กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--ซีพีเอฟ
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าสร้างนวัตกรจากทุกสายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ด้วยการนำเทคนิค TRIZ, Lean และKaizen มาประยุกต์ใช้อย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานของระบบบริหารจัดการนวัตกรรมCEN16555 ที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์โครงการนวัตกรรมที่มีผลกระทบทางธุรกิจ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน พร้อมตั้งเป้าสร้างนวัตกรให้ครบ 500 คน ภายในปีนี้
นายวิโรจน์ คัมภีระ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า จากวิสัยทัศน์ "ครัวของโลก" ทำให้ซีพีเอฟมุ่งมั่นสร้างนวัตกร เพื่อมาร่วมกับสร้างนวัตกรรม มาตั้งแต่ ปี 2553 โดยเริ่มจากส่วนงานหลักในห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจฟาร์ม ธุรกิจอาหาร ธุรกิจการค้าและการตลาด ก่อน จากนั้นในปี 2559 ได้ขยายขอบเขตไปยังส่วนงานสนับสนุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานจัดซื้อ บัญชี บุคคล ธุรการ
"ซีพีเอฟได้วางแนวทางการพัฒนานวัตกรรมโดยมุ่งเน้น 3 ด้าน ได้แก่ 1. การสร้างองค์กรแห่งนวัตกรรม 2. การสร้างเครือข่ายนวัตกรรม ทั้งภายในและภายนอกบริษัท และ3. การใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจ โดยแบ่งนวัตกรรมของซีพีเอฟเป็น 3 ระดับ ได้แก่ i1 Improvement ปรับปรุงงาน, i2 Invention สร้างสิ่งใหม่ และ i3 Innovation นวัตกรรม ซึ่งการแบ่งระดับดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การสร้างการมีส่วนร่วมและส่งเสริมให้บุคคลากรทุกระดับของซีพีเอฟพัฒนาตนเอง เพื่อก้าวสู่การเป็นนวัตกรที่มีความเชี่ยวชาญตามลำดับ" นายวิโรจน์ กล่าวเสริม
ในปี 2558 มีผลงานนวัตกรรมส่งเข้าประกวด 4,248 ผลงาน แบ่งเป็น i1 การปรับปรุง 2,822 ผลงาน, i2 สร้างสรรค์สิ่งใหม่ 1,363 ผลงาน และ i3 นวัตกรรม 63 ผลงาน โดยมีนวัตกรรมที่โดดเด่น และเป็นประโยชน์ต่อประเทศ สังคม และบริษัท อาทิการตรวจโรค PRRS แบบใหม่จากน้ำลายสุกร, อาหารจิ้งหรีด, ไฮโกรพรีวีน อาหารลูกหมูแรกคลอด เป็นต้น โดยในปี 2559 ตั้งเป้าให้ทุกสายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศส่งผลงานเข้าประกวดเพิ่มขึ้น 10 %
ปัจจุบันซีพีเอฟมีนวัตกรทั้งสิ้น 381 คน ซึ่งพัฒนามาจากบุคคลากรในแต่ละสายธุรกิจ โดยไม่ได้นำสายวิชาชีพมาเป็นตัวกำหนดว่าจะต้องเป็น วิศวกร, สัตว์แพทย์ หรือสัตว์บาล บุคลากรทุกสายอาชีพและทุกระดับสามารถเป็นนวัตกรได้ หากมีความใฝ่รู้ ขยัน มุ่งมั่น มีทักษะในการอ่าน-เขียนภาษาอังกฤษ รวมถึงการมีทักษะในการแก้ไขปัญหา โดยซีพีเอฟจะนำผู้สนใจเหล่านี้ เข้ามาเข้าร่วมหลักสูตรพัฒนานวัตกรด้วย TRIZ ซึ่งมีทั้งการเรียนการสอน การทำโปรเจ็คหรือโครงการ ตลอดจนการทดสอบแบบข้อเขียน เพื่อให้ได้นวัตกรที่มีคุณภาพต่อไป พร้อมตั้งเป้าในปี 2559 ซีพีเอฟจะมีนวัตกรจำนวน 500 คน นอกจากนี้ยังพิจารณาผลงานที่โดดเด่นจากการประกวดมาจดทะเบียนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร ซึ่งล่าสุดที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว 74 เรื่อง และได้ยื่นเรื่องกับทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาอีกกว่า 81 เรื่อง โดยในสิ้นปีนี้ตั้งเป้าหมายจะมีสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรที่ได้รับการจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 100 เรื่อง
นอกจากนี้ซีพีเอฟยังวางแผนจัดงาน CPF 3i Day 2016 ในเดือนตุลาลคม เพื่อเป็นเวทีให้บุคลากรทุกระดับได้พัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อก้าวสู่การเป็นนวัตกรอย่างแท้จริง โดยผลงานจากการคัดเลือกจะนำไปจัดแสดงภายในงาน CPF CEO Awards ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นการยกย่องชมเชยนวัตกรให้เกิดความภาคภูมิใจและส่งต่อแรงบันดาลใจในการพัฒนาผลงานจากนวัตกรสู่พนักงานทุกระดับ ซึ่งเวทีทั้ง 2แห่งนี้จะหล่อหลอมให้เกิดวัฒนธรรมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามสายงาน หรือข้ามสายธุรกิจของบุคคลากรทุกระดับ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่น และการให้ความสำคัญของผู้บริหารในการส่งเสริม สนับสนุน ตลอดจนนำนวัตกรรมมาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน./