กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สศก. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์จับสัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือ 3 จังหวัด ภาคใต้ ระบุ มีแนวโน้มลดลงตามปริมาณเรือที่ออกทะเล เนื่องจากการปฏิบัติตามกฎหมายที่เข้มงวดในการแก้ไขปัญหา IUU ในขณะที่ผลผลิตกุ้งขาวแวนาไมเพาะเลี้ยงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากโรคตายด่วน EMS ที่คลี่คลายลง ด้านผู้ประกอบการและชาวประมง วอนภาครัฐแนะนำการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และจัดการอบรม ชี้แจง เพื่อให้การปฏิบัติตามกฎหมายการทำประมงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ประมงในพื้นที่ 3 จังหวัดของภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร ระนอง และ สุราษฎร์ธานี ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า ปริมาณการจับสัตว์น้ำจากทะเลในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปริมาณเรือที่ออกทะเลลดลงจากการปฏิบัติตามกฎหมายการทำประมงในการแก้ไขปัญหา IUU Fishing ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีความเข้มงวดในหลายเรื่อง ทั้งการแจ้งเข้าออกเรือประมง การแจ้งจำนวนแรงงาน การยื่นเอกสารหลักฐาน ข้อกำหนดของจำนวนวันในการออกเรือและจอดเรือ อีกทั้งยังเป็นผลจากสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน ทำให้ปริมาณการจับสัตว์น้ำในภาพรวมลดลง
สำหรับสถานการณ์การผลิตกุ้งขาวแวนาไมในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรค EMS คลี่คลายลง หลังจากประสบปัญหาอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2556 - 2558 ประกอบกับเกษตรกรส่วนใหญ่มีการปรับตัว เช่น การคัดเลือกลูกกุ้งที่นำมาเลี้ยงอย่างละเอียดจากแหล่งผลิตลูกกุ้งที่น่าเชื่อถือ มีการควบคุมคุณภาพน้ำอย่างเข้มงวดโดยเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยง เพิ่มจำนวนเครื่องตีน้ำในบ่อเลี้ยง เพื่อให้น้ำมีปริมาณออกซิเจนเพิ่ม และมีการทำความสะอาดบ่อเลี้ยงมากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ ราคายังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จูงใจให้เกษตรกรผู้เลี้ยงลูกกุ้งเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการประมง/ชาวประมง ยังได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้การปฏิบัติตามกฎหมายการทำประมงถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยต้องการให้ภาครัฐจัดการอบรม ชี้แจง และแนะนำการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการ/ชาวประมง เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องด้วย รองเลขาธิการ กล่าวทิ้งท้าย