กรุงเทพ--15 ก.พ.--บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด
นางนงราม วงษ์วานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าแผนการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2543 จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนแผนธุรกิจของตลาดหลักทรัพย์ และสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกาภิวัตน์ โดยมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานและการให้บริการให้ตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุน และ ผู้ใช้บริการ แยกตามประเภทบริการของบริษัท ได้ดังนี้
ด้านงานบริการรับฝากหลักทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บ. ศูนย์รับฝากฯ กล่าวว่าบริษัทมีแผนงานเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการรับฝากหลักทรัพย์ให้ผู้ใช้บริการเกิดความมั่นใจ และได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว ตรงตามความต้องการ โดยนำเทคโนโลยีทันสมัยมาช่วยทั้งในด้านโครงสร้างของระบบไอที และระบบข้อมูล, ปรับปรุงและพัฒนาระบบการตรวจสอบการจัดสรรสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างด้าว, ศึกษาความเป็นไปได้ในการรับฝากหลักทรัพย์จากผู้ถือหุ้นรายย่อยและบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ เพื่อกระตุ้นสัดส่วนการฝากหลักทรัพย์ในระบบ Scripless ให้สูงขึ้น
"ด้านงานให้บริการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ บริษัทฯ ในฐานะสำนักหักบัญชี ให้ความสำคัญกับการพัฒนามาตรการบริหารความเสี่ยงมาโดยตลอด และในปี 2543 บริษัทฯ มีแผนจัดทำมาตรการบริหารความเสี่ยงแบบเตือนล่วงหน้า (Early Warning System) และการพัฒนาแบบจำลองการบริหารความเสี่ยง (Financial Surveillance System) เพื่อติดตามการทำธุรกรรมของสมาชิกในส่วนที่เกี่ยวกับการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ อันจะช่วยลดความเสี่ยงและสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการนอกจากนี้ บริษัทฯ ยังศึกษาเพื่อพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงในการทำหน้าที่ชำระราคาและส่งมอบตราสารแบบอื่น ๆ ที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ ตราสารอนุพันธ์ และ ตราสารหนี้ ซึ่งมีวิธีการบริหารความเสี่ยงที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากระบบที่ใช้ในปัจจุบัน" นางนงรามกล่าว
นอกจากนี้แผนงานพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงข้างต้น บริษัทฯ ยังมีแผนงานเพิ่มประสิทธิภาพความรวดเร็วในการให้บริการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ โดยนำแนวคิด Real Delivery Versus Payment (Real DVP) หรือ การส่งมอบเงินหรือหุ้นเวลาเดียวกันมาประยุกต์ใช้กับระบบปัจจุบัน โดยจะศึกษาขั้นตอน วิธีการ ปัญหาที่พบในการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ระหว่างสมาชิก, การศึกษาแนวคิด Straight Through Processing ที่จะทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ในทุกขั้นตอนได้มาตรฐานเดียวกัน พิจารณาแนวทางการลดระยะเวลาส่งมอบหลักทรัพย์ จาก T+3 เป็น T+2
สำหรับงานนายทะเบียนหลักทรัพย์ บริษัทฯ มีแผนเปิดให้บริการโอนเงินปันผลผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้น และดึงดูดให้บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแผนการศึกษาความเป็นไปได้ในการทำหน้าที่เป็น Paying Agent เพื่อให้บริการก่อนและภายหลังการจ่ายสิทธิประโยชน์ทางการเงินแทนบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ , แผนงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนหุ้นกู้, การปรับปรุงระบบฐานข้อมูลผู้ถือหุ้นให้มีรูปแบบการรายงานที่ครบถ้วนตรงตามความต้องการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสามารถคาดการณ์การลงทุนของผู้ลงทุนได้
ด้านการให้บริการสนับสนุนอื่น ๆ นางนงรามกล่าวสรุปว่าเพื่อเตรียมความพร้อมให้บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ ก้าวสู่มาตรฐานสากลในสหัสวรรษใหม่ บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีขีดความสามารถพร้อมสำหรับการแข่งขันและการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น ทั้งด้านความรู้ความชำนาญเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ ภาษาต่างประเทศ, แผนพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับระบบงานต่าง ๆ ทั้งระบบงานหลัก และระบบงานสนับสนุนทั่วทั้งองค์กรให้สะดวกในการติดต่อกับสถาบันต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีแผนจัดตั้งหน่วยงานลูกค้าสัมพันธ์เพื่อเป็นศูนย์กลางติดต่อและศูนย์บริการข้อมูลที่อำนวยประโยชน์และความสะดวกแก่ลูกค้าอย่างเต็มที่อีกด้วย--จบ--