ม.ศิลปากร เชิญชมงาน "ศิลปะ นาฏยลีลา ลักษณาศิลปากร" วันที่ 25-27 พ.ย.2544

ข่าวทั่วไป Wednesday November 21, 2001 14:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--ม.ศิลปากร
งานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมทบวงมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 4 "ศิลปะ นาฏยลีลา ลักษณาศิลปากร" วันที่ 25 - 27 พฤศจิกายน 2544
เนื่องในวโรกาส 120 พรรษาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว "สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า" มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับเกียรติจากทางทบวงมหาวิทยาลัยให้เป็นเจ้าภาพงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมทบวงมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 4 ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ จังหวันนครปฐม โดยมีชื่องานว่า "ศิลปะ นาฏยลีลา ลักษณาศิลปากร" ระหว่างวันที่ 25 - 27 พฤศจิกายน 2544
ในงานดังกล่าวจะมีการแสดงนาฎศิลป์ไทยทั้งแบบมาตรฐาน นาฏศิลป์ประยุกต์ ตลอดจนนาฏศิลป์และการละเล่นพื้นบ้านดั้งเดิม ในหลากหลายรูปแบบลีลา ทั้งนี้จากการประดิษฐ์ สร้างสรรค์ โดยนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศจำนวน 61 สถาบัน โดยมีชุดการแสดงกว่า 80 ชุด อาทิ:-
การแสดงจากภาคเหนือ
*การแสดง "สุธนู มยุรา วิจิตราหริภุญชัย" จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่...อันเป็น เรื่องราวของสุธนู หรือพระสุธนกับนางมยุรา (มโนห์รา) ซึ่งเป็นนิทานที่แพร่หลายในกลุ่มชนไต ทั้งล้านนา ล้านช้าง สิบสองปันนาโดยจินตนาการย้อนไปในอาณาจักรหริภุญชัย ที่นิทานเรื่องนี้เป็นที่รู้จัก
*การแสดง "ระบำตำนานประวัติศาสตร์สะเปาหงสหินลำปาง" จากวิทยาลัยโยนก เป็นการแสดงตำนานประวัติศาสตร์กู่เมืองลำปาง เริ่มแต่ยุคสมัยใช้พลองเป็นาอาวุธสำคัญ ตำนาน หงส์หิน ลำปางมาาจากวรรณกรรมของพระยาโลมะวิไลย กวีเอกแห่งราชสำนักนครลำปางในสมัย ร.4 เป็นพ่อครูเค้าของพญาพรหมโวหารกวีเอกของชาวไทยถิ่นเหนือ มณฑลพายัพ ตำนานหงส์หินลำปาง แต่งจากเค้านิยายสักกะทิป ปันนีชาดก ราว พ.ศ. 2396-2399 โดยกำหนดให้หงส์หินเป็นนกหัสดีลิงค์ มีงวงงาหัวเป็นช้าง ลีลาร่ายรำใช้พัดแทนแพนปีกหนูหางของช้าง นับเป็นลีลาสวยงามเข้าบรรยากาศตำนานเพลงเนื่องจากหงส์หัสดีลิงค์เป็นนกคู่ตำนานสร้างเมืองของพระฤาษีสร้างหริภุญไชย-เขลางค์ และมีประเพณีล่องสะเปามักประดิษฐ์เป็นรูปหงส์หิน ตำนานล่องสะเปา เป็นตำนานลอยประทีปรูปเรือโคมไฟ สืบแต่สมัยจามเทวีวงศ์ และการละเล่นระบำตำนานสะเปาหงส์หินผาหงส์จึงสะท้อนศิลปะตำนานในวิถีประเพณีสืบอดีตปัจจุบันคู่เมืองลำปางได้ดีชุดหนึ่ง
*การแสดงชุด "ม้าจกคอก" จากมหาวิทยาลัยพายัพ ...เป็นการละเล่นของชนกลุ่มน้อย ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ที่อยู่ในภาคเหนือ ซึ่งปกติการละเล่นชนิดนี้จะมีขึ้นก็ต่อเมื่อมีการรวมกลุ่มกัน ณ โอกาสต่างๆ เช่น การเฉลิมฉลองในหมู่บ้าน ผู้เล่นมักจะเป็นหนุ่ม สาว หลายคนและมักจะใช้ไม้ไผ่หรือไม้รวกที่มีขนาดเท่า ๆ กันเป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดง
การแสดงจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
*การแสดงชุด "ฟ้อนหมี่โคราช" จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ...เป็นการแสดงที่นำเอาขั้นตอนต่าง ๆ ในการทำหมี่โคราช ซึ่งเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อในแดนอำเภอพิมาย - โชคชัย - ครบุรี ที่มีความพิเศษ คือ เหนียวหนุ่ม เส้นไม่ขาดยุ่ย และมีรสชาดอร่อย การแสดงชุดนี้เป็นการสร้างสรรค์ เพื่อเผยแพร่ให้เห็นถึงความสวยงามในลีลาการทำหมี่ อันเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันงดงามของพื้นถิ่น
*การแสดงชุด "รำซิ่งงิ้วต่องต้อนอ้อนผู้สาว" จากวิทยาลัยสันตพล ซึ่งประยุกต์ ท่ารำ มาจากบทเพลงของ "บานเย็น รากแก่น" ...เป็นการผสมผสานระหว่างรำไทยอีสานพื้นบ้าน และรำซิ่งที่มีลักษณะรำที่บ่งบอกถึงการประยุกต์ท่ารำให้เข้ากับจังหวะที่ลงตัวและงดงาม
*การแสดง "รำตังหวาย" จากวิทยาลัยเทคโนโลยีราชธานี ...เป็นการแสดงพื้นบ้าน ที่มีต้นกำเนิดของการรำที่ตำบลบ้านเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เดิมเรียกว่า "ตั้งถวายฟ้อน รำถวาย" ต่อมาได้เรียกชื่อให้สั้นเข้าเป็น "รำตังหวาย" แรกเริ่มใช้รำเพื่อบวงสรวล เทวดาอารักษ์ประจำหมู่บ้าน เพื่อขอขมาผ่านแม่เฒ่าจ้ำ (ล่ม) เป็นผู้ติดต่อ โดยจัดตั้งเครื่องถวายสังเวยต่าง ๆ ต่อมาได้มีการนำเอารำตั้งหวายไปใช้ในการต้อนรับและในงานประเพณีต่าง ๆ
การแสดงจากภาคใต้
*การแสดง "ขี้หนอนร่อนรำ" จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ "ขี้หนอน" เป็นคำภาษาท้องถิ่นภาคใต้ มีความหมายตรงกับคำว่า "กินรี" หรือ "กินนร" ซึ่งเป็นสิ่งที่มีชีวิตที่ร่างกาย ท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นนก และมีความงดงามมาก มีทั้งเพศหญิง และเพศชายซึ่งกล่าวไว้ในตำนานพื้นบ้านเรื่องมโนราห์
*การแสดง "ระบำสทิงปุระ" จากมหาวิทยาลัยทักษิณ ...เป็นนาฏยประดิษฐ์ของ นักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลป์พัทลุง โดยได้จินตนาการท่ารำมาจากภาพจำหลักเทวรูปพระโพธิสัตย์ อวโลกิเตศวร เทวรูปพระนารายณ์ เทวรูปนางตาราและพิมพ์ดินดิบที่ค้นพบบริเวณลุ่มคาบสมุทร สทิงพระตลอดจนเมืองโบราณรอบทะเลสาบสงขลา มาประมวลเป็นท่ารำชุดนี้
*การแสดง "ระบำทอผ้ายกเมืองนครศรีธรรมราช" มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ...เป็นระบำที่ได้ประดิษฐ์ท่ารำขึ้นใหม่ จากวิถีชีวิตดั้งเดิม ...การทอผ้ายกเป็นอาชีพหลักอาชีพของชาวจังหวัด นครศรีธรรมราช วิธีการทอผ้ายกเมืองนครศรีธรรมราชจะเริ่มจาก การปั่นด้าย การเข้าราว การใส่พันหวี การหีบด้าย-ส่งด้าย การใส่หัวม้วน การทอ วิธีการทอผ้าในขั้นตอนทั้งหมดได้ถูกผสมผสานและประดิษฐ์ออกมาเป็นท่ารำได้อย่างงดงาม
การแสดงจากภาคกลาง
*การแสดง "เหล่าจอมนางบุราณอลังการ ศรีสัชนาลัย" จากวิทยาลัยเซาธ์อีสท์ บางกอก ออกแบบสร้างสรรค์ จากบทพระราชนิพนธ์ร้อยแก้ว เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ รัชกาลที่ 6 ซึ่งมีพระราชประสงค์ เพื่อให้เป็นแนวทางแก่ผู้ชำนาญในด้านโบราณคดีทีจะได้มีโอกาสพิจารณาและสันนิษฐานเกี่ยวกับเมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก กำแพงเพชร อีกทั้งเพื่อเป็นประโยชน์แก่ช่างไทยในการคิดจรรโลงการช่างต่าง ๆ ไว้เพื่อให้คนไทยได้ทราบว่าชาติไทยนั้นได้เป็นชาติรุ่งเรืองมาแต่โบราณกาล การแสดงชุดนี้จึงนำเอาสิ่งโบราณจากรูปปั้นปูนปั้นเทวรูปต่าง ๆ ที่ประดับตามโบราณสถานมารวมความอลังการ ความเจริญรุ่งเรืองของศิลปะในสมัยของเมืองศรีสัชนาลัยมาให้ชมกันถึงความงดงามและเก่าแก่
*การแสดงละครพูด เรื่อง "พี่นา" จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ละครพูดเรื่องนี้เป็นบทพระราชนิพนธ์ภาษาอังกฤษ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมี ม.ล.ปิ่น มาลากุล เป็นผู้ช่วยเรียบเรียงและแปล...ละครเรื่องนี้แปลจากเรื่อง "Sir Herbert s Reward" (A Comedietta in one Act) เป็นละครพูดชวนหัวองค์เดียวจากบทประพันธ์ของ Ditton Marsh (ชื่อที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ทรงใช้เป็นนามปากกาขณะทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ) และเป็นบทละครพระราชนิพนธ์ภาษาอังกฤษ ที่ถูกรวบรวมขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 120 ปี ฉลองพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2544
*การแสดง "วัฏฏกาลแห่งวัฏฏกรรม" จากมหาวิทยาลัยศิลปากร การแสดงที่จินตนาการ และสร้างสรรค์จากสำนึกในภาพแสดงของวงจรแห่งโลก และชีวิตที่ดำเนินไปท่ามกลางการวิงวอนร้องขอและศรัทธาที่ไม่รู้จบ บางขณะเป็นความงดงามของชีวิตแต่บางขณะก็เป็นภาพมายา ที่สมบูรณ์ แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นก็คือ ความหมายแห่งธรรมชาติที่แท้ในช่วงเวลาของการดำรงชีวิตอยู่ของหมู่ผู้คนในทุก ๆ เผ่าพันธุ์ (เป็นการแสดง...ที่ออกแบบการสร้างสรรค์ใหม่ในด้านดนตรีและการแสดง)
นอกเหนือจากการแสดงทางนาฏศิลป์... "ศิลปะ นาฏยลีลา ลักษณาศิลปากร" ยังมีการแสดงนิทรรศการศิลปะของนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศที่มีการเรียนการสอน ในด้านนี้กว่า 20 สถาบัน ...การสาธิตการทำภาพพิมพ์จากไม้ ...การสาธิตการสอนรูปเครื่องปั้นดินเผา การแข่งขันปริศนาร้อยกรอง (ผะหมี) ของนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา การประกวดการแต่งกายสมัยรัชกาลที่ 6 และการประกวดการแต่งกายเลียนแบบตัวละครในบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ชิงถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พร้อมทุนการศึกษาและเกียรติบัตร
ในฐานะเจ้าภาพ ...มหาวิทยาลัยศิลปากรในฐานะมหาวิทยาลัยที่มีรากฐานด้านการสอนในเชิงศิลปะเป็นแห่งแรกของประเทศ มีข้อตระหนักว่า "ศิลป คือชีวิตของวัฒนธรรม" ...เป็นศรัทธา อันงดงามที่มนุษย์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวิถีแห่งธรรมชาติ ตลอดจนพลังแห่งจินตนาการอันมีค่า ของชีวิต ...ศิลปะเป็นอำนาจอันบริสุทธ์ที่สามารถสั่นไหวจิตวิญญาณของมนุษย์ให้ได้สัมผัสกับลีลาแห่งการรับรู้ในวัฏจักรของโลกแห่งความเป็นไป ด้วยนัยของความเข้าใจและด้วยความรื่นรมย์ที่สามารถสร้างชีวิตให้เป็นชีวิต ...สร้างโลกให้เป็นโลก และสร้างสรรพสิ่งให้จรรโลงอยู่บนพื้นฐานของความอ่อนโยนและดีงาม
"ศิลปะ นาฏยลีลา ลักษณาศิลปากร" เปิดให้ผู้รักในงานศิลปะและผู้ที่สนใจทุกท่าน เข้าชม... และเสพย์ความบันเทิงโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ตลอดทั้ง 3 วัน
สนใจในรายละเอียดและต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะกรุณาติดต่อได้ที่ โทร.034-255805 และ 0-1736-9958--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ