กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
กรมบัญชีกลางเข้าชี้แจงรายละเอียดร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ....ว่ามีความสอดคล้องกับ UNCITRAL Model Law และ TPP เพื่อยกระดับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้เป็นมาตรฐานสากล
นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา ว่า กรมบัญชีกลางได้ชี้แจงอธิบายภาพรวมและขั้นตอนการดำเนินงานของร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งในรายละเอียดของกฎหมายนี้ได้ถูกออกแบบให้มีความสอดคล้องกับกรอบแนวคิดของกฎหมายต่างประเทศ คือ UNCITRAL Model Law on Procurement of Goods, Construction and Services with Guide to Enactment และความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP) เพื่อยกระดับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้เป็นมาตรฐานสากล
โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายนี้เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์กว้างๆ โดยกำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีการแข่งขันด้านราคา ดังนั้น ในรายละเอียดจึงจำเป็นต้องไปกำหนดไว้ในระเบียบ กฎกระทรวง ประกาศ หรือหลักเกณฑ์ต่างๆ และนอกจากนี้ เรื่องสำคัญๆหลายเรื่องกรมบัญชีกลางได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการร่าง พ.ร.บ. เช่น การนำการจัดซื้อจัดจ้างรูปแบบใหม่ (e-market และ e-bidding) มาใช้ หรือให้มีการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ซึ่งในปัจจุบันหน่วยงานของรัฐหลายแห่งได้นำข้อตกคุณธรรมมาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว และที่เป็นจุดเด่นของกฎหมายฉบับนี้ คือการเพิ่มบทลงโทษทางอาญา กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดโดยมิชอบหรือโดยทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง และการกำหนดบทลงโทษแก่ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนด้วย
สำหรับการประชุมในวันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2559 นี้ คณะกรรมาธิการได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลางจัดทำข้อแตกต่างของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 กับร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. .... และพิจารณาประเด็นข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ ของ สนช.ที่มีต่อร่าง พ.ร.บ. นี้ เพื่อให้คณะกรรมาธิการฯได้รับทราบ
"กฎหมายฉบับนี้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของประเทศ และจะช่วยยกระดับธรรมาภิบาลในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ให้เกิดความคุ้มค่า เป็นไปด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม รวมถึงยังเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างประเทศในการเข้าร่วมยื่นเสนองานในโครงการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ" โฆษกคณะกรรมาธิการฯกล่าว