กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (Dr.Amonthep Chawla, Senior Vice President, Head of Research Office and Regional Group Risk Economist of CIMB THAI Bank) เปิดเผยว่า สำนักวิจัยฯฟันธงว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 3 ส.ค.59 แม้สงครามค่าเงินในภูมิภาคจะกลับมาปะทุรอบใหม่ จากการที่ล่าสุด ธนาคารกลางมาเลเซียได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งแรกในรอบ 7 ปี โดยปรับลดลง 0.25% มาอยู่ที่ 3%
"แม้ประเทศเพื่อนบ้านจะลดดอกเบี้ย แต่กนง.คงไม่ปรับลดตาม เพราะอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (อัตราดอกเบี้ยลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ) ของไทยอยู่ในระดับต่ำสุดในภูมิภาคแล้ว กนง.น่าจะเก็บกระสุนหรือ policy space ไว้ใช้ยามจำเป็นหากเกิดวิกฤติในต่างประเทศ เช่น เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงแรงกว่าคาด หรือปัญหา Brexit กระทบเศรษฐกิจยุโรป และที่กนง. ห่วงอีกประการคือ พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูง (search-for-yield) ซึ่งหากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำเป็นเวลานาน และมีการคาดการณ์ว่าจะลดลงต่ออีกแล้ว คนจะโยกเงินออกจากเงินฝากหรือสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนต่ำ ไปสู่สินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูง อันอาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ได้ นอกจากนี้ สิ่งที่ผมกล่าวมาราวปีเศษๆ คือไทยใกล้เดินเข้าสู่กับดักสภาพคล่อง คือต่อให้ดอกเบี้ยลดต่ำลง สินเชื่อก็ไม่เติบโต อันสะท้อนว่าประสิทธิผลของดอกเบี้ยต่ำ และอาจส่งผลให้ไทยใกล้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน" นายอมรเทพ กล่าว
นายอมรเทพ กล่าวว่า อย่างไรก็ดี เชื่อมั่นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมีเครื่องมือทางการเงินอื่นๆที่จะเข้ามาสู้ศึกสงครามค่าเงิน อาทิ การออกมาตรการผ่อนคลายอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม หรือพูดอย่างง่ายว่าใช้ 'บาทอ่อน' มากกว่า 'ลดดอกเบี้ย' ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ (หลัง Brexit ค่าเงินบาทอ่อนค่าช่วงสั้นๆและขยับแข็งค่าขึ้นมา)
อนึ่ง สำนักวิจัยฯออกบทวิเคราะห์ "ทิศทางดอกเบี้ยไทยหลัง Brexit" เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.59 ซึ่งคาดการณ์ว่าหลังเหตุการณ์ Brexit จะได้เห็นธนาคารกลางบางประเทศเลือกหั่นอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น การที่ธนาคารกลางมาเลเซีย (บีเอ็นเอ็ม) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% อยู่ที่ 3% ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี จึงไม่สร้างความแปลกประหลาดใจมากนัก
อย่างไรก็ตาม เดือนก.ค.59 เป็นเดือนที่น่าสนใจมากที่สุด เพราะจะมีการประชุมธนาคารกลางในหลายประเทศ ได้แก่ 14 ก.ค. ธนาคารกลางอังกฤษ, 21 ก.ค. ธนาคารกลางยุโรป, 26-27 ธนาคารกลางสหรัฐ และ 28-29 ธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งสำนักวิจัยฯคาดว่าจะมีธนาคารกลางอื่นอีกที่จะลดดอกเบี้ย (ยกเว้นธนาคารกลางสหรัฐที่น่าจะคงดอกเบี้ย) หรือขยายมาตรการ QE และถึงแม้ไม่ทำในรอบนี้ ก็อาจส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินในรอบต่อๆไป
นายอมรเทพ เปิดเผยว่า หลังจากคนอังกฤษออกเสียงเลือกที่จะออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในตลาดการเงิน นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยง เกิดภาวะเงินไหลออกจากอังกฤษและประเทศอื่นๆ ในยุโรป ก่อนจะมีกระแสเงินไหลกลับเข้าตลาดเกิดใหม่อีกครั้ง เพราะนักลงทุนคาดการณ์กันว่า ธนาคารกลางประเทศสำคัญๆ จะต้องออกมาตรการมากระตุ้นเพิ่มเติม จากปัญหาความไม่แน่นอนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ (นักลงทุนมองข่าวร้ายเป็นข่าวดี) มาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม เช่น การลดดอกเบี้ยหรืออัดฉีดเงิน (QE) เพิ่มเติม ซึ่งจะส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดโลกเพิ่มขึ้น สภาพคล่องที่ล้นท่ามกลางภาวการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้ากว่าคาด และอาจมีปัญหาค่าเงินแข็งค่าจากเงินไหลเข้าอันกระทบการส่งออกให้ย่ำแย่ลงไปอีก โดยเฉพาะเมื่ออัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำจากราคาน้ำมันที่ยังคงทรงตัว จึงอาจได้เห็นธนาคารกลางประเทศอื่นๆเลือกที่จะหั่นอัตราดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจ
สำหรับเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงต่อการเติบโตในอัตราที่ชะลอลง จากทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน ปัจจัยภายในมาจากการบริโภคที่อ่อนแอ จาก 1) ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำตามราคาน้ำมัน 2) ภัยแล้งที่กระทบผลผลิต 3) หนี้ครัวเรือนที่ยังเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูง และ 4) ความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคตที่ยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งการบริโภคที่ต่ำนี้ส่งผลต่อกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอในระดับฐานราก
ขณะเดียวกัน การลงทุนภาคเอกชนก็ยังไม่มีสัญญาณการเร่งตัว จากการนำเข้าเครื่องจักรยังคงหดตัว กำลังการผลิตยังต่ำ และความเชื่อมั่นยังไม่ฟื้น นอกจากนี้ แม้จะมีมาตรการจูงใจทางภาษีให้คนเร่งลงทุน แต่มูลค่าการลงทุนโดยเฉพาะจาก FDI ยังต่ำ สิ่งสำคัญที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นได้คือการลงทุนภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ แต่ก็ยังมีความล่าช้า ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นได้และมีความชัดเจนมากขึ้นช่วงปลายไตรมาสที่สามถึงปลายปี
นอกจากอุปสงค์ในประเทศจะอ่อนแอแล้ว อุปสงค์ต่างประเทศก็หดตัวด้วย จากการส่งออกที่ติดลบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ ราคาน้ำมันต่ำ และค่าเงินผันผวน สรุปแล้ว เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะเติบโตช้าลงในช่วงไตรมาสที่สาม
"ที่ต้องจับตาคือ ไม่ใช่ไทยประเทศเดียวที่เศรษฐกิจชะลอ แต่เกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค ราคาน้ำมันตกต่ำ เศรษฐกิจจีนโตช้าลง ได้กดดันบรรยากาศการลงทุน การส่งออก และการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แม้เศรษฐกิจในภูมิภาคจะชะลอ แต่หลายประเทศเผชิญปัญหาค่าเงินแข็งค่า ซึ่งเกิดจากเงินไหลเข้าตามสภาพคล่องที่ล้นในตลาดโลก จนยิ่งซ้ำเติมปัญหาการส่งออกให้หนักขึ้น ในยามที่เศรษฐกิจในประเทศชะลอพร้อมกับค่าเงินที่แข็ง โดยปกติธนาคารกลางจะเลือกดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม นั่นคือการลดดอกเบี้ย โดยเฉพาะช่วงที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีน้อย จึงมักมีแรงกดดันต่อกนง.เสมอให้ลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมกับผ่อนคลายให้บาทอ่อนค่า แต่ผมก็ยังฟันธงว่ากนง.จะไม่ลดดอกเบี้ย" นายอมรเทพ กล่าว
ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย แนะนำว่า เมื่อสงครามค่าเงินขยับมาใกล้ไทยมากขึ้น ขณะที่ความผันผวนในตลาดการเงินโลกอยู่ในระดับสูง เงินบาทมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากเงินไหลเข้าจากสภาพคล่องที่ล้นในตลาดโลก และในทางกลับกัน บาทเองอาจอ่อนค่าจากจีนลดค่าเงินหยวนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและจากเฟดขึ้นดอกเบี้ย สำนักวิจัยฯจึงยังมองบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่าที่ระดับ 36.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายปี และคงประมาณการอัตราดอกเบี้ยที่ 1.50% ต่อปีไว้ ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกจึงควรป้องกันความเสี่ยงค่าเงินไว้ เพราะมีความเป็นไปได้ที่ธปท. อาจผ่อนคลายมาตรการทุนเคลื่อนย้าย หรือมีการดูแลค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น.-
ปัจจัยที่ต้องจับตามอง
กรกฎาคม
ธนาคารกลางในหลายประเทศสำคัญๆ มีการประชุมกัน (คาดคงดอกเบี้ย)
เฟดมีแนวโน้มจะส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยได้หากตัวเลขเศรษฐกิจดี (ตลาดอาจผันผวนหลัง GDP Q2)
ระวังหาก GDP Q2 ของจีนออกมาต่ำ อาจมีการกระตุ้นทางการเงิน
สิงหาคม
ไทยคงดอกเบี้ย รอรายงาน GDP Q2
หลายประเทศมีการรายงานตัวเลข GDP (คาดชะลอลง)
อาจมีมาตรการกระตุ้นทางการเงิน (จับตา GDP ญี่ปุ่น)
กันยายน
รอการประชุมเฟด (คาดยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย แต่จะส่งสัญญาณชัดขึ้น)
นโยบายการเงินทั่วเอเชียหยุดรอเฟด
คาดเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ ค่าเงินเริ่มอ่อนปลายเดือน