กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) โดย ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยร่วมกันว่า การท่องเที่ยวเป็นภาคบริการที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ประเทศไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2558 มูลค่า 1.44 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.69 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีพีดี ปี 2558 ประมาณ 13.53 ล้านล้านบาท) และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รายงานประจำปี 2558 การจัดอันดับของ World Economic Forum :WEF ข้อมูลของ Travel and Tourism Competitiveness Index จัดลำดับให้ไทยอยู่ที่ 35 จาก 141 ประเทศทั้งหมด และ องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งประชาชาติ (World Tourism Organization : UNWTO) รายงานว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางระหว่างประเทศทั่วโลกจำนวน 1,185 ล้านคน และคาดว่าในปี 2559 นักท่องเที่ยวที่เดินทางระหว่างประเทศทั่วโลกจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4 โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และอเมริกาจะเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด อยู่ที่ร้อยละ 4 –5 ทั้งนี้ UNWTO คาดว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางระหว่างประเทศทั่วโลก อาจจะเพิ่มจำนวนถึง 1,400 ล้านคน ในปี 2563 และอีก 10 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นเป็น 1,800 ล้านคน รวมถึง อีกด้วย
สำหรับการท่องเที่ยวของไทยมีการขยายตัวมาอย่างต่อเนื่องทั้งจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะ 5 ปี ที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 15.94 ล้านคน ในปี 2552 เป็น 29.88 ล้านคน ในปี 2558 และสามารถสร้างการจ้างงานได้จำนวน 4.45 ล้านคน สร้างรายได้มูลค่า 1.44 ล้านล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก (รวมอาเซียน) มีสัดส่วนร้อยละ 66.50 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ยุโรปร้อยละ 18.84 และอื่นๆอีกร้อยละ 14.66
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้ที่มีระยะเวลาเดินทางไม่นานและมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปี 2558 นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.07 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วของนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนและมาเลเซีย รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียน ในขณะที่ นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปลดลงร้อยละ 8.65 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการหดตัวของเศรษฐกิจโลกและในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปด้วย
ด้านนักท่องเที่ยวชาวไทย ที่เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ในปี 2558 มีจำนวน 138.8 ล้านคนต่อครั้ง สร้างรายได้ 0.79 แสนล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2559 สามารถสร้างรายได้ประมาณ 2.3 – 2.5 ล้านล้านบาท ซึ่งมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.67 ล้านล้านบาท และนักท่องเที่ยวไทย มูลค่า 0.807 แสนล้านบาท (ตาราง 1)
ตาราง 1 จำนวน รายได้ และค่าใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และไทย ปี 2557 - 2558
ปี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทย ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย
จำนวน (คน) รายได้ (ล้านบาท) (บาทต่อครั้ง) จำนวน (คน-ครั้ง) รายได้ (ล้านบาท) (บาทต่อครั้ง)
2557 24,809,683 1,172,798 47,272.00 136,000,000 680,000 5,000
2558 29,881,091 1,447,158 48,430.00 138,800,000 790,000 5,692
2559 32,000,000 1,670,000 52,187.00 150,800,000 807,000 5,351
ที่มา : กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวบรวมและคำนวณโดยศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร 2559
สำหรับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร กิจกรรมที่นักท่องเที่ยวได้ให้ความสนใจ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทยที่หันมาท่องเที่ยวเชิงเกษตรมากขึ้น พบว่า ขณะนี้มีจำนวนแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรรวม 1,215 แหล่ง แบ่งออกเป็น แหล่งท่องเที่ยวของชุมชน 969 แห่ง แหล่งท่องเที่ยวของส่วนราชการ 87 แห่ง และ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) จำนวน 163 แห่ง ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ตั้งอยู่ครอบคลุมทุกภูมิภาคของไทย ซึ่งสามารถแบ่งประเภทการท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ดังนี้
1. การกสิกรรม เที่ยวชม สวนดอกไม้ ไม้ประดับ สมุนไพร สวนผลไม้ ทุ่งนา พืชไร่ และ แปลงไร่นาสวนผสมของเกษตรกร
2. ป่าไม้ เยี่ยมชมสวนป่าธรรมชาติและสวนป่าที่เกษตรกรปลูกขึ้นเอง
3. ประมง เยี่ยมชมการเลี้ยงกุ้ง หอย ปู และ ปลา ของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ
4. ฟาร์มปศุสัตว์ สัมผัสธรรมสัตว์เลี้ยงนานาชนิดที่เป็นมิตรและน่ารัก และร่วมสนุกกับกิจกรรมในฟาร์ม เช่น ขี่ม้า รีดนมวัวและกิจกรรมอื่นๆ เป็นต้น
5. วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตท้องถิ่นภาคการเกษตรเรียนรู้และศึกษาประเพณี วัฒนธรรมความเป็นอยู่ ของเกษตรกร
ตัวอย่างการท่องเที่ยวเชิงเกษตร 1) การนำเที่ยวชมสวนเกษตร เช่น สวนผลไม้ สวนดอกไม้ สวนสมุนไพร 2) การนำเที่ยวเทศกาลงานวันเกษตร เช่น งานมะขามหวาน จ.เพชรบูรณ์ 3) งานเทศกาลผลไม้ จ.ระยอง 4) การนำเที่ยวชมฟาร์มปศุสัตว์ เช่น ฟาร์มโชคชัย 5) การนำชมการทำนาแบบดั้งเดิม 6) การนำชมหมู่บ้านชาวประมง เช่น การไดหมึก การตกปลา การตกกุ้ง
การส่งเสริมและนโยบายจากภาครัฐในการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ล่าสุดได้ร่วมมือกันกับผู้ประกอบการเอกชนรายใหญ่ ภายใต้คณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านการท่องเที่ยว จัดทำโครงการ "อะเมซิ่ง ไทยเทส" ซึ่งเป็นโครงการการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติบริโภคอาหารไทยและผลไม้ไทยเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งสามารถวิเคราะห์รายได้จากนักท่องเที่ยวในปี 2559 ที่จะเพิ่มขึ้น ดังนี้
1. นักท่องเที่ยวต่างชาติ การเข้ามาท่องเที่ยวในไทย ซึ่งการรับประทานอาหารไทย เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมสูงสุด ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายด้านอาหาร 3,762 บาทต่อคนต่อครั้ง ดังนั้นเป้าหมายสามารถเพิ่มยอดค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารต่อครั้งขึ้นได้นั้น ที่สนใจมาท่องเที่ยวเชิงเกษตรและส่งผลให้รายได้ภายในประเทศเพิ่มขึ้น 12,000 ล้านบาทอีกด้วย
2. นักท่องเที่ยวชาวไทย รายงานการสำรวจพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของชาวไทย พ.ศ. 2558 พบว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมีกิจกรรมที่ทำระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม อยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.5 และมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มจำนวน 494 บาทต่อครั้ง ดังนั้นหากนักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวน 150.08 ล้านคนต่อครั้ง ในปี 2559 จะเข้าร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรจำนวนถึง 3.77 ล้านคนต่อครั้ง และสร้างรายได้ภายในประเทศให้กับภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1,860 ล้านบาท เช่นกัน
สำหรับประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับ จากการกระตุ้นและส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวรู้จักสถานที่ บริโภคอาหารไทยและผลไม้ไทยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทย สามารถสร้างรายได้ให้กับภาคเกษตรได้มากขึ้น ซึ่งสินค้าเกษตรที่ได้รับผลประโยชน์ประกอบด้วยสินค้าเกษตร ข้าว พืชผัก ผลไม้ ปศุสัตว์ และสินค้าประมง ตามลำดับ ซึ่งเป็นสาขาหลักสำหรับภาคเกษตรที่จะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากมาตรการดังกล่าว
สรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
1. พัฒนา บูรณะ ฟื้นฟูมรดกและสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมทั้งในเขตเมืองและนอกเมือง เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวใหม่ สร้างแหล่งจับจ่ายซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยว โดยจะส่งเสริมบทบาทเอกชนร่วมกับชุมชนในการรักษาแหล่งท่องเที่ยวและวิถีชีวิตให้ในสภาพเดิมอย่างต่อเนื่อง
2. พัฒนาความหลากหลายของการท่องเที่ยวรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม โดยส่งเสริมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่และให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยว ทั้งในรูปแบบการจัดสหกรณ์การท่องเที่ยว และการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวมากขึ้น
3. เร่งรัดมาตรการอำนวยความสะดวก สร้างความปลอดภัยและป้องกันการเอาเปรียบนักท่องเที่ยว รวมทั้งเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของนักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง
4. บริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยใช้กลยุทธ์การตลาด เพื่อเสริมสร้างกิจกรรมท่องเที่ยวทั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศและยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชีย รวมถึงร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ไทยเป็นประตูทางผ่านหลักของการท่องเที่ยวในภูมิภาคทั้งด้านการตลาด การขนส่ง และการบริหารจัดการ รวมถึงการขจัดปัญหาและอุปสรรคในการท่องเที่ยวด้วย