ผู้ว่าฯ กทม. เปิดการประชุม “การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในเขตเมือง : จากแผนงานสู่การปฏิบัติ ”

ข่าวทั่วไป Tuesday February 13, 2001 07:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--กทม.
เมื่อวานนี้ ณ ห้องประชุมอาคารสำนักงานสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาค เรื่อง “การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในเขตเมือง : จากแผนงานสู่การปฏิบัติ” (Fighting Urban Air Pollution : From Plan to Action) ซึ่งจัดขึ้นโดยกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 12-14 ก.พ.44 และได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากธนาคารโลก , Asian Development Bank, รัฐบาลญี่ปุ่น รัฐบาลเนเธอแลนด์ และ Ford Motor Company
โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครนับเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่สำคัญของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เปิดต้อนรับผู้มาเยือนอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับเมืองใหญ่ของโลก กรุงเทพมหานครกำลังประสบปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหามลพิษทางอากาศนับเป็นปัญหาที่สำคัญและเด่นชัดที่ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจังเป็นลำดับแรก กรุงเทพมหานครตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้มีความพยายามที่จะดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังมาโดยตลอด โดยได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อดำเนินกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การตั้งหน่วยตรวจจับรถที่มีควันดำควันขาวเกินมาตรฐานครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต การรณรงค์ขอความร่วมมือจากประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางในช่วงเวลาที่มีมลพิษสูงในกรณีที่ผู้ขับรถนั่งคนเดียวตามโครงการถนนปลอดมลพิษ การให้บริการตรวจปรับแต่งเครื่องยนต์ฟรีแก่ประชาชน การส่งเสริมให้ติดตั้งเครื่องกรองมลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ การเข้มงวดในการก่อสร้างตึกสูงและรถบรรทุกต้องมีผ้าใบคลุมป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย การเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศ การรายงานผลปริมาณมลพิษให้ประชาชนทราบ และการประชาสัมพันธ์เพื่อรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกรูปแบบ ซึ่งการดำเนินมาตรการดังกล่าวที่ผ่านมานั้นประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง และยังต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกหน่วยงาน ทุกองค์กรเป็นแรงสนับสนุน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา กทม.ได้ดำเนินการด้านการลดมลพิษทางอากาศโดยจัดสาธิตการติดตั้งอุปกรณ์ลดมลพิษจากท่อไอเสีย POWER JET ให้กับรถยนต์เครื่องดีเซลฟรี โดยใช้เวลาติดตั้งเพียงคันละ 15 นาที คิดเป็นค่าใช้จ่ายคันละ 3,500 บาท ทั้งนี้ราคาของอุปกรณ์ชนิดเดียวกันซึ่งผลิตในต่างประเทศนั้น สูงถึง 30,000 บาท และใช้งานได้ประมาณ 30,000 ก.ม. อุปกรณ์ซึ่งคนไทยนำแบบจากต่างประเทศ มาผลิตเองดังกล่าวจึงถือว่าไม่แพงเกินไป จากผลการสาธิตพบว่าอุปกรณ์ดังกล่าว สามารถช่วยลดควันดำจากท่อไอเสียได้เป็นที่น่าพอใจ รวมทั้งช่วยเพิ่มพลังเครื่องยนต์ และลดการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงได้ ตนเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีประโยชน์ จึงได้เสนอเรื่องนี้ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการดำเนินการต่อไปอย่างจริงจัง โดยอาจจะออกใบสั่งชั่วคราวให้แก่เจ้าของรถยนต์ที่ก่อควันดำ เพื่อให้ทำการติดตั้งอุปกรณ์ลดมลพิษจากท่อไอเสียชนิดใดชนิดหนึ่ง แล้ว จึงนำรถกลับมาตรวจใหม่ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะทำให้เจ้าของรถควันดำไม่ต้องเสียเงินค่าปรับ 5,000 บาทตามกฎหมาย เพียงแต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการติดอุปกรณ์ลดมลพิษประดิษฐ์โดยคนไทย ซึ่งมีให้เลือกหลายชนิด ราคาตั้งแต่ 900-3,500 บาท
ส่วนอีกโครงการหนึ่งซึ่งตนจะเสนอให้มีการดำเนินการต่อไปก็คือ การห้ามใช้รถจักรยานยนต์ ประเภท 2 จังหวะ ในเขตกรุงเทพมหานคร จะอนุญาตให้ใช้แต่จักรยานยนต์ประเภท 4 จังหวะ ซึ่งก่อมลพิษน้อยกว่าแทน โดยจะขอความร่วมมือด้านงบประมาณจากองค์กรต่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก นำมาจัดตั้งเป็นกองทุนรับซื้อรถจักรยานยนต์ประเภท 2 จังหวะ เพื่อให้เจ้าของรถนำเงินที่ได้ไปดาวน์รถจักรยานยนต์ 4 จังหวะ ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยลดควันขาวจากมอเตอร์ไซค์ในเขตกรุงเทพมหานครได้
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า กรุงเทพมหานครร่วมกับธนาคารโลก จัดประชุมครั้งนี้ขึ้นเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดการมลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่ เช่น เมืองมะนิลา กรุงปักกิ่ง เมืองเซียงไฮ้ กรุงโฮจิมินส์ ซิตี้ กรุงจาร์กาตา สิงคโปร์ กรุงโซล ฮ่องกง เม็กซิโก และกรุงเทพมหานคร โดยในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ได้กำหนดหัวข้อการประชุมเฉพาะในแต่ละวัน ซึ่งในวันที่ 12-14 ก.พ.44 จะมีหัวข้อการประชุมเรื่องการประเมินแผนปฏิบัติการและนโยบาย การรายงานสถานการณ์และการดำเนินงานตามโครงการการจัดการคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานคร และการจัดการคุณภาพอากาศในภูมิภาคเอเซียตะวันออก ฯลฯ โดยประสบการณ์และแนวทางที่เป็นประโยชน์จากผู้แทนของประเทศต่าง ๆ และข้อคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมจะนำไปสู่แผนการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร ซึ่งผลจากการดำเนินการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ จะสามารถฟื้นคืนสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับชนรุ่นหลังได้สืบไป--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ