สมาพันธ์ผู้ผลิตทองคำแห่งโลกเผยตลาดทองคำไทยคึกคักข้ามปี อัตราขยายตัวไตรมาสแรกพุ่งเกินปีกลาย 19%

ข่าวทั่วไป Tuesday April 10, 2001 11:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--เอ็มดีเค คอนซัลแทนส์ (ประเทศไทย)
Gold Demand Trends วารสารรายสามเดือนของสมาพันธ์ผู้ผลิตทองคำแห่งโลก ระบุปริมาณความต้องการทองคำในตลาดเมืองไทยตลอดปีกลายเพิ่มถึง 41% จากปี 2542 หรือเท่ากับ 67.5 ตัน โดยเฉพาะทองรูปพรรณยอดพุ่งถึง 81% หรือเท่ากับ 15.9 ตัน ในช่วงไตรมาสที่สี่ และ 59.4 ตันเมื่อนับรวมตลอดทั้งปี ล่าสุดเผยยอดอุปทานช่วงไตรมาสแรกเพิ่มจากไตรมาสสุดท้ายของปีกลาย 19% คิดเป็น 19.4 ตัน
ในปี 2543 อุปทานทองคำเพื่อการลงทุนเพิ่มสูงสุดในช่วงไตรมาสที่สี่ คิดเป็น 3.5 ตัน ลดลง 13% จากในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสความหวาดกลัวการล่มสลายของภาคการธนาคารมีส่วนช่วยกระตุ้นยอดขายทองคำ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการลดค่าเงินบาทจะช่วยส่งเสริมการเก็บออมในรูปทองคำ แต่ก็ทำให้ราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ ปริมาณความต้องการทองคำเพื่อการลงทุนตลอดทั้งปีลดลง 46% หรือคิดเป็น 8.1 ตัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2542
อัตราความต้องการบริโภคทองคำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2543 เพิ่มขึ้น 1% คิด รวมเป็น 267.3 ตัน โดยประเทศไทย มาเลเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น แต่ อินโดนีเซียกลับลดลง ส่วนปริมาณความต้องการบริโภคทองคำรูปพรรณตลอดทั้งปีเพิ่มขึ้น 3% หรือ 199.3 ตัน ในขณะที่อุปทานทองคำเพื่อการลงทุนลดลง 7% มาอยู่ที่ 68 ตัน และในไตรมาสที่สี่แนวโน้มความต้องการทั่วไปยังคงเหมือนเดิม แต่เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทยและลดต่ำลงในอินโดนีเซีย
มิสฮารุโกะ ฟูกูดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาพันธ์ผู้ผลิตทองคำแห่งโลก กล่าวว่า "สถิติการบริโภคทองคำที่สูงเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้วเป็นกำลังใจที่ดีเยี่ยมสำหรับเรา และถึงแม้ว่าปัญหา "วายทูเค" จะส่งผลกระทบต่ออุปทานทองคำเพื่อการลงทุน ซึ่งทำให้สถิติการบริโภคทองคำในปี 2543 ลดต่ำลงตามไปด้วย แต่แนวโน้มการบริโภคทองคำกลับกระเตื้องสูงขึ้นตลอดหลายเดือนที่ผ่านมานี้ เราจึงมุ่งมั่นที่จะใช้ผลการดำเนินงานในครั้งนี้เป็นรากฐานในการก้าวหน้าต่อไป และคาดว่าจะได้เห็นผลความก้าวหน้าที่ดีในปีนี้"
ในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2543 ปริมาณความต้องการบริโภคทองคำในกลุ่มประเทศที่มีการบริโภคทองคำสูงมีจำนวนมากถึง 894 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ถึง 11% ซึ่งเป็นสถิติใหม่ของไตรมาสสำหรับตลาดหลัก 27 แห่งของโลก และสูงกว่าสถิติในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2542 คิดเป็น 2% ทั้งนี้ การเติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วงไตรมาสที่สี่ของปีได้ช่วยชดเชยอัตราการ
บริโภคทองคำที่อ่อนตัวลงในช่วงสามไตรมาสแรก จากสถิติดังกล่าวทำให้อัตราความต้องการบริโภคทองคำตลอดปีอยู่ที่ระดับ 3,281 ตัน ซึ่งไม่แตกต่างจากปี 2542 มากนัก
ปริมาณการบริโภคทองคำรูปพรรณในช่วงไตรมาสที่สี่เพิ่มขึ้นแตะระดับ 793 ตัน สูงกว่าปีที่ผ่านมา 12% และมากกว่าอัตราในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2542 อยู่ 5% ทั้งนี้ ผลรวมของความต้องการบริโภคทองคำรูปพรรณตลอดทั้งปีเท่ากับ 2,902 ตัน เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับปี 2542
ในทางตรงกันข้าม อุปทานทองคำเพื่อการลงทุนตลอดปี 2543 กลับลดต่ำลงถึง 21% จาก ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งมีอัตราความต้องการสูงมากเป็นพิเศษเพื่อตอบรับกระแสความหวั่นเกรงปัญหา "วายทูเค" โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อกระแสดังกล่าวซบเซาลงปริมาณความต้องการทองคำเพื่อการลงทุนก็ลดลงอย่างฮวบฮาบ และยิ่งลดต่ำลงอีกเมื่อมีการเทขายทองคำออกสู่ตลาด อย่างไรก็ตาม อัตราการบริโภคทองคำเพื่อการลงทุนในช่วงไตรมาสที่สี่เพิ่มขึ้น 4% เป็นครั้งแรกในรอบปีเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตลาดในส่วนนี้กำลังกระเตื้องขึ้น
หลายประเทศทำสถิติการบริโภคทองคำใหม่ ๆ อาทิ อินเดีย ซึ่งเป็นตลาดบริโภคทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีอัตราการบริโภคทองคำเพิ่มขึ้นจากปี 2542 แม้ว่าจำนวนวันมงคลประจำปีตามปฏิทินฮินดูจะมีน้อยกว่าปกติ โดยสามารถกลับมาทวงตำแหน่งหนึ่งในห้าประเทศผู้บริโภคทองคำสูงในโลกกลับมาได้ นอกจากนี้ ยังมีสถิติใหม่ ๆ เกิดขึ้นในประเทศในกลุ่มตะวันออกกล่าง เม็กซิโก เวียดนาม และสหรัฐอเมริกาซึ่งทำสถิติการบริโภคทองคำรูปพรรณติดต่อกันเป็นปีที่ 10--จบ--
-อน-

แท็ก วารสาร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ