กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--บางกอก พับบลิค รีเลชั่นส์
เปิดตำนานกัปตัน คิดด์
จากตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมา วิลเลียม คิดด์ เป็นโจรสลัดชื่อกระฉ่อนผู้ฝังสมบัติที่ปล้นชิงมาได้ตามเกาะแก่งต่างๆ และจบชีวิตห้าวของตนบนตะแลงแกง แต่ในความเป็นจริง วิลเลียม คิดด์ ชาวเมืองนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เขาเป็นกัปตันเรือที่ประสบความสำเร็จ เป็นคนรักครอบครัวที่เข้าโบสถ์เป็นประจำ (ทุกวันนี้แผ่นกั้นในโบสถ์ทรินิตี้ เชิร์ช เขตโลเวอร์ แมนฮัตตัน สหรัฐอเมริกายังมีชื่อของเขาติดอยู่ โดยเขาเป็นคนบริจาคเครื่องมือยกหินในระหว่างการก่อสร้าง) เขาซื้อที่ดินใกล้วอลสตรีท และร่วมทำธุรกิจกับผู้ว่าการอาณานิคมแมนซาชูเส็ต เบย์ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลอังกฤษคนอื่นๆ
บันทึกทางประวัติศาสตร์บางฉบับระบุว่า เขาเกิดในปี 1645 เป็นลูกของพระนักเทศน์ในกรีนน็อค ประเทศสกอตแลนด์ ออกเดินเรือตั้งแต่ยังเด็ก เป็นเด็กติดเรือสินค้าที่เดินทางค้าขายระหว่างนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกากับลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี 1689 ช่วงที่อังกฤษทำครามกับสเปนและฝรั่งเศส เขาถูกว่าจ้างจากรัฐบาลอังกฤษให้เป็นนายเรือ นำเรือติดอาวุธปฏิบัติภารกิจตรวจจับเรือสัญชาติสเปนและฝรั่งเศสในทะเลแคริบเบียน แม้ว่าใจจริงแล้วเขาไม่อยากจะเป็นนายเรือตรวจจับข้าศึก แต่เขาก็ตัดสินใจรับงานดังกล่าว จริงอยู่ที่งานดังกล่าวทำให้เขามีฐานะมั่งคั่ง มีเส้นสายทางการเมือง มีบ้านหลังงาม และแต่งงานกับแม่หม้ายที่มีฐานะร่ำรวย แต่มันก็เป็นงานที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดทางเวลาและเสี่ยงต่อการสูญเสียเงินทอง ในกรณีที่ภารกิจที่ปฏิบัติล้มเหลว ไม่สามารถยึดทรัพย์สมบัติจากเรือเป้าหมายมาได้ (นายเรือจับข้าศึกจะไม่ได้รับค่าจ้างตอบแทน ถ้าไม่สามารถยึดเรือข้าศึกได้) มีเส้นแบ่งที่บางมากระหว่างการโจมตีเรือข้าศึกให้ทางการ กับการเป็นโจรสลัดปล้นชิงสมบัติเพื่อความร่ำรวย ในที่สุดวิลเลียม คิดด์ ก็ข้ามผ่านเส้นแบ่งดังกล่าวนั้น โดยแปลงสภาพจากการเป็นนายเรือตรวจจับข้าศึก ไปเป็นโจรสลัดที่ปล้นชิงสมบัติอย่างผิดกฎหมาย
ชะตากรรมของเขาต้องพลิกผัน เมื่อเขาได้รับการว่าจ้างจากกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐบาลอังกฤษให้เป็นผู้บังคับบัญชาเรือแอดเวนเจอร์ แกลลี่ขนาดระวางขับน้ำ 260 เมตริกตัน เดินทางไปจับโจรสลัดในมหาสมุทรอินเดีย แม้ว่าเรือดังกล่าวจะสมบูรณ์พร้อมในด้านขนาดและอาวุธที่ติดตั้ง แต่ก็เป็นเรือที่ต่ออย่างขาดความพิถีพิถันและไม่แข็งแรงเท่าที่ควร มิหนำซ้ำ ลูกเรือที่คิดด์เป็นผู้เลือกยังถูกกองทัพเรือเกณฑ์ไปใช้งาน เขาต้องหาลูกเรือใหม่จากชายฉกรรจ์หัวแข็งและอดีตโจรสลัด ซึ่งดูเหมือนจะสมคบกันต่อต้านอำนาจบังคับบัญชาของเขา ในระหว่างที่เดินทางไปยังมหาสมุทรอินเดีย
เรือแอดเวนเจอร์ แกลลี่ไม่พบทั้งเรือโจรสลัด หรือเรือขนสมบัติฝรั่งเศส ในระหว่างทาง คิดด์ตัดสินใจเป็นโจรสลัดเสียเอง (หรือถูกลูกเรือที่ก่อกบฏบังคับให้ต้องกระทำการเยี่ยงโจรสลัด)
เมื่อเดินทางไปถึงเกาะมาดากัสการ์ เรือแอดเวนเจอร์ แกลลี่ ก็อยู่ในสภาพจะย่ำแย่ ในขณะที่ลูกเรือเริ่มไม่พอใจและทิ้งเรือหนีไปร่วมกับโจรสลัดที่พวกเขาตามล่าเสียเอง คิดด์ ก็ถูกบังคับให้ต้องสละเรือ เขาโอนอำนาจบังคับบัญชาไปยังเรืออาร์เมเนียนที่ชื่อ เคดาห์ เมอร์แชนต์ ซึ่งเขายึดมาได้ แม้ว่าเรือลำดังกล่าวจะมาจากอินเดีย แต่ก็เดินทางภายใต้ใบอนุญาตของรัฐบาลฝรั่งเศส ทำให้กลายเป็นเป้าหมายที่ชอบธรรมสำหรับการยึด เรือลำใหม่บรรทุกสินค้ามูลค่าประมาณ 30,000 ปอนด์ ซึ่งถ้าเป็นค่าเงินในปัจจุบันก็ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการดำเนินการทางการเมืองเพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าพวกเขาต่อต้านการเป็นปล้นสดมภ์ในน่านน้ำสากล นักการเมืองในอังกฤษและอเมริกาที่เป็นกลุ่มเดียวกับคนที่เคยสนับสนุนคิดด์ได้หักหลังเขา โดยอ้างว่าเรือที่เขายึดอยู่ภายใต้การคุ้มครองของอังกฤษ ทำให้คิดด์ตกเป็นผู้ร้ายข้ามชาติอย่างช่วยไม่ได้
เขาถูกจับในบอสตัน แมสซาชูเส็ต สหรัฐอเมริกา โดยลอร์ด เบลโลมอนต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ออกทุนให้เขา จากนั้นก็ถูกส่งตัวไปยังกรุงลอนดอนเพื่อเข้ารับฟังการพิจารณาคดี ในข้อหาฆาตกรรมลูกเรือที่ขัดขืนคำสั่งของเขาและข้อหาเป็นโจรสลัด ในระหว่างการพิจารณาคดี Trial of the Century คิดด์ ได้ให้การอย่างหนักแน่นว่าเรือเคดาห์ เมอร์แชนต์ เป็นเป้าหมายที่ชอบธรรม เพราะเป็นเรือสัญชาติฝรั่งเศส แต่ใบอนุญาตที่ให้อำนาจเขายึดเรือได้หายไปอย่างลึกลับ
ในที่สุดคิดด์ก็ถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาฆาตกรรมและข้อหากระทำการเป็นโจรสลัดอีกห้ากระทง เขาถูกแขวนคอเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 1701 หลังจากการตายของเขา ก็มีการพบใบอนุญาตยึดเรือในโต๊ะของอัยการผู้สั่งคดี ปัจจุบันใบอนุญาตดังกล่าวถูกเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุกรุงลอนดอน สมบัติบางส่วนที่คิดด์ยึดมาได้ถูกกู้ขึ้นมาจากเกาะการ์ดิเนอร์ นอกฝั่งลองไอส์แลนด์ นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา และสถานที่อื่นๆ แต่เรื่องราวสมบัติที่ยังหาไม่พบยังเป็นที่เล่าขานกันอยู่ในตำนานอเมริกา
นักประวัติศาสตร์บางคน อย่างเคนเนธ คินคอร์ ที่ปรึกษาโครงการสำรวจของแบร์รี่ คลิฟฟอร์ด เชื่อว่า คิดด์เป็นแพะรับบาป ชะตากรรมของเขาถูกกำหนดโดยรัฐบาลอังกฤษ ในความพยายามที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอินเดียที่เสื่อมทรามลง การโจมตีเรือเคดาห์ เมอร์แชนต์จากอินเดียเป็นการสั่นคลอนสถานภาพของบริษัท อิงลิช อีสต์ อินเดีย ซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของอังกฤษ คินคอร์เชื่อว่าถ้าคิดด์ไม่ถูกแขวนคอในฐานะสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายของโจรสลัด ฐานะของบริษัทอีสต์อินเดียจะตกอยู่ในอันตราย และอินเดียจะหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมที่เป็นเพชรยอดมงกุฎของอังกฤษทันที คินคอร์ บอกว่า "คิดด์เป็นผู้รับกรรมแทนนักการเมืองและการปล้นสดมภ์ที่กระทำโดยโจรสลัดคนอื่น ถ้าเขาถูกศาลตัดสินว่าไม่มีความความผิด การยึดครองอินเดียของอังกฤษจะต้องไม่เหมือนอย่างที่เรารู้ๆ กัน และจะเป็นการเปลี่ยนเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์โลกด้วย"
หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อบริษัท บางกอก พับบลิค รีเลชั่นส์ จำกัด
โทรศัพท์ 0-2664-9500 คุณไพโรจน์ ต่อ 115 หรือคุณปานตา ต่อ 116--จบ--
-อน-