อย.เปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นการติดฉลากอาหาร GMOs

ข่าวทั่วไป Monday July 30, 2001 17:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ก.ค.--อย.
อย.ร่างประกาศการติดฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคการตัดแต่งพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรมแล้วเสร็จ เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศฯ ให้สมบูรณ์ให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด
น.พ.วิชัย โชควิวัฒน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงต่อผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับกรณีการติดฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคการตัดแต่งพันธุกรรมว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณากำหนดแนวทางการแสดงฉลากอาหารที่ได้จากการตัดแต่งสารพันธุกรรม เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่งคณะทำงานฯ ได้ประชุมพิจารณากันแล้วหลายครั้ง โดยยึดหลักการในการให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ เพิ่มภาระเท่าที่จำเป็น โดยไม่กระทบต่อผู้ผลิตผู้จำหน่ายรายย่อย และให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หน่วยงานตรวจพิสูจน์ หน่วยงานกำกับดูแลและตรวจสอบ สามารถรับภาระที่เพิ่มขึ้นมากได้ ตลอดจนไม่มีการให้ข้อมูลที่ผิด หรือหลอกลวงผู้บริโภคโดยใช้แนวทางของประเทศญี่ปุ่นมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ของประเทศไทย จนในที่สุดได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง "การติดฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคการตัดแต่งพันธุกรรมหริอพันธุวิศวกรรม" แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2544 จากนั้นได้นำเสนอร่างดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาความปลอดภัยของอาหารที่ได้จากากการตัดแต่งพันธุกรรม เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2544 ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงสาระบางประการ ที่สำคัญ คือ การกำหนดปริมาณที่ยอมให้มีสารตัดแต่งพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรมปะปนในอาหารโดยไม่ต้องบังคับให้ติดฉลากเป็น 5%และตัดสินใจเรื่องระยะเวลามีผลใช้บังคับ คือ 1 ปี รวมทั้งพิจารณารายการอาหารที่ต้องมีการติดฉลากรวม 24 รายการ
อนึ่ง ประกาศนี้จะบังคับใช้เฉพาะกับผู้ผลิตและนำเข้าอาหารที่จำหน่ายในประเทศ สำหรับผู้ผลิตเพื่อส่งออกจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้าแต่ละประเทศ ซึ่งมีข้อกำหนดแตกต่างกันไป
เลขาธิการฯ น.พ.วิชัย โชควิวัฒน กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวได้รับการพิจารณาจากทุกฝ่ายและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค อย.ได้เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้สื่อมวลชนทุกแขนงเผยแพร่ร่างประกาศฯ ดังกล่าวให้ประชาชนรับทราบอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าจะมีการลงตีพิมพ์ร่างประกาศฯ และแบบแสดงความคิดเห็นในหนังสือพิมพ์ และใส่ข้อมูลในเวบไซต์ของ อย. www.fda.moph.go.th นอกจากนี้ จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นโดยการประชุมสัมมนาที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ในวันที่ 5 กันยายน 2544 เวลา 9.00-16.30 น. อีกด้วย จึงขอเชิญทุกฝ่ายที่ต้องการแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวโปรดส่งข้อคิดเห็นมายังกองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ถ.ติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อย.จะมีการประมวลความคิดเห็นเสนอคณะอนุกรรมการฯ สรุปแก้ไขร่างประกาศฯ อีกครั้ง ภายในเดือนตุลาคม 2544 เพื่อให้ทันตามกำหนดการที่กำหนดไว้ คือ เสนอให้คณะกรรมการอาหารพิจารณาภายในเดือนพฤศจิกายน 2544 เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาได้ภายในเดือนธันวาคม 2544 นี้
(ร่าง)
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข
(ฉบับที่...) พ.ศ....
เรื่อง การแสดงฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคการตัดแต่งพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรม
เพื่อเป็นการให้ข้อมูลต่อผู้บริโภคสำหรับการแสดงฉลากอาหารตัดแต่งพันธุกรรม อาศัยอำนาจตามมาตรา 5 และมาตรา 6(10) แห่งราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 อันเป็นพระราชบัญญัติทีมีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 35 มาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูธแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด ที่ได้จากเทคนิคการตัดแต่งพันธุกรรม (Genetic modification) หรือพันธุวิศวกรรม (Genetic engineering) เป็นอาหารที่ต้องมีฉลาก
ข้อ 2 อาหารตามข้อ 1 หมายความว่า ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง ข้าวโพดและผลิตภัณฑ์ข้าวโพด ตามรายชื่อในบัญชีแนบท้ายประกาศนี้ ที่มีสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) หรือโปรตีนที่เป็นผลจากการตัดแต่งพันธุกรรมนั้นอยู่ตั้งแต่ร้อยละ 5 ของแต่ละส่วนประกอบที่เป็นส่วนประกอบหลัก 3 อันดับแรก และแต่ละส่วนประกอบนั้นมีปริมาณตั้งแต่ร้อยละ 5 ของน้ำหนักผลิตภัณฑ์
ข้อ 3 การแสดงฉลากของอาหารตามข้อ 1 ให้ปฏิบัติ ดังนี้
3.1 ให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องอาหารนั้นๆ
3.2 ให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ.2543เรื่องฉลากเว้นแต่การใช้ชื่ออาหารตาม (1) และในส่วนของการแสดงส่วนประกอบตาม (5) ของข้อ 3 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว ดังนี้
(ก) ให้แสดงข้อความว่า "ตัดแต่งพันธุกรรม" ประกอบชื่ออาหารตามข้อ 1 ที่มีส่วนประกอบสำคัญเพียงชนิดเดียว เช่น ข้อความว่า "ข้าวโพดตัดแต่งพันธุกรรม" "เต้าหู้แช่แข็งผลิตจากถั่วเหลืองตัดแต่งพันธุกรรม" เป็นต้น
(ข) ให้แสดงข้อความว่า "ตัดแต่งพันธุกรรม" ในส่วนประกอบหลัก 3 อันดับแรกที่ใช้อาหารตามข้อ 1 ไว้ท้ายหรือใต้ชื่อส่วนประกอบนั้น ๆ ตามแต่กรณี เช่น ข้อความว่า "แป้งข้าวโพดตัดแต่งพันธุกรรม" เป็นต้น
การแสดงข้อความดังกล่าวข้างต้นให้แสดงด้วยตัวอักษรที่อ่านได้ชัดเจน มีขนาดสัมพันธ์กับขนาดของพื้นที่ฉลาก
ข้อ 4 ประกาศฉบับนี้ไม่ใช้บังคับกับผู้ผลิตรายการย่อยที่จำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง
ข้อ 5 เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดเกี่ยวกับการแสดงฉลากอาหารตามประกาศนี้ห้ามใช้ข้อความว่า "ปลอดจากอาหารตัดแต่งพันธุกรรม"หรือ"ไม่ใช่อาหารตัดแต่งพันธุกรรม" หรือ "ไม่มีส่วนประกอบของอาหารตัดแต่งพันธุกรรม" หรือ "มีการคัดหรือส่วนประกอบที่มีการตัดแต่งสารพันธุกรรมออก" หรือข้อความอื่นในทำนองเดียวกัน
ข้อ 6 ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่
บัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่...) พ.ศ.2544
เรื่อง การแสดงฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคตัดแต่งพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรม
1. ถั่วเหลือง
2. เต้าหู้ เต้าหู้ทอดน้ำมัน
3. เต้าหู้แช่แข็ง กากเต้าหู้ (ฟองเต้าหู้และผลิตภัณฑ์)
4. ถั่วหมัก (natto)
5. นมถั่วเหลือง
6. เต้าเจี้ยว (miso)
7. ถั่วเหลืองสุก (cooked soybean)
8. ถั่วเหลืองบรรจุขวดหรือบรรจุกระป๋อง (canned soybean) หรือบรรจุภัณฑ์อ่อนตัว (retort pouch)
9. แป้งถั่วเหลือง (roasted soybean flour)
10. ถั่วเหลืองคั่ว
11. อาหารที่มีอาหารตามข้อ 1-10 เป็นส่วนประกอบหลัก
12. อาหารที่มีแป้งถั่วเหลือง (soybean flour) เป็นส่วนประกอบหลัก
13. อาหารที่มีโปรตีนจากถั่วเหลือง (soybean protein) เป็นส่วนประกอบหลัก
14. อาหารที่มีถั่วเหลืองฝักอ่อนและยอดอ่อน (green soybean) เป็นส่วนประกอบหลัก
15. อาหารที่มีถั่วงอกที่ได้จากถั่วเหลืองเป็นองค์ประกอบหลัก
16. ข้าวโพด
17. ขนมขบเคี้ยวที่ผลิตโดยใช้ข้าวโพดเป็นส่วนประกอบหลัก
18. แป้งข้าวโพด (corn flour)
19. ป๊อปคอร์น (pop corn)
20. ข้าวโพดแช่เยือกแข็ง (freeze) หรือแช่เย็น (chill)
21. ข้าวโพดบรรจุขวดหรือกระป๋อง (oanned corn) หรือบรรจุในบรรจุภัณฑ์อ่อนตัว (retort pouch)
22. อาหารที่มีแป้งข้าวโพดเป็นส่วนประกอบหลัก
23. อาหารที่มีข้าวโพดบดหยาบ (corn grits) เป็นส่วนประกอบหลัก
24. อาหารที่มีอาหารตามข้อ 16-21 เป็นส่วนประกอบหลัก--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ