กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--สวทช.
วันจันทร์ ที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ณ ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ : นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากร เป็นหน่วยงานหลักของรัฐ มีหน้าที่รับผิดชอบในการทำนุบำรุงรักษา อนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งเสริม สร้างสรรค์ และสืบทอดมรดกวัฒนธรรมของชาติให้ยั่งยืนอย่างสง่างามในงานอนุรักษ์มรดกไทย เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๗ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมผู้บริหารสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ทรงมีรับสั่งให้พัฒนารูปแบบงานพิพิธภัณฑ์ งานหอสมุด และงานหอจดหมายเหตุ ให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างมีมาตรฐาน โดยจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้มากยิ่งขึ้น ไปพร้อมกับการปรับปรุงระบบจัดเก็บเอกสารหายากให้สามารถสืบค้นและเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลได้กำหนดนโยบายการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งหนึ่งในยุทธศาสตร์ของนโยบายดังกล่าวได้มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องของศิลปวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ และพัฒนาความร่วมมือและความเชื่อมโยงด้านศิลปวัฒนธรรมกับประเทศอาเซียน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจในศิลปวัฒนธรรมอาเซียน
กรมศิลปากรได้มุ่งมั่นตั้งใจถ่ายทอดศิลปะวิทยาการต่างๆ ที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบส่งต่อให้แก่ คนรุ่นใหม่ที่มีหน้าที่จากรุ่นสู่รุ่นอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้กรมศิลปากรมีความน่าเชื่อถือและเป็นหลักของบ้านเมืองในการสร้างสรรค์ศิลปกรรมของชาติ ศาสนา และราชสำนัก กรมศิลปากรซึ่งได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามยุทธศาสตร์ที่ ๒ ของกรมศิลปากร คือ เน้นการพัฒนาระบบสารสนเทศเฉพาะด้านมรดกทางศิลปวัฒนธรรม โดยจัดทำ จัดหา หรือพัฒนาระบบสารสนเทศเฉพาะด้านให้ครอบคลุมทุกหน่วยงาน และเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการภายใต้ภารกิจหลักของแต่ละหน่วยงานอย่างแท้จริง โดยคำนึงถึงภารกิจร่วมที่คล้ายคลึงกัน ที่จะสามารถนำระบบที่พัฒนาขึ้นมาใช้ร่วมกัน เพื่อให้หลักการใช้ทรัพยากรสารสนเทศมีความคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพสูงสุด
ตามที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ได้ริเริ่มจัดทำโครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกล เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม- ราชกุมารี ในวโรกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ขนาดใหญ่ เพื่อให้ได้สื่อสาระสำหรับครูผู้สอนได้นำไปใช้สร้างสื่อการสอน และเป็นระบบ e-Learning เพื่อการเรียนรู้ทางไกลสำหรับนักเรียนทั่วราชอาณาจักร ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและ WIFI และได้เชิญหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพื่อจะได้มีสื่อสาระการเรียนรู้ที่หลากหลาย เข้าถึงกลุ่มประชาชนได้ในวงกว้างยิ่งขึ้น กรมศิลปากรพิจารณาเห็นว่า โครงการสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลนี้ เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และประชาชนจำนวนมาก และสามารถประชาสัมพันธ์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์จากเอกสารจดหมายเหตุ ตลอดจนภารกิจการดำเนินงานของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติไปสู่สาธารณชนได้ อันเป็นการสนองกระแสรับสั่งและจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนไปยังนักเรียน นิสิต นักศึกษา ครู อาจารย์ บุคลากรในหน่วยงานของรัฐ และประชาชนทุกภาคส่วน จึงได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางแก่วงการศึกษาของไทยสืบไป
นายศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงที่มาของโครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลฯ ว่า ตลอดระยะเวลากว่ายี่สิบปีที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้แก่กลุ่มหน่วยงานต่างๆ ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาจัดระบบการศึกษาในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ในการดำเนินโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยทรงเป็นองค์ประธานกรรมการโครงการฯ ด้วยพระองค์เอง หนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่ดำเนินการภายใต้โครงการฯ คือการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพดีขึ้น ให้แก่เด็กและเยาวชนในโรงเรียนที่อยู่ในชนบทห่างไกล ที่มักประสบปัญหาขาดแคลนครูผู้สอน รวมถึงผู้ด้อยโอกาสอื่นๆ อาทิ ผู้พิการ ผู้ต้องขัง เด็กป่วยในโรงพยาบาล ฯลฯ โดยตัวอย่างของโครงการที่ได้ดำเนินการและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี คือ โครงการระบบศึกษาทางไกลที่มีชื่อเรียกว่า eDTV ซึ่งทำให้เด็กในชนบทห่างไกลหรือเด็กที่เรียนในโรงเรียนที่ขาดแคลนครู หรือครูจบการศึกษาไม่ตรงกับรายวิชาที่สอนได้มีโอกาสเรียนผ่านจอทีวี หรือจอคอมพิวเตอร์ ระบบนี้มีผู้ใช้งานอย่างแพร่หลายถึงประมาณปีละ ๒ ล้านครั้ง และเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ สวทช. จึงได้จัดทำโครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสดังกล่าวเสนอต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผ่านหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ซึ่งฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช. พิจารณาเห็นว่า โครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรตินี้ จะเป็นประโยชน์ต่อโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนของทุกระดับทั้งการเรียนในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย
อนึ่ง โครงการนี้มีกรอบแนวคิดที่สำคัญ คือ การพัฒนาระบบออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลขนาดใหญ่ที่บรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนจำนวนมาก และจัดทำคลังจัดเก็บทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดซึ่งเป็นคลังข้อมูลหรือฐานข้อมูลสำหรับจัดเก็บข้อมูลต่างๆที่ปลอดปัญหาลิขสิทธิ์โดยหน่วยงานเจ้าของข้อมูลที่เข้าร่วมโครงการฯ อนุญาตให้เปิดเผยต่อสาธารณะและให้นำไปใช้ประโยชน์ได้ เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่หน่วยงานเจ้าของข้อมูลกำหนดตามสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ เช่น ให้อ้างอิงแหล่งที่มา ห้ามดัดแปลง หรือใช้เพื่อการค้า เป็นต้น
นางสาวนัยนา แย้มสาขา ผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติได้กำหนดแผนการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ตามโครงการระบบสื่อสาระออนไลน์ เพื่อการเรียนรู้ทางไกล ดังนี้
๑. การสำรวจ คัดเลือก และการจัดเตรียมข้อมูลจากเอกสารจดหมายเหตุประเภทภาพถ่าย เพื่อนำเข้าในคลังจัดเก็บทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด (Open Educational Resources: OER) เพื่อเพิ่มเติมความรู้ในบทเรียนด้านประวัติศาสตร์ เป็นการสนับสนุนการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้สนับสนุนภาพถ่ายเกี่ยวกับบุคคล สถานที่ เหตุการณ์สำคัญ ที่ปรากฏในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ในระยะแรก จำนวน ๑,๘๐๐ ภาพ ทั้งนี้ข้อมูลในส่วนนี้พร้อมเปิดให้บริการผ่านคลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด หรือ OER ผ่านเว็บไซต์ http://oer.learn.in.th ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
๒. การจัดทำบทเรียนออนไลน์และนำเข้าในคลังบทเรียนออนไลน์ MOOC จะนำเสนอเรื่องวิชาการจดหมายเหตุทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ตลอดจนการนำเสนอแบบสื่อแอนิเมชั่น เพื่อสร้างความสนใจให้กับผู้ใช้ทุกระดับ โดยจะจัดทำ ๔ หัวข้อหลัก ได้แก่
- นำชมการดำเนินงานของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
- นำชมการดำเนินงานของหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
- กระบวนงานบริการเอกสารจดหมายเหตุ
- กระบวนงานซ่อมแซมเอกสารจดหมายเหตุ
๓. การสแกนตำราวิชาการและคู่มือการปฏิบัติงานจดหมายเหตุในรูปหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book)