กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--NBTC Rights
จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 15/2559
ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 15/2559 วันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2559 มีวาระที่น่าจับตา คือ รายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายประจำไตรมาส 1 ปี 2559, รายงานผลการตรวจสอบปัญหาผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ค่ายทรูมูฟในระบบเติมเงินไม่สามารถโทรติดต่อคอลล์เซ็นเตอร์ดีแทคได้, ดีแทครายงานความคืบหน้ากรณีการใช้ประโยชน์คลื่นย่าน 1800 MHz ร่วมกับแคท, ทีโอทีเรียกเก็บค่าใช้โครงข่ายให้บริการคลื่น 900 MHz ภายใต้ประกาศมาตรการเยียวยาฯ มายังสำนักงาน กสทช. และเรื่องไทยคมขออนุญาตใช้คลื่นเพื่อทดสอบดาวเทียมไทยคม 8
วาระรายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายประจำไตรมาส 1 ปี 2559
วาระนี้เป็นวาระเรื่องเพื่อทราบ โดยรายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประจำไตรมาส 1 ปี 2559 ระบุว่า มีการให้บริการคงสิทธิเลขหมายทั้งสิ้น 739,664 เลขหมาย ลดลงจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 ถึง 58.85 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อพิจารณาในรายละเอียดการให้บริการคงสิทธิเลขหมายของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไตรมาสนี้ ก็พบความผิดปกติอย่างชัดเจนในเรื่องอัตราการโอนย้ายเลขหมายสำเร็จที่มีสถิติลดลงอย่างน่าประหลาดใจ โดยมีอัตราลดลงจากค่าเฉลี่ยในปี 2558 ที่ 77% เหลือเพียง 47% ในไตรมาสนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มบริษัท TRUE มีอัตราการโอนย้ายสำเร็จลดลงถึง 73% ขณะที่กลุ่มบริษัท AWN แม้สัดส่วนการโอนย้ายสำเร็จในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์จะเป็นปกติ แต่ในเดือนมีนาคมก็ลดลงถึง 79%
แม้ในปัจจุบัน เลขาธิการ กสทช. ได้มีคำสั่งทางปกครองห้ามผู้รับใบอนุญาตดำเนินการที่ทำให้เกิดการโอนย้ายเลขหมายไม่สำเร็จแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่สำนักงาน กสทช. มิได้ดำเนินการ คือตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าปัญหาเกิดจากอะไร เพราะถ้าหากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ก็ต้องมีมาตรการกำกับดูแลอย่างเด็ดขาดไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำรอยขึ้นอีก
วาระรายงานผลการตรวจสอบปัญหาผู้ใช้งานทรูมูฟในระบบเติมเงินไม่สามารถโทรติดต่อคอลล์เซ็นเตอร์ดีแทคได้
เหตุของปัญหานี้เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม เมื่อ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช. หนังสือลงวันที่ 25 มีนาคม 2559 ขอให้ตรวจสอบการดำเนินการของ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น และ บจ. เรียล มูฟ เนื่องจากประสบปัญหาว่าผู้ใช้บริการในระบบเติมเงิน (Prepaid) ของทั้งสองบริษัทไม่สามารถโทรติดต่อหมายเลขของดีแทคคอลเซ็นเตอร์ได้ โดยในรอบ 7 วันที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ใช้บริการโทรสำเร็จลดต่ำลงอย่างมาก ซึ่งปกติผู้ใช้บริการจะโทรติดต่อคอลล์เซ็นเตอร์เพื่อสอบถามข้อมูลทั่วไป รายการส่งเสริมการขาย รวมถึงข้อมูลการย้ายค่าย
แน่นอนว่าปัญหาความขัดข้องนี้สร้างความสงสัยให้กับหลายฝ่ายว่า มีการดำเนินการที่เข้าข่ายพฤติการณ์กีดกันการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ แม้สุดท้ายในเวลาต่อมา สำนักงาน กสทช. จะได้รับหนังสือแจ้งจากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายว่า มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเรียบร้อยแล้วก็ตาม โดยในส่วนของ บจ. ทรู มูฟ เอชฯ และ บจ. เรียล มูฟ ระบุสาเหตุขัดข้องว่า เกิดจากปัญหาทางด้านเทคนิคที่ระบบ IN แต่สำหรับสำนักงาน กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแล ควรต้องนำกรณีปัญหานี้เป็นโจทย์ในการขบคิดต่อไปว่า จะมีแนวทางการตรวจสอบจำแนกปัญหาอย่างไร ระหว่างสาเหตุที่เกิดจากความขัดข้องทางเทคนิค กับพฤติการณ์ที่เป็นการกีดกันการแข่งขันทางธุรกิจ รวมทั้งควรหาแนวทางวางมาตรการป้องกันปัญหาไว้ล่วงหน้าด้วย
วาระดีแทครายงานความคืบหน้ากรณีการใช้ประโยชน์จากคลื่น 1800 MHz ร่วมกับแคท
วาระนี้สำนักงาน กสทช. นำเสนอเป็นวาระเพื่อทราบ โดยเป็นเรื่องสืบเนื่องมาจาก บมจ. กสท โทรคมนาคม เคยขออนุญาตปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่1800 MHz ช่วงที่ 2 (ย่าน 1765.3 – 1785.0 MHz คู่กับ1860.3 – 1880.0 MHz) ซึ่งเป็นคลื่นย่านที่ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ในฐานะผู้รับสัมปทานไม่ได้ใช้งานโดยในการปรับปรุงการใช้งานคลื่นนี้ บมจ. กสทฯ ประสงค์นำเทคโนโลยี LTE มาให้บริการโทรคมนาคมด้วยตนเองซึ่งในการประชุม กทค. ครั้งที่ 29/2558 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 ที่ประชุมได้มีมติอนุญาตให้ บมจ. กสทฯ ปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่เพื่อให้บริการได้จนกระทั่งสิ้นสุดอายุสัญญาร่วมดำเนินการระหว่าง บมจ. กสทฯ และ บมจ. โทเทิ่ลฯ วันที่ 15 กันยายน 2561 โดยหลังจากนั้นจะต้องมีการคืนคลื่นให้กับ กสทช. เพื่อจัดสรรต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา บมจ. โทเทิ่ลฯ ได้ขออนุญาตใช้งานคลื่นย่านเดียวกันเพื่อให้บริการ LTEมายังสำนักงาน กสทช. ซึ่งที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 9/2559 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559 เห็นว่า มติ กทค. ครั้งที่ 29/2558 ไม่ได้พิจารณาในประเด็นสิทธิในคลื่นความถี่ว่าเป็นของผู้ให้สัมปทานหรือผู้รับสัมปทาน หากแต่เป็นหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายต้องตรวจสอบสัญญาและปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด จึงมีมติให้สำนักงาน กสทช. แจ้งกับ บมจ. โทเทิ่ลฯ ให้ไปดำเนินการเจรจากับ บมจ. กสทฯ ต่อไป
กรณีนี้ได้บทสรุปภายหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายเจรจากัน โดย บมจ. โทเทิ่ลฯ มีหนังสือรายงานความคืบหน้ามายังสำนักงาน กสทช. ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2559 ว่า บมจ. โทเทิ่ลฯ จะเป็นผู้ให้เช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมด้วยเทคโนโลยี LTE แก่ บมจ. กสทฯ แต่เพียงรายเดียว โดย บมจ. กสทฯ จะให้บริการโทรคมนาคมด้วยตนเอง ขณะเดียวกัน บมจ. กสทฯ ก็จะเป็นผู้ให้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ (Roaming) และ/หรือบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายแบบเสมือนแก่ บมจ. โทเทิ่ลฯ และบริษัทในเครือ
วาระทีโอทีเรียกเก็บค่าใช้โครงข่ายให้บริการคลื่น 900 ภายใต้ประกาศมาตรการเยียวยาฯ
บมจ. ทีโอที มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 19 เมษายน 2559 ถึงประธาน กสทช. แจ้งว่า สัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ระหว่าง บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บมจ. ทีโอที ได้สิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2559 แต่ปรากฏว่า บมจ. แอดวานซ์ฯ ยังคงมีการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ประกาศมาตรการเยียวยาฯ) ซึ่งมีการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของ บมจ. ทีโอที ในการให้บริการ โดยในเวลาต่อมา บมจ. ทีโอที ได้มีหนังสือลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 ขอให้ บมจ. แอดวานซ์ฯ ชำระเงินค่าใช้โครงข่ายภายหลังวันที่สิ้นสุดสัญญาอนุญาต นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึง 31 ธันวาคม 2558 เป็นจำนวนเงิน 5,094.48 ล้านบาท โดยกำหนดขอให้ชำระภายใน 30 วัน แต่ บมจ. แอดวานซ์ฯ ก็ยังมิได้ชำระเงินแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้จึงมีหนังสือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจำนวนดังกล่าวมายังสำนักงาน กสทช.
แม้วาระนี้เป็นเพียงวาระเพื่อทราบ โดยสำนักงาน กสทช. เตรียมรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการว่าได้ส่งเรื่องค่าใช้บริการโครงข่ายตามที่ บมจ. ทีโอที ร้องขอ ให้คณะทำงานตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการพิจารณาแล้ว เพื่อกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม แต่ถ้าหาก บมจ. แอดวานซ์ฯ ปฏิเสธที่จะชำระ หรือ บมจ. ทีโอที ไม่ยอมรับอัตราที่คณะทำงานตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินฯ กำหนด ย่อมต้องเป็นคดีฟ้องร้องกันยืดยาว เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นที่น่าติดตามอย่างมากว่าจะลงเอยอย่างไร
วาระพิจารณาอนุญาตให้ไทยคมใช้คลื่นเพื่อทดสอบดาวเทียมไทยคม 8
วาระนี้เป็นเรื่องเพื่อพิจารณา โดยสำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอ กทค. พิจารณาคำขออนุญาตใช้คลื่นความถี่ของ บมจ. ไทยคม เพื่อการควบคุมดาวเทียมไทยคม 8 และใช้คลื่นความถี่ชั่วคราวสำหรับทดสอบคุณสมบัติต่างๆ ของดาวเทียมขณะอยู่ในวงโคจร (In Orbit Test) วาระนี้ตรงไปตรงมาว่า เป็นการขออนุญาตใช้คลื่นในกิจการประจำที่ผ่านดาวเทียมที่สอดคล้องกับตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ และไม่ใช่การนำไปให้บริการสาธารณะ จึงไม่น่ามีประเด็นติดขัดอะไร อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตดาวเทียมไทยคม 8 มีการใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการกับผู้ประกอบกิจการภาคพื้นดิน อันเป็นการใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม ก็จะมีประเด็นตามมาว่า บริษัทจะต้องดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ตามมาตรา 45 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ด้วยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ขาดความชัดเจนมาโดยตลอด