday July 13, 2016 15:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ค.-- นักศึกษาปริญญาโทบริหารธุรกิจ (MBA) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ (TBS) ธงชัย นิมิตภักดีกุล, เกรียงศักดิ์ กังวาฬไพรสรรค์, ธนกฤต พัฒนกิจเจริญ และภานุพงศ์ แต่งอักษร ทีมTBSGravity ได้คว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขัน MIT Sloan Operations Management Competition 2016 (12th Annual MIT Ops Sim Com) ซึ่งจัดโดย MIT Sloan School of Management การแข่งขันครั้งนี้มีผู้เข้าแข่งขันที่มาจาก MBA ชั้นนำทั่วโลกทั้งหมด 198 ทีม และทีม MBA ธรรมศาสตร์ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 3,500 เหรียญสหรัฐ การแข่งขันด้านการบริหารปฏิบัติการครั้งนี้ใช้เกมจำลองบริหารโรงงาน Littlefield Technology ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท Responsive Technologies โดยผู้เข้าแข่งขันในแต่ละทีมถูกสมมติว่าเป็นผู้จัดการโรงงาน ที่จะต้องบริหารกิจการให้สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าที่มีความผันผวนสูง โดยอาศัยความรู้จากการศึกษาในหลักสูตร เช่น การพยากรณ์ยอดขาย การวางแผนกำลังการผลิต การจัดลำดับงาน การบริหารแถวคอย การจัดการสินค้าคงคลัง และตัดสินใจรับคำสั่งซื้อที่เหมาะสมที่สุดจากลูกค้าเพื่อให้ได้รายได้สูงที่สุด ผู้ชนะในการแข่งขันครั้งนี้คือผู้ที่มีเงินสดสูงสุดจากการบริหารโรงงานในช่วงเวลา 72 ชั่วโมงในการแข่งขัน ทีม TBSGravity จาก MBA ธรรมศาสตร์ ชนะเลิศการแข่งขันครั้งด้วยเงินสดสูงที่สุดที่ $2,358,129ในขณะที่ลำดับสองนั้นมาจาก Rotman School of Management - University of Toronto และลำดับสามคือ University of Chicago – Booth ในขณะที่อีก 2 ทีมจากธรรมศาสตร์เช่นกัน คือ TBSRanger58 ได้ลำดับที่ 21 และ TBSRedeem จบในลำดับที่ 29 จากการแข่งขัน โดยที่ทีมที่เข้าร่วมแข่งขันในปีนี้มาจากหลากหลายมหาวิทยาลัย อาทิ London Business School, Kellogg School of Management, Georgia Institute of Technology, Texas A&M University, University of Michigan – Ross, University of California Berkley, Yale University เป็นต้น เกมจำลอง Littlefield Technology นี้ พัฒนาโดยอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย Stanford 2 ท่าน คือSunil Kumar และ Samuel Wood เพื่อใช้ในการเรียนการสอนในขณะนั้น และในปัจจุบัน เกมนี้ได้แพร่หลายไปยังหลักสูตรบริหารธุรกิจชั้นนำของโลกมากมาย ส่วน MBA ธรรมศาสตร์เอง ก็ได้ใช้เกมนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร โดยจัดการสอนในรายวิชา การจัดการปฏิบัติการ (Operations Management) มาตั้งแต่ปี2552การแข่งขันครั้งนี้ อ.กฤษณ์ ปัทมะโรจน์ ที่ปรึกษาของทีม ได้กล่าวชื่นชมนักศึกษาไว้ว่า "ผมดีใจอย่างมากที่เห็นนักศึกษาของเราชนะในการแข่งขันระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พวกเขาพิสูจน์ได้ว่าสามารถนำความรู้ และเครื่องมือวิเคราะห์เชิงปริมาณจากในชั้นเรียน ไปใช้ในการแข่งขันระดับโลกได้อย่างดีเยี่ยม"และส่วนต่อไปนี้เป็นจะเป็นบทสัมภาษณ์ ทีม TBSGravity เกี่ยวกับชัยชนะระดับโลกในครั้งนี้ ภานุพงศ์ หนึ่งในทีมผู้ชนะกล่าวว่า "เหตุผลที่เข้าร่วมแข่งขันนั้น เนื่องจากในวิชา Operations Management อ.กฤษณ์ ปัทมะโรจน์ ได้นำ Little Field มาใช้จำลองปัจจัยที่สำคัญต่างๆ ใน Operations Management เพื่อใช้ทดสอบความรู้ของนักศึกษาในการบริหารการจัดการในสถานการณ์แตกต่าง และแนะนำพวกเราถึงโอกาสเข้าร่วมแข่งขันกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ทำให้พวกเราเกิดแรงบันดาลใจ และมีความท้าทายที่จะทดสอบความรู้ความสามารถ และครั้งหนึ่งหากเป็นไปได้ ต้องการให้ชื่อของ TBS ไปเป็นที่รู้จักและปรากฏในเวทีระดับโลก เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้ MBA รุ่นต่อๆ ไป ดังที่เราเคยได้รับมา ทั้งนี้ยังเพื่อตอบแทนความรู้และโอกาสดีๆ ที่ MBA มอบให้พวกเรา" การเตรียมตัวถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ธงชัย หัวใจสำคัญคนหนึ่งของทีมได้อธิบายเสริมให้ฟังถึงช่วงเวลาในการเตรียมการแข่งขันว่า "พวกเราเตรียมตัวโดยมีการศึกษาโจทย์จากปีที่ผ่านๆ มา ประกอบกับข้อมูลจากอาจารย์และรุ่นพี่ที่เคยแข่งขันรายการนี้ ซึ่งโดยทั่วไปในแต่ละปีจะให้โจทย์พร้อมข้อมูลตัวอย่างล่วงหน้าก่อนการแข่งขัน 1 วัน และให้ข้อมูลจริงเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนเริ่มเกม 1 ชั่วโมง ก่อนการแข่งขัน พวกเราประชุมเพื่อวางแผนการทำงานซึ่งการพยากรณ์คำสั่งซื้อเป็นสิ่งที่มีความท้าทายมากที่สุดสำหรับโจทย์ปีนี้ พวกเราใช้วิธีการต่างๆ ทางคณิตศาสตร์ เช่น Linear Regression, การหา interval mean, การหา moving average เพื่อพยากรณ์คำสั่งซื้อโดยปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ในเกม และรวมถึงการใช้ความรู้จาก Operations Management เช่น Scheduling, Economic Order Quantity, Reorder point ที่ได้เรียนมาจากคลาสเรียนของเรา โดยพวกเรายังร่วมกันคิดและพิจารณาแนวทางที่เป็นไปได้ทั้งหมด เพื่อตัดสินใจเลือกแนวทางที่ทำให้การดำเนินงานในโรงงานเกิดผลกำไรมากที่สุด" ก่อนการแข่งขันถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ ธนกฤต ได้พูดถึงสถานการณ์ที่น่าตื่นเต้นนี้ไว้ว่า "การแข่งขันเริ่มต้นเวลา 01.00 น. ของวันที่ 8 เมษายน 2559 โดย simulation game นี้พวกเราจะต้องบริหารโรงงานในเกมเป็นเวลา 360 วัน ซึ่ง 1 วันในเกมเท่ากับเวลา 12 นาทีในโลกความเป็นจริง เท่ากับจะใช้เวลาแข่งขันทั้งหมด 72ชั่วโมงติดต่อกัน เกมจะจบวันที่ 11 เมษายน 2559 เวลา 01.00 น. ความยากของเกมอยู่ที่พวกเราจะได้รับข้อมูลทุกๆ 12 นาทีตลอดทั้ง 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน 3 คืน เพื่อตัดสินใจซื้อเครื่องจักร วัตถุดิบ และวางแผนการบริหารโรงงาน ช่วงเริ่มต้นแข่งขันพวกเราตื่นเต้นมาก พวกเรากังวลว่าสิ่งที่พวกเราวางแผนและคาดการณ์ไว้จะถูกต้องหรือไม่ ซึ่งผลลัพธ์ในช่วงแรกก็เป็นไปได้ดีตามการคาดการณ์ของพวกเรา" เกรียงศักดิ์ กล่าวเสริมอีกว่า "อุปสรรคสำหรับเราของเกมนี้อีกเรื่องหนึ่งคือ Time zone ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ โดยเวลาของเกมจะเริ่มต้นโดยใช้เวลาทางฝั่งทวีปอเมริกาเป็นหลัก และเนื่องจากเป็นเกมที่เล่นต่อเนื่องตลอด 72 ชั่วโมง การบริหารจัดการเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก พวกเราต้องแบ่งเวลากันดูแลโรงงาน ทำงาน พร้อมทั้งพักผ่อน ในเรื่องหน้าที่การทำงานก็เช่นกัน พวกเราแบ่งหน้าที่การทำงานกันอย่างชัดเจนตามความถนัดของแต่ละคน เพื่อให้การตัดสินใจต่างๆ มีความรวดเร็วกับข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงทุกๆ 12 นาที ในบางเรื่องที่ต้องการการตัดสินใจร่วมกัน พวกเราร่วมกันคิด รับฟังเหตุผลของกันและกัน และร่วมกันตัดสินใจในประเด็นสำคัญซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ของเกมให้ก้าวนำทีมอื่นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเราคิดว่าการมี Team workที่ดี การแบ่งหน้าที่การทำงานอย่างชัดเจนรวมถึงร่วมกันตัดสินใจในประเด็นสำคัญ และให้ความไว้วางใจเชื่อใจในเพื่อนร่วมทีม ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างที่เกิดขึ้น" แม้ว่าจะมีการเตรียมพร้อมอย่างดี แต่ ธงชัย ก็ชี้ถึงจุดที่เกือบเพลี่ยงพล้ำว่า "ช่วงท้ายเกม พวกเรามีจุดที่ตัดสินใจและบริหารงานผิดพลาด จนถูกทีมคู่แข่งแซงนำขึ้นไปได้ แต่พวกเราก็ไม่ยอมแพ้ปรับเปลี่ยนแผนจนสามารถพลิกกลับมาชนะได้ในช่วงท้ายเกม ซึ่งถ้าใครที่ติดตามการแข่งขันในปีนี้ จะเห็นว่าเป็นการแข่งขันที่สนุก ตื่นเต้น และสูสีเป็นอย่างมาก พวกเราคิดว่าการแข่งขันในปีนี้เป็นการแข่งขันที่ดีปีหนึ่งของรายการนี้เลยทีเดียว" ธนกฤต ได้กล่าวถึงประสบการณ์สำคัญจากการแข่งขันครั้งนี้ไว้ว่า "จากทั้งหมดนี้ประสบการณ์การแข่งขัน operations เกมระดับโลก ทำให้รู้ว่าความรู้ที่เราได้เรียนรู้จากอาจารย์กฤษณ์ ปัทมะโรจน์ รศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ ผศ.เอกรินทร์ ยลระบิล รวมถึงคณาจารย์ทุกท่านใน TBS สามารถนำไปใช้ได้จริง และสามารถแข่งขันกับทีมมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกได้ มันเป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นว่าการเรียนการสอนของ TBS มีมาตรฐานที่ดี และการประสบความสำเร็จในรายการแข่งขันที่ใหญ่ระดับนี้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้พวกเราในการที่จะทำสิ่งอื่นๆ ให้ประสบความสำเร็จเช่นกัน" ในการแข่งขันครั้งสำคัญนี้ เกรียงศักดิ์ กล่าวถึงชัยชนะไว้อย่างภาคภูมิใจว่า "เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่พวกเราได้รับคือการที่พวกเราสามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัย มันเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับเหตุผลที่พวกเรามาเข้าแข่งขันในรายการนี้ พวกเราต้องการให้ชื่อของมหาวิทยาลัยของพวกเราเป็นที่รู้จัก ชัยชนะในครั้งนี้เป็นชัยชนะที่ทำให้ชื่อของมหาวิทยาลัยจะยังคงอยู่ในรายชื่อผู้ชนะการแข่งขันของรายการ Operations Simulation Competition ของปี 2016 ตลอดไป มันเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อและไม่ใช่เรื่องที่ง่าย และประสบการณ์ครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่มีค่ากับพวกเรามากซึ่งไม่อาจจะมีสิ่งใดมาทดแทนได้ และเรารู้สึกภาคภูมิใจในสิ่งที่เราได้ทำไปเป็นอย่างมาก" ภานุพงศ์ ได้กล่าวย้ำไว้ว่า "สิ่งต่อไปที่พวกเราจะทำต่อคือต่อยอดบรรยากาศความสำเร็จนี้ให้กับ TBS พวกเราวางแผนที่จะส่งมอบความรู้ให้กับนักศึกษารุ่นต่อไป เพื่อที่จะได้เป็นหนึ่งกิจกรรมที่นักศึกษาจะสามารถท้าทายและพิสูจน์ความสามารถของตนเอง และใช้เวลาในช่วงที่เรียนใน TBS ให้เกิดประโยชน์ พวกเราอยากให้เกิดcommunity ภายใน TBS ที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้าน Operations และด้านอื่นๆ เพื่อให้นักศึกษา TBSมีความรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง และสามารถสร้างคุณค่าเพิ่มเพื่อนำไปพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป"ช่วงสุดท้าย ทางทีมผู้ชนะเลิศได้สรุปทิ้งท้ายไว้ว่า "ความสำเร็จครั้งนี้ของพวกเรานั้นมาจากความช่วยเหลือของบุคคลและหน่วยงานต่างๆ ขอขอบคุณ อ.กฤษณ์ ปัทมะโรจน์ สำหรับความรู้และการให้การสนับสนุนกิจกรรมของนักศึกษาอย่างดีมาโดยตลอด ผอ.โครงการ MBA รศ.ดร.เอกจิตต์ จึงเจริญ และผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน ทั้งคณาจารย์และบุคลากรในโครงการที่ให้ความรู้และวางรากฐานให้กับคณะฯ เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของนักศึกษาเป็นไปได้ด้วยดี เพื่อนร่วมรุ่น รุ่นพี่ และรุ่นน้องทุกคน ที่ช่วยกันสร้างสังคมและบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี ความสำเร็จนี้เป็นของทุกๆ คนใน TBS"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ