กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--มาสเตอร์โพลล์
มาสเตอร์โพลล์ เผยแกนนำชุมชนส่วนใหญ่มีความเข้าใจและยอมรับทุกประเด็นร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มมากขึ้น และเชื่อว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองเก่าไม่ส่งผลกระทบต่อการลงประชามติ
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง คนไทยเข้าใจรัฐธรรมนูญแล้วหรือยัง :กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,104 ชุมชน จาก 26 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ พะเยา นครสวรรค์ ตาก อุตรดิตถ์ อ่างทอง ลพบุรี จันทบุรี นครนายก กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร ชัยภูมิ นครราชสีมา สุรินทร์ อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ เลย หนองคาย สกลนคร อุดรธานี นครศรีธรรมราช ระนอง ตรัง ยะลา โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายขั้น (Stratified Multi-Stage Sampling) จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ดำเนินโครงการในวันที่ 1-6 กรกฎาคม 2559
ผลสำรวจการรับรู้รับทราบของประชาชนต่อการลงประชามติ พบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนเกือบร้อยละร้อย (ร้อยละ 97.6) ระบุทราบมาก่อนแล้วว่าจะมีการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ร้อยละ 96.7 ระบุทราบจากรายการเดินหน้าประเทศไทย ร้อยละ 85.8 ระบุทราบจากรายการคืนความสุขให้คนในชาติ และ ร้อยละ 76.7 ระบุทราบจากเจ้าหน้าที่ทหาร/หน่วยทหารในพื้นที่ ตามลำดับ (พิจารณารายละเอียดในตารางที่ 1- 2)
ผลสำรวจพบประเด็นที่น่าสนใจคือเมื่อสอบถามถึงการมีโอกาสในการอ่าน/ติดตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนประมาณ 2 ใน 3 ระบุเคยอ่านมาบ้างแล้ว ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่พบว่ามีตัวอย่างเพียงประมาณร้อยละ 20 เท่านั้นที่ระบุเคยอ่านร่างรัฐธรรมนูญ (พิจารณารายละเอียดในตารางที่ 3)
เช่นเดียวกันกับผลสำรวจการยอมรับต่อประเด็นสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญที่พบว่าสัดส่วนของแกนนำชุมชนที่ยอมรับประเด็นสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกประเด็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็น "ความเป็นสากลที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย" ที่พบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 93.6 ระบุยอมรับ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่มีอยู่ร้อยละ 85.0 (พิจารณารายละเอียดในตารางที่ 4)
นอกจากประเด็นสำคัญดังที่กล่าวไปแล้วนั้น ผลการสำรวจในครั้งนี้ยังพบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่ คือร้อยละ 93.5 ระบุเห็นด้วยว่าการทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นหนทางไปสู่ประชาธิปไตย และมากกกว่าครึ่งหนึ่งคือร้อยละ 65.7 ระบุไม่รู้สึกกังวลกรณีที่มีกลุ่มการเมืองเก่าออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการลงประชามติ ในขณะที่ประมาณ 1ใน 3 หรือร้อยละ 34.3 ระบุรู้สึกกังวลในเรื่องนี้ (พิจารณารายละเอียดในตารางที่ 5-6)
สำหรับประเด็นความมั่นใจเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของการลงประชามตินั้นพบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่คือ ร้อยละ 84.5 ระบุมั่นใจว่าการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคมนี้ จะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย และยังพบว่ามากกว่าร้อยละ 90 เห็นด้วยกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่บอกว่าถ้าทำประชามติไม่ผ่านก็ทำใหม่ เพราะอย่างไรก็ต้องมีการเลือกตั้ง ในขณะที่ร้อยละ 7.8 ระบุไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ถ้าครั้งแรกที่ประชาชนไม่ยอมรับครั้งต่อไป ก็ยากที่จะยอมรับ/น่าจะมีทางออกที่ดีกว่านี้ / ทุกอย่างก็จะล่าช้าออกไป/การเลือกตั้งจะทำตอนไหนก็ได้ ประชาชนพร้อมให้ความร่วมมือ รวมถึงคิดว่าการเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องทำประชามติก็ได้ (พิจารณารายละเอียดในตารางที่ 7-8)
อย่างไรก็ตาม แกนนำชุมชนร้อยละ 69.2 คิดว่าการลงประชามติในครั้งนี้ "น่าจะผ่าน" ในขณะที่ร้อยละ 6.0 ระบุคิดว่าไม่ผ่าน และร้อยละ 24.8 ระบุยังไม่แน่ใจ และพบว่าสัดส่วนของแกนนำชุมชนที่มีข้อมูลเพียงพอที่จะตัดสินใจได้แล้วนั้นมีอยู่ถึงร้อยละ 70.0 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตัวจากการสำรวจเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีอยู่ร้อยละ 24.2 (พิจารณารายละเอียดในตารางที่ 9 -10)
ประเด็นสำคัญสุดท้าย คือเมื่อสอบถามถึงการตัดสินใจของแกนนำชุมชนหากว่าวันนี้เป็นวันลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ พบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 91.7 ระบุคิดว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญ (ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อเดือนมีนาคมที่มีอยู่ร้อยละ 70.0) โดยให้เหตุผลว่า เพื่อความสงบสุขของประเทศ/รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีประโยชน์กับประชาชน/เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีช่วยพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น และเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำเพื่อประชาชนและประชาชนมีส่วนร่วมทำให้ประชาชนมีความพึงพอใจ (พิจารณารายละเอียดในตารางที่ 11)
นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านสื่อสารองค์กร ได้แสดงทรรศนะเกี่ยวกับผลสำรวจครั้งนี้ว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่ ที่เห็นด้วยกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่บอกว่าถ้าทำประชามติไม่ผ่านก็ทำใหม่ เพราะอย่างไรก็ต้องมีการเลือกตั้ง ถือเป็นแนวโน้มที่ดีที่ประชาชนมีความต้องการให้ประเทศก้าวสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว และแม้จะเหลือร้อยละ 7.8 จะไม่เห็นด้วยนั้น ถือเป็นหน้าที่หลักของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรเร่งรัดดำเนินการรณรงค์และประชาสัมพันธ์การลงประชามติให้เพิ่มมากขึ้นและทั่วถึง โดยการนำเสนอเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญอย่างละเอียด ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในการตัดสินใจลงประชามติ นอกจากนี้ มองว่า การตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 นั้น ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินการลงประชามติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้นด้วย
คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 86.6 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 13.4 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 7.1 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 26.7 ระบุอายุ 40-49 ปีและร้อยละ 66.2 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้น ไป ทั้งนี้ เมื่อ พิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 32.4 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 45.0 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 5.9 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. และร้อยละ 16.7สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ
ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 71.9 มีอาชีพประจำคือเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 14.0 ระบุประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ในขณะที่ร้อยละ 14.1 ระบุมีอาชีพอื่นๆ อาทิ ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัวพบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 9.3 ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 19.5 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,001–15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 28.2 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 43.0 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามรายภูมิภาคพบว่าตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 34.0 อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือร้อยละ 25.4 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ร้อยละ 18.4 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ร้อยละ 13.5 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ในขณะที่ร้อยละ 8.7 ระบุอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามลำดับ