กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--อย.
อย. ขยายขอบเขตการห้ามนำเข้าและจำหน่ายเนื้อวัวและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากวัวที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศที่มีความเสี่ยงจากการเกิดโรควัวบ้าเพิ่มอีก 5 ประเทศ ได้แก่ ลักเซมเบิร์ก ลิกเตนสไตน์ เดนมาร์ก สเปน และอิตาลี ขณะนี้จัดทำเป็นร่างประกาศฯ เพื่อให้รัฐมนตรีลงนามแล้ว คาดว่าจะมีผลใช้บังคับต้นสัปดาห์หน้า
น.พ.วิชัย โชควิวัฒน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 192 พ.ศ.2543 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามนำเข้าหรือจำหน่าย โดยห้ามนำเข้าเนื้อโคสด และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโคที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศที่มีความเสี่ยงจากการเกิดโรควัวบ้า หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Bovine Spongiform Encephalopathy (BSE) จำนวน 8 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร โปรตุเกส ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน และเบลเยี่ยม ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2543 แล้ว จากนั้น อย.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (22 ม.ค.44) อย.ได้เชิญประชุมผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรคติดต่อ กรมยุโรป กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมการค้าต่างประเทศ เนื่องจากแต่ละหน่วยงานจะมีข้อมูลการระบาด การเฝ้าระวังและมาตรการการควบคุมของประเทศต่างๆ ซึ่งพบว่าประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) บางประเทศมีแนวโน้มกรณีโรควัวบ้าเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าที่อียูคาดคิด นอกจากนี้ เนื่องจากอียูประกอบด้วยหลายประเทศ ทำให้การเฝ้าระวังของแต่ละประเทศอาจมีความแตกต่างกันไป ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคชาวไทย ที่ประชุมจึงมีมติว่า ควรขยายขอบเขตการห้ามนำเข้าและจำหน่ายเนื้อโคสดและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโคเพิ่มขึ้นอีก 5 ประเทศในอียู ที่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) มีรายงานว่าพบโรควัวบ้าเกิดขึ้น ได้แก่ ลักเซมเบิร์ก ลิกเตนสไตน์ เดนมาร์ก สเปน และอิตาลี ซึ่ง อย.ได้จัดทำร่างประกาศฯ เพื่อให้รัฐมนตรีลงนามแล้ว คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ราวต้นสัปดาห์หน้า
สำหรับประเทศอื่นๆ นอกเหนือจาก 13 ประเทศดังกล่าว อย.จะได้ติดตามข้อมูล รวมทั้งตรวจสอบและเฝ้าระวังสถานการณ์เรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยหน่วยงานที่ร่วมประชุมในครั้งนี้ ตกลงกันว่าจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาและประมวลข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับโรควัวบ้า ทุก 2 สัปดาห์อย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
เลขาธิการฯกล่าวในตอนท้ายในกรณีที่มีข่าวจากรอยเตอร์ทางหน้าหนังสือพิมพ์ซึ่งระบุว่า ประเทศไทยจะเป็นเหยื่อระลอกต่อไปของโรควัวบ้า เนื่องจากเคยนำเข้าอาหารสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อโรควัวบ้าจากอังกฤษ ในช่วงที่โรคนี้กำลังระบาดนั้น ทาง อย.ได้ตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องดังกล่าวแล้ว คาดว่า ไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจาก อย.ได้รับข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งดูแลการนำเข้าอาหารสัตว์ ปรากฏว่า เคยมีการนำเข้ากระดูกสัตว์ป่นสำหรับผลิตอาหารสัตว์จากประเทศอังกฤษเพียงครั้งเดียว และนานกว่า 10 ปีแล้ว อีกทั้งที่ผ่านมาประเทศไทยก็มิได้มีอาการของโรควัวบ้าเกิดขึ้น ที่สำคัย ประเทศไทยรวมทั้งประเทศในเอเชียมิได้ใช้กระดูกสัตว์ รวมทั้งเครื่องใน มาใช้เลี้ยงสัตว์ (ยกเว้นปลาป่น) โดยไทยใช้หญ้า รำข้าว ปลาป่น กากถั่ว ซางข้าวโพด ซึ่งมีปริมาณอยู่มากในภูมิภาคนี้และราคาถูกกว่า ซึ่งจะต่างจากประเทศทางตะวันตก--จบ--
-อน-