กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
· วิทยาศาสตร์ฯ มธ. เผยนวัตกรรม "บรรจุภัณฑ์แบบ Active and Smart Packing สำหรับลำไยไม่รมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพื่อการส่งออก" คว้ารางวัลเหรียญทองเกียรติยศ เวทีการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 44 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
นักวิจัย วิทยาศาสตร์ฯ มธ. โชว์ 10 นวัตกรรมสำหรับผลไม้เพื่อการส่งออก ได้แก่ นวัตกรรมActive Packaging สำหรับลำไย ไม่รมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เพื่อการส่งออก นวัตกรรม Active Packaging สำหรับทุเรียนสด พร้อมบริโภคเพื่อการส่งออก นวัตกรรมสภาพบรรยากาศและฟิล์มที่เหมาะสมต่อการเก็บรักษามะพร้าวน้ำหอมควั่น ที่ผ่านกรรมวิธีBlanching เพื่อการส่งออก นวัตกรรมการผลิตมะพร้าวน้ำหอมติดผลดกทั้งปี นวัตกรรม Active Bagging สำหรับห่อชมพู่ทับทิมจันท์ เพื่อการส่งออก นวัตกรรมปอกมะพร้าวน้ำหอม เพื่อการส่งออก นวัตกรรมการชะลอการสุกการแตกของผลทุเรียนที่ส่งทางเรือ นวัตกรรมอินดิเคเตอร์บ่งบอกการหมดอายุของมะพร้าวน้ำหอมควั่น นวัตกรรม Active Packaging สำหรับลองกองสด เพื่อการส่งออกและนวัตกรรม Active Packaging เงาะสดเพื่อการส่งออก ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ยังมุ่งพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าและยกระดับรายได้ของเกษตรกร รวมไปถึงเร่งผลักดันบุคลากรวิทยาศาสตร์สู่การเป็นผู้ประกอบอย่างชาญฉลาด ภายใต้แนวคิด "นักวิทย์คิดประกอบการ"
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 0-2564-4491หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ http://www.sci.tu.ac.th
รองศาสตราจารย์ ปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)กล่าวว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ไม่ได้มีเพียงบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นศาสตร์ที่สามารถสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมธ. จึงมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในมิติผสมผสานอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด "SCI+BUSINESS" หรือ "นักวิทย์คิดประกอบการ"โดยมุ่งสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีความสามารถในการประกอบการอย่างชาญฉลาด เป็นบัณฑิตศตวรรษใหม่ที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และผลักดันผลงานเข้าสู่วงการธุรกิจได้ ไม่ใช่นักวิจัยที่อยู่เพียงแต่ในห้องทดลองเท่านั้น ผ่านการผนวกรวมองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการบริหารธุรกิจเข้าด้วยกัน โดยที่ผ่านมา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถผลิตบัณฑิตวิทยาศาสตร์ได้เป็นจำนวนกว่า 8 พันคน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการพัฒนานวัตกรรมและต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์จำนวนมาก อาทิ"ปลาส้มอบแผ่นปรุงรสสำเร็จรูป" ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวจากปลาส้ม อุดมไปด้วยโปรตีนสูงแต่ไขมันต่ำ "วัสดุกักเก็บน้ำมัน นวัตกรรมจากน้ำยางพารา" เพื่อช่วยแก้ปัญหาเมื่อเกิดสถานการณ์น้ำมันรั่วไหลได้อย่างมีประสิทธิภาพ "ข้าวหอมมะลิธรรมศาสตร์" ข้าวสายพันธุ์ใหม่คุณภาพดี ที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ทนแล้ง และต้านทานโรค รวมไปถึงงานวิจัยที่พร้อมพัฒนาเป็น Start Up อาทิ จมูกอิเล็กทรอนิกส์สำหรับควบคุมคุณภาพอาหาร เครื่องพยากรณ์โรคต้นข้าวในนาข้าว สารย่อยสลายเศษพืชและฟางข้าว ระบบเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็กเพื่อผลิตปุ๋ยชีวภาพ ฯลฯ
รองศาสตราจารย์ วรภัทร ลัคนทินวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อการวิจัยขั้นสูง อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของผลไม้ไทย อาทิ ลำไย ทุเรียน มะพร้าว ชมพู่ฯลฯ อันถือเป็นพืชเศรษฐกิจหนึ่งที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ โดยในปี 2559 นี้ มีการส่งออกผลไม้สดไทยเป็นมูลค่ารวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท (ข้อมูลจาก กระทรวงพาณิชย์) โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังตลาดเป้าหมายหลักอย่าง ประเทศจีน และรองลงมา ได้แก่ ประเทศฮ่องกง และเวียดนาม แต่ในขณะเดียวกัน เกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้ไทย กลับสูญเสียเวลาและค่าใช้จ่ายไปกับการดูแลบำรุงดิน และปรับคุณภาพผลไม้ให้มีรสชาติอร่อยและสีผิวเรียบสวยทั้งนี้ เพื่อลดความสูญเสียของเวลาและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ตลอดจนสามารถส่งออกผลไม้แข่งขันเทียบกับตลาดต่างประเทศได้ ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. จึงได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ทั้งนวัตกรรมช่วยยืดอายุและเก็บรักษาความสดใหม่ของผลไม้ ฯลฯ เพื่อยกระดับรายได้แก่เกษตรกรไทยโดยการบูรณาการองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรมาปรับใช้ ก่อนต่อยอดสู่งานวิจัยและนวัตกรรมที่ใช้ได้จริงในหลากรูปแบบที่เอื้อประโยชน์ต่อภาคการเกษตรอย่างแท้จริง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
· นวัตกรรมกล่องเก็บลำไยสด ต่ออายุ Shelf life 120 วัน นวัตกรรม Active Packaging สำหรับลำไย ไม่รมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เพื่อการส่งออก เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับลำไยสด ที่ใช้เทคโนโลยีการบรรจุแบบดัดแปลงบรรยากาศ (Modified Atmosphere Packaging: MAP) และเทคโนโลยี Active and Intelligent Packing ที่ออกแบบขึ้นจำเพาะสำหรับลำไยสด และไม่ต้องรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) แต่สามารถเก็บรักษาได้นานถึง 4 เดือน โดยได้รับการรับรองมาตรฐานGMP และ HACCPs ซึ่งปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทั้งนี้ บรรจุภัณฑ์ชนิดนี้ ทางคณะวิจัยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัทเอกชนอย่าง บริษัท สยามเมอริทพลัส จำกัด เป็นที่เรียบร้อยแล้วอย่างไรก็ดี นวัตกรรมดังกล่าวได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณ ด้านผลงานประดิษฐ์คิดค้นจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในเวทีงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2559 และล่าสุดกับรางวัลสูงสุด เหรียญทองเกียรติยศจากเวทีประกวดนวัตกรรมนานาชาติครั้งที่ 44 ณกรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อเดือนเมษายน 2559 ที่ผ่านมา
· นวัตกรรมแพคเกจทุเรียนเก็บกลิ่น 100% นวัตกรรม Active Packaging สำหรับทุเรียนสด พร้อมบริโภค เพื่อการส่งออก เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับเก็บรักษาคุณภาพทุเรียนปอกเปลือกพร้อมบริโภคสดผ่านการใช้เทคโนโลยี Active ที่สามารถดูดซับกลิ่นทุเรียนได้ 100% โดยที่ตัวดูดซับจะทำการดูดซับกลิ่นของทุเรียนตลอดเวลา โดยพัฒนาให้เป็น Active carbon ที่จะไม่ปล่อยกลิ่นทุเรียนออกมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิการเก็บรักษาและการจัดจำหน่าย พร้อมกันนี้ ยังมีเทคโนโลยีIntelligent ที่สามารถตอบโต้กับผู้บริโภคได้ผ่าน ฉลากบ่งชี้ความสด (Freshness Indicator) โดยได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ ตามขนาดบรรจุ และฟิล์มที่เหมาะสมกับการเก็บรักษาและการจัดจำหน่าย ซึ่งสามารถเก็บรักษาความสดใหม่ของทุเรียนได้นานถึง 2 เดือน โดยได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP และ HACCPs ซึ่งปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าวได้รับรางวัลเหรียญทอง จากเวทีประกวดนวัตกรรมนานาชาติครั้งที่ 42 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา
· นวัตกรรมสร้างผิวมะพร้าวหอมควั่นให้ขาวใสก่อนการส่งออก นวัตกรรม สภาพบรรยากาศและฟิล์มที่เหมาะสมต่อการเก็บรักษามะพร้าวน้ำหอมควั่น ที่ผ่านกรรมวิธี Blanching เพื่อการส่งออก เทคโนโลยีการเก็บรักษามะพร้าวน้ำหอมควั่นด้วยการนำไปลวกด้วยไอน้ำร้อน (Blanching)ก่อนนำไปแช่ด้วยสารละลายโซเดียม เมตาไบซัลไฟต์ (Sodium Metabisulfite : SMS) ในปริมาณความเข้มข้นเพียง 0.9% และบรรจุลงในถุงฟิล์มที่ออกแบบขึ้นเฉพาะสำหรับมะพร้าวน้ำหอมควั่น ซึ่งจะช่วยยืดอายุและคงคุณภาพมะพร้าวน้ำหอมควั่นได้นานถึง 60 วัน นอกจากนี้ ยังมีผิวที่ขาวสะอาดและสวยสดกว่ามะพร้าวที่หุ้มด้วยฟิล์ม PVC ที่สามารถเก็บรักษาและวางจำหน่ายได้เพียง 30-45 วัน
· นวัตกรรมเพิ่มลูกดกให้มะพร้าวออกได้ออกดีตลอดทั้งปี เทคโนโลยีการเพิ่มผลิตผลของมะพร้าวให้ออกผลตลอดปี ด้วยเทคนิคการผสมเกสรสด เป็นการนำเกสรตัวผู้มาล้างน้ำเกลือและบดให้เมล็ดแตก ผสมกับน้ำ 10 ลิตร เพื่อให้ละอองเกสรลอยผสมกัน จากนั้นจึงใส่ตะแกรงกรองน้ำใส่ถังฉีดพ่นที่มีสารละลายเกสรมะพร้าวก่อนนำไปฉีดพ่นที่ช่อดอก โดยเลือกช่อดอกเกสรตัวเมียที่มีในอายุประมาณ 2 ปีเนื่องจากมีความสมบูรณ์และพร้อมแก่การผสมเกสรจากนั้นจึงทำการฉีดสารละลายเพื่อล้างทำความสะอาดช่อดอกก่อน 1 ครั้ง แล้วตามด้วยการฉีดสารละลายเกสรมะพร้าวที่ผสมเกสรที่ช่อเกสรตัวเมียบนต้นมะพร้าว เพียงเท่านี้มะพร้าวที่เคยติดผลเพียง 5-10% จะติดผลเพิ่มสูงขึ้นเป็น 80% โดยไม่ทิ้งสารตกค้าง และส่งผลกระทบต่อรสชาติหรือตัวลำต้น โดยที่ผ่านมา นวัตกรรมดังกล่าว ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนำร่องใช้จริง ณ พื้นที่เกษตรในหลายจังหวัด อาทิ ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม เพชรบุรี และสุราษฎร์ธานี ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตจากเดิมหางละ 10 ลูกเป็น 15-17 ลูก
· นวัตกรรมถุงห่อชมพู่ หวานแน่ กรอบนาน นวัตกรรม Active Baggingสำหรับห่อชมพู่ทับทิมจันท์ เพื่อการส่งออกโดยการใช้ถุงห่อกันร้อนสำหรับผลชมพู่ ที่จะช่วยเร่งสีชมพู่ให้สวยสดและหวานกรอบ ก่อนการส่งออกหรือวางขายในท้องตลาด ด้วยการนำฉนวนกันร้อนชนิดโฟมที่มีความหนา 2 มิลลิเมตร มาตัดเย็บเป็นถุงในขนาดที่สามารถห่อผลชมพู่ โดยที่ด้านบนเย็บผ้าตีนตุ๊กแก เพื่อให้สามารถพับติดได้ง่าย ส่วนก้นถุงใช้เชือกด้ายดิบร้อยไว้ด้านใน โดยปล่อยให้ปลายเชือกออกมาด้านนอกในความยาวด้านละ 5 นิ้ว เพื่อทำหน้าที่ดูดซับและระบายน้ำออกจากถุงซึ่งจากผลการทดลองพบว่า ชมพู่ที่ห่อด้วยถุงกันร้อน จะมีผิวมันวาว สีแดงสด และมีรสชาติหวานกรอบกว่าชมพู่ที่ห่อด้วยถุงปกติ อย่างไรก็ดีนวัตกรรมดังกล่าว ยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้นานถึง 10 ปี เพียงนำมาล้างและผึ่งให้แห้งหลังการใช้ ขณะเดียวกัน ก่อนนำไปใช้สามารถฉีดพ่นสารกันเชื้อราเคลือบด้านในถุง เพื่อล่นระยะเวลาของเกษตรกรในการฉีดพ่นยากันเชื้อรา เพลี้ยแป้ง และแมลงที่มาตอมผลชมพู่
นอกจากนี้ ทางคณะวิจัยยังมีนวัตกรรมสำหรับผลไม้เพื่อการส่งออก ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตของเกษตรกร ตลอดจนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ในอนาคต อาทิ นวัตกรรมปอกเปลือกมะพร้าว เครื่องปอกเปลือกมะพร้าวแบบเร็วด่วนถึง 5 ผลภายใน 1 นาที โดยไม่ต้องใช้แรงงานคน นวัตกรรมลดกลิ่นและลดการแตกของผลทุเรียน เทคนิคการเคลือบผลทุเรียนด้วยเส้นใยจากพืช ช่วยลดการแพร่กระจายกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์และป้องกันการแตกของผลได้ดี โดยที่คุณภาพของเนื้อทุเรียนยังคงความอร่อย นวัตกรรม Active Packaging สำหรับลองกองสด เทคโนโลยีการเก็บรักษาคุณภาพลองกองสดด้วย Active packaging ที่ช่วยยืดอายุได้นานถึง 30 วัน โดยที่ผลลองกองไม่หลุดออกจากขั้ว นวัตกรรม Active Packaging เงาะโรงเรียนสด เทคโนโลยีการเก็บรักษาคุณภาพเงาะสดด้วย Active packaging ที่ช่วยยืดอายุได้นานถึง 25 วัน โดยที่คุณภาพทั้งภายนอกและภายในยังเป็นที่พอใจของผู้บริโภค และ นวัตกรรมแถบบ่งชี้ความสดของมะพร้าวน้ำหอม เทคโนโลยีฉลาดที่ช่วยติดตามคุณภาพ ความสด และการเน่าเสียของมะพร้าวน้ำหอมควั่นได้โดยไม่ต้องเปิดผลก่อน รองศาสตราจารย์ วรภัทร กล่าว
สำหรับเกษตรกร ชาวสวน และผู้ประกอบการที่สนใจ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 0-2564-4491หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ http://www.sci.tu.ac.th