กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,131 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 13 - 16 กรกฎาคม 2559 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ทางศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ต้องการสะท้อนความคิดเห็นในเรื่องวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ซึ่งปัจจุบันคนในสังคมส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญทางพุทธศาสนาอยู่ในระดับใด ซึ่งในปีนี้วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา รัฐบาลได้ประกาศเป็นช่วงหยุดยาวจะกระทบต่อพฤติกรรมในการเข้าวัดของประชาชนหรือไม่ และเรื่องราวของวัดพระธรรมกายจะทำให้คนพุทธให้ความสำคัญกับพระพุทธศาสนาน้อยลงหรือไม่ ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ จะไปเข้าวัดในวันอาสาฬหบูชา ร้อยละ 49.7 ในส่วนของไม่ไปวัด ร้อยละ 25.3 และยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 25.0
และทราบว่าวันอาสาฬหบูชาเป็นวันแรกที่มีพระรัตนตรัยคือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ การไปเวียนเทียนกับบุคคลของรัฐบาล ร้อยละ 58.8 ทราบว่า อัญญาโกณฑัญญะเป็นพระสงฆ์รูปแรกของในโลก ร้อยละ 52.3 และทราบว่าวันอาสาฬหบูชาเป็นวันแรกที่พระสงฆ์เกิดขึ้นในโลก ร้อยละ 54.1
ในส่วนของวันเข้าพรรษา ทราบว่าวันเข้าพรรษาเป็นวันแรกที่พระภิกษุจะต้องอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน ร้อยละ 66.6 ทราบว่าวันเข้าพรรษาท่านสามารถถวายเทียนพรรษา ร้อยละ 69.5 และคิดว่าจะไปวัดในวันเข้าพรรษาร้อยละ 51.4
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากไปเวียนเทียนกับใครในรัฐบาล ผลที่ออกมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 39.0 อันดับสองคือ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ร้อยละ 10.2 อันดันที่สามคือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ร้อยละ 6.5 อันดับที่สี่คือ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ร้อยละ 5.0 และอันดับที่ห้าคือ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ร้อยละ 4.0 โดยมีผู้ตอบว่าจะไม่ไปเวียนเทียน ร้อยละ 19.5
และในส่วนของเรื่องวัดพระธรรมกาย ทำให้คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับศาสนาพุทธน้อยลง ร้อยละ 46.6 ไม่คิดว่าใช่ ร้อยละ 35.9 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 17.5 แต่ในส่วนของความคิดเห็นส่วนตัวของกลุ่มตัวอย่างไม่คิดว่าเรื่องวัดพระธรรมกาย จะทำให้ความสำคัญของศาสนาพุทธน้อยลง ร้อยละ 42.7