กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คนร. ได้เปิดเผยผลการประชุม คนร. ครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2559
โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สรุปได้ดังนี้
1. การนำโครงการทางพิเศษเข้าร่วมในโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST)
คนร. มีมติเห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างภาครัฐ (Multi-Stakeholder Group) สำหรับโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) ที่ให้นำโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มูลค่าโครงการรวม 31,137 ล้านบาท ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เข้าร่วมในโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) เพื่อดำเนินการเปิดเผยข้อมูลตามแนวทางของ CoST ให้สาธารณชนสามารถตรวจสอบได้ และเป็นการเสริมสร้างความโปร่งใสในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ เนื่องจากเป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศและมีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง
2. การจัดทำร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ....
คนร. มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ตามที่คณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติได้มีการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติฯ ตามข้อสังเกตของหน่วยงานต่างๆ เช่น การปรับปรุงวาระการดำรงตำแหน่งและกระบวนการสรรหากรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ที่โปร่งใส และการกำหนดตัวชี้วัดเชิงประสิทธิภาพให้กับบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจาณาต่อไป
3. การพิจารณาโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ
คนร. ได้มีการพิจารณาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ โดยมีมติดังนี้
(1) เห็นชอบการดำเนินโครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะสมุย และเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) วงเงินลงทุนโครงการจำนวน 2,130 ล้านบาท และ 1,776 ล้านบาท ตามลำดับ เพื่อให้ กฟภ. สามารถขยายระบบจำหน่ายไฟฟ้าซึ่งเป็นบริการขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนในพื้นที่เกาะสมุยและเกาะเต่าได้อย่างเพียงพอและมั่นคง และมอบหมายให้ กฟภ. ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัดต่อไป
(2) เห็นชอบการขยายกรอบวงเงินลงทุนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ. ทอท.) เป็นจำนวน 8,861.017 ล้านบาท โดยเพิ่มเติมจากเดิมที่ได้รับอนุมัติไว้ จำนวน 3,069.895 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการชดเชยผลกระทบด้านเสียงที่เกิดจากการดำเนินโครงการ และเยียวยาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนผู้อาศัยโดยรอบ และให้ บมจ. ทอท. พิจารณาลำดับความเร่งด่วนตามความเดือดร้อนต่อไป
(3) เห็นชอบในหลักการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ - พญาไท - มักกะสัน – หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ – หัวลำโพง ภายใต้กรอบวงเงินลงทุนจำนวน 44,157.76 ล้านบาท และเห็นควรให้ รฟท. บริหารทรัพย์สินโดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเขตทางรถไฟและย่านสถานีให้เกิดประโยชน์สูงสุดซึ่งหน่วยงานเจ้าของโครงการจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการดังกล่าวต่อไป
4. การแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง
คนร. ได้รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการตามมติ คนร. และตามแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง โดยมอบหมายให้กระทรวงเจ้าสังกัดกำกับดูแลการดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง และเห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ ที่มีพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน โดยได้มีการพิจารณาเรื่องที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้
(1) รับทราบการดำเนินการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีความคืบหน้าเป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยให้ บมจ. การบินไทย เร่งเพิ่มรายได้ค่าโดยสารโดยการปรับปรุงระบบการขายและจัดจำหน่ายผ่านเว็บไซต์และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งนี้ ให้คงรักษาคุณภาพการให้บริการและความปลอดภัย นอกจากนี้ให้ บมจ. การบินไทย เป็นผู้นำในการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาคร่วมกับสายการบินอื่นๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ
(2) รับทราบการดำเนินการของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)ที่มีความคืบหน้าค่อนข้างมาก โดยให้ ธพว. ให้ความสำคัญกับการลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
(3) รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2526เรื่อง การให้ใบอนุญาตในการเดินรถแก่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งการยกเลิกดังกล่าว จะเป็นการปฏิรูประบบการขนส่งมวลชนในส่วนของรถโดยสารสาธารณะทั้งระบบ โดยการปรับปรุงเส้นทางการเดินรถให้มีประสิทธิภาพ และปรับบทบาทให้กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้กำกับดูแล (Regulator) และ ขสมก. เป็นเพียงผู้ให้บริการเดินรถ (Operator) รายหนึ่ง เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และให้กระทรวงคมนาคมเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรีและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
(4) รับทราบแนวทางการจัดหารถโดยสารจำนวน 3,183 คัน ของ ขสมก. และให้กระทรวงคมนาคมเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนแผนการจัดหารถโดยสารต่อไป
(5) มอบหมายให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ และกระทรวงคมนาคมร่วมจัดทำหลักเกณฑ์ในการพิจารณารูปแบบการบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ของ รฟท. ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำกับติดตามการพัฒนาที่ดิน Non-core ของ รฟท. ทั้งระบบ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ตามแนวข้างทางเส้นทางรถไฟทางคู่ และสถานีรถไฟ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการนำเสนอ คนร. พิจารณาภายใน 3 เดือน
(6) รับทราบการปรับโครงสร้างของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (ทีโอที) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (กสท) โดยการจัดตั้งบริษัทลูก 3 บริษัท เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินของ ทีโอที และ กสท ได้แก่ บริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์ภายในประเทศ (NBN CO) บริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศ (NGN CO) และบริษัทศูนย์ข้อมูลอินเตอร์เน็ต (IDC CO) โดยให้กระทรวง ICT กำกับให้ ทีโอที และ กสท จัดทำรายละเอียดของแผนการดำเนินกิจการของทั้ง 3 บริษัท และดำเนินการสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานของ ทีโอที และ กสท ต่อไป
(7) รับทราบแนวทางการปรับโครงสร้างทางการเงินของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการหาพันธมิตรทางธุรกิจ โดยให้กระทรวงการคลังเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป