กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--สำนักงาน กปร.
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งพระราชวงศ์จักรีของไทย ทรงสร้างบันทึกประวัติศาสตร์ใหม่ขึ้นด้วยการเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวนาน ที่สุดในโลก
ในวโรกาสที่พระองค์ทรงครองราชสมบัติครบ 70 ปี ไม่เพียงแต่เป็นวาระที่คนไทยทั้งชาติจะร่วมกันเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ แต่ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ปรากฏต่อปวงชนชาวไทยนั้น ยังเป็นที่ประจักษ์ต่อนานาอารยะประเทศด้วยเช่นกัน ดังปรากฏเป็นคำกล่าวยกย่องพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จากชาวโลกว่า "ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา" พระองค์ทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรที่ยากไร้และด้อยโอกาสทั่วทุกภูมิภาค รวมถึงได้พระราชทานพระราชดำริแนวทางการดำรงชีพ เพื่อให้ประชาชนของพระองค์สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตามปรัชญาของ "เศรษฐกิจพอเพียง" โดยเน้นหลักการความพอประมาณท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากกระแสโลกาภิวัตน์
จากพระปฐมบรมราชโองการ "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้คำมั่นไว้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 และตลอดระยะเวลา 70 ปี แห่งการครองราชย์ไม่มีวันใดที่จะทรงละทิ้งประชาชนของพระองค์ ไม่มีผืนแผ่นดินใดในประเทศไทย ที่พระองค์มิได้เสด็จฯ ไปเยี่ยมเยือน ไม่ว่าจะลำบากยากเย็นสักเพียงไร ก็ทรงทุ่มเทพระวรกาย ด้วยพระวิริยอุตสาหะ เพื่อแสวงหาทางขจัดทุกข์สร้างสุขให้กับประชาชน แม้ขณะทรงพระประชวรมิได้เสด็จพระราชดำเนินอย่างเช่นเมื่อก่อนแต่พระองค์ก็ไม่ทรงหยุดคิดหยุดเป็นห่วงประชาชนของพระองค์ พระองค์ยังทรงงานเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยตราบเท่าทุกวันนี้
ย้อนอดีตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ระยะเวลา 25 ปี หลังจากนั้นมีเพียง 13 ประเทศทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา ไทยเป็นหนึ่งในนั้นสามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้หลายล้านคน แต่ในความสำเร็จนั้นก็แลกมาด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่มีการพัฒนาที่ทั่วถึง สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ความเจริญที่ไม่สมดุลของเมืองกับชนบท
ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา
ซึ่งเป็นยุคการเจริญเติบโตที่มหัศจรรย์ แต่หาความมั่นคงและยั่งยืนไม่ได้ และระหว่างการเจริญเติบโตที่หาความยั่งยืนไม่ได้นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อสร้างความเจริญให้ทั่วถึง ทรงมีพระราชดำริเสมอมาเกี่ยวกับความมั่นคงและยั่งยืน พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นแห่งแรกที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ฉะเชิงเทรา และพัฒนาต่อเนื่องไปตามภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรให้ราษฎรได้เรียนรู้ พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ฟื้นชีพให้ดินที่แห้งแล้งกลับมามีชีวิตชีวาใหม่อีกครั้ง เพื่อทำการเกษตรอย่างยั่งยืน
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ นับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการหนึ่ง ที่มีส่วนสำคัญในการเป็นศูนย์กลางต้นแบบแห่งความสำเร็จตามแนวพระราชดำริ หลังจากที่ทรงศึกษา ค้นคว้า ทดลองและเกิดผลเป็นที่ประจักษ์ให้ราษฎรได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้ลงมือปฏิบัติจริง แล้วนำไปประยุกต์พัฒนาตามความเหมาะสมในพื้นที่ของตนเองในแต่ละภูมิภาค เสริมสร้างอาชีพก่อเกิดรายได้ของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่นั้นๆ อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมีทั้งหมด 6 ศูนย์ กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ
ทั้ง 6 ศูนย์ฯ มีองค์ความรู้ที่แตกต่างกัน เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนในภูมิภาคนั้นๆ จะทำหน้าที่เสมือน
"พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" หรืออีกนัยหนึ่งเป็น "สรุปผลของการพัฒนา" ที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฎิบัติได้จริง
ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ เหล่านั้นยังอยู่มาถึงทุกวันนี้ ภายใต้การประสานงานและกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) รวมถึงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกกว่า 4,400 โครงการ
โดยสำนักงาน กปร. ได้สนับสนุนงบประมาณในการศึกษาวิจัย ถอดแบบ ทดลอง พร้อมทั้งเผยแพร่ ศาสตร์แห่งการบริหารที่สามารถจัดการแก้ไขทุกช่องโหว่ของปัญหาสู่ประชาชนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงภาคการเกษตรภายในประเทศเท่านั้น
ปัจจุบันยังได้มีการแบ่งปันองค์ความรู้นี้ไปสู่ประเทศสมาชิกในกลุ่ม "จี 77" ซึ่งปีนี้ประเทศไทยได้เป็นประธาน โดยแนวทางในการดำเนินงานที่น้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการ จะถูกนำมาเป็นแม่แบบในการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนา ตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชน ไปจนถึงประเทศของกลุ่มประเทศ จี 77 ด้วย โดยสำนักงาน กปร. ได้ให้การต้อนรับและนำคณะผู้นำจากกลุ่มประเทศ จี 77 เดินทางเข้าศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการร่วมจัดงาน ฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2559 ถึง 9 มิถุนายน 2560 ในฐานะหน่วนงานที่ทำหน้าที่ประสานงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ทั้งนี้ เพื่อร่วมสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงต้องการให้ราษฎรชาวไทยและทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของประชาชนคนไทยทั่วทั้งประเทศ