กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--เพนเนอร์ แมดิสัน
กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกในวงการอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ซึ่งมีรายได้รวมกันในปีที่แล้วสูงถึง 150 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประกาศจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรต่อต้านกิจกรรมตลาดมืด (Anti-Gray Market Alliance: AGMA) เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าของตนว่าจะได้รับความพึงพอใจใน ผลิตภัณฑ์ยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการให้ความรู้กับตลาดเกี่ยวกับสินค้าผิดกฎหมาย สินค้าปลอม หรือทิศทางของสินค้า ตลอดจนเป็นการสื่อสารโดยตรงกับเหล่าผู้ผลิต-จำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้รับอนุญาตเพื่อขจัดสินค้าเถื่อนออกจากตลาดมืด
ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรดังกล่าว ได้แก่ ทรีคอม (NASDAQ: COMS) แอปเปิล คอมแพค คอมพิวเตอร์ (NYSE: CPQ) ฮิวเล็ตต์-แพคการ์ด (NYSE: HWP) นอร์เทล เน็ตเวิร์ก (NYSE: NT) และซีร็อกซ์ คอร์ปอเรชั่น (NYSE: XRX) พร้อมกันนี้ ยังเปิดกว้างสำหรับบริษัทด้านเทคโนโลยีทุกแห่งทั้งในตลาดสหรัฐฯ และทั่วโลกเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มพันธมิตร
มร.แฮรี่ส์ มิลเลอร์ ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (Information Technology Association of America: ITAA) กล่าวว่า ในที่นี้บริษัทไอที จะหมายรวมถึงบริษัทด้านเทคโนโลยี ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์โดยตรงสู่ผู้บริโภค หรือจำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งเรียกว่าดิสทริบิวเตอร์ และผู้ค้ารายย่อย ส่วนคำว่า “ตลาดมืด” นั้นหมายถึงการโอนย้ายคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ โดยไม่ผ่านช่องทางจำหน่ายที่ได้รับแต่งตั้ง (บางครั้งเรียกว่า “diversion ” หรือ “การยักย้ายถ่ายเท”) โดยการดำเนินการดังกล่าวได้นำมาซึ่งความสูญเสียยอดขาย นอกจากนี้การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในตลาดมืดอาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่ล้าสมัย ผลิตภัณฑ์ที่ถูกประกอบขึ้นใหม่โดยใช้ชิ้นส่วนปลอม ไม่มีบริการหลังการขายหรือรับประกันสินค้า ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อลูกค้าเมื่อมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์สำหรับตลาดเฉพาะกลุ่มออกขายออกไปยังตลาดอื่น ทั้งนี้ ในระยะยาวแล้วผลิตภัณฑ์จากตลาดมืดนี้เองจะทำลายชื่อเสียงของสินค้าแบรนด์เนม และสร้างภาพลบให้เกิดขึ้นในใจผู้บริโภคได้
"ตลาดมืดนับเป็นต้นตอที่ทำลายทั้งบริษัทไอที ลูกค้า และกลุ่มนักลงทุน จากรายงานวิจัยของ อุตสาหกรรมระบุชัดว่า การดำเนินงานของตลาดมืดนี้มีมูลค่าสูงถึง 20 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ดังนั้น นับเป็นเวลาที่เหมาะสมแล้วที่เราจะต้องจัดการกับปัญหาเหล่านี้ในเชิงรุกให้หมดไปจากอุตสาหกรรม และนี่จึงเป็นที่มาของ AGMA ซึ่งได้เข้าเป็นสมาชิกของ ITAA ในเมืองอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย โดย ITAA จะให้ความช่วยเหลือด้านการจัดการแก่กลุ่มพันธมิตรฯ” มร. มิลเลอร์กล่าว
พร้อมกันนี้ สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มได้แสดงความคิดเห็นสนับสนุนปณิธานของมร. มิลเลอร์ เพื่อต่อต้านการดำเนินงานของตลาดมืดดังนี้:
มร. ปีเตอร์ แบล็คมอร์ รองประธานบริหารฝ่ายการขายและบริการทั่วโลก คอมแพค กล่าวว่า “ด้วยการริเริ่มโครงการครั้งนี้ ทำให้เราสามารถมุ่งเน้นการพัฒนาโซลูชั่นที่แท้จริงเพื่อแก้ปัญหาด้านคุณภาพซึ่งเป็นสำคัญที่ลูกค้าของเรากำลังประสบอยู่ อันเกิดจากการแพร่กระจายผลิตภัณฑ์ในตลาดมืดไปสู่ท้องตลาด การร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง AGMA นับเป็นโอกาสอันดียิ่งและถือเป็นการดำเนินบทบาทครั้งสำคัญของคอมแพคในการปกป้องผลประโยชน์ให้กับลูกค้าของเรา” มร. โบ แม็คบี รองประธานฝ่ายดูแลคุณภาพและความพึงพอใจของลูกค้า กล่าวเสริมว่า “เป้าหมายของเราคือการสร้างให้ผู้บริโภคทุกรายของเรา มีความมั่นใจในความสมบูรณ์แบบของผลิตภัณฑ์ และยกระดับความพึงพอใจของลูกค้าเพื่อคอมแพคและอุตสาหกรรมทั้งระบบ”
มร. ทอม เกอร์สเทนเบอร์เกอร์ รองประธาน บริษัททรีคอม บิสซิเนส เน็ตเวิร์ก กล่าวว่า "การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ AGMA นับเป็นการตอกย้ำบทบาทและความมุ่งมั่นของทรีคอมในการปกป้องช่องทางการจัดจำหน่ายที่สำคัญและพันธมิตร OEM ตลอดจนลูกค้าของเราให้รอดพ้นจากภัยคุกคามของตลาดมืด อาศัยความร่วมมือกัน เรามั่นใจว่าด้วยความตั้งใจจริงในการตอบโต้ของเรา จะทำให้เกิดการปกป้องแบรนด์ได้ดียิ่งขึ้น สำหรับสมาชิกของ AGMA ทุกบริษัท และด้วยชื่อของ AGMA นี้จะมีความหมายกับความสมบูรณ์แบบของผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมของเรา"
กลุ่มสมาชิกผู้ก่อตั้ง AGMA กล่าวว่า หลังจากวันนี้ ทางกลุ่มจะร่วมกันพัฒนาโปรแกรม เพื่อให้ความรู้กับเหล่าช่องทางการจัดจำหน่าย แบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด ปรับปรุงการสื่อสาร และสำรวจการดำเนินกิจกรรมทุกระดับของตลาดมืด
ทั้งนี้ AGMA จะดำเนินการเสมือนองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร ตาม 501 (c)6 โดยได้รับเกียรติจาก มร. พอล แฮสติ้งส์ จาก Janofsky & Walker LLP เป็นที่ปรึกษา สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ http://www.agmatoday.org.
หมายเหตุ:
“ตลาดมืด” คืออะไร
บริษัททางด้านเทคโนโลยีส่วนใหญ่จะจัดจำหน่ายสินค้าโดยตรงสู่ผู้บริโภค หรือจำหน่ายผ่านดิสทริบิวเตอร์ที่ได้รับการแต่งตั้ง และผู้ค้ารายย่อย “ตลาดมืด” หมายถึงการโอนย้ายคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์โดยไม่ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้ง บางครั้งเรียก “diversion ” หรือ “ยักย้ายถ่ายเท”
ใครได้รับผลกระทบนี้บ้าง
“ตลาดมืด” ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจของผู้ที่เป็นช่องทางจัดจำหน่าย และที่สำคัญกระทบต่อผู้บริโภค เนื่องจากผลิตภัณฑ์ตลาดมืดอาจชำรุดเสียหาย หรือล้าสมัย หรือถูกประกอบขึ้นใหม่โดยใช้ชิ้นส่วนปลอม ไม่มีบริการหลังการขายหรือรับประกันสินค้า หรือแม้แต่ที่สำหรับจำหน่ายทั่วโลกกลับถูกโอนย้ายไปจำหน่ายในตลาดท้องถิ่นของประเทศอื่นๆ
ผลกระทบทางการเงินคืออะไร
จากผลการสำรวจตลาด ปรากฏว่า “ตลาดมืด” มีมูลค่าการตลาดสูงถึง 20 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี KPMG ประมาณว่า 24% ของผลกำไรจากช่องทางจำหน่ายเป็นของโบรกเกอร์ใน “ตลาดมืด”
“ตลาดมืด” เติบโตขึ้นหรือไม่
ภาวะการตลาดปัจจุบันได้กลายเป็นปัจจัยสนับสนุนโอกาสการเติบโตของโบรกเกอร์ใน “ตลาดมืด” ยิ่งไปกว่านั้น การเรียกดูข้อมูลสินค้าคงคลังได้อย่างง่ายดายจากที่ใดๆ ในโลก ถือเป็นปัจจัยเร่งการเติบโตของปัญหานี้เช่นกัน
ข้อมูลโครงการรณรงค์ต้านตลาดมืด (Anti-Gray Market Alliance : AGMA)
บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ และลูกค้าของบริษัทเหล่านั้นต่างได้รับความพึงพอใจเมื่อสินค้าได้รับการนำส่งผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายที่รับการอนุมัติอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นการยืนยันคุณภาพการบริการและการสนับสนุนหลังการขายที่ดี แต่ทว่าตลาดมืดประกอบไปด้วยสินค้ามีเครื่องหมายการค้าหลากหลาย ตั้งแต่แบบที่จำหน่ายผ่านช่องทางธรรมดาหรือช่องทางที่ได้รับการแต่งตั้ง การดำเนินกิจกรรมในตลาดมืดนี้สามารถเกิดขึ้นได้ภายในประเทศที่ผลิตสินค้านั้น หรือข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ ซึ่งจากผลการสำรวจตลาดพบว่า กิจกรรมตลาดมืดมีมูลค่าสูงถึง 20 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
แนวร่วมต้านตลาดมืดนี้ เป็นความคิดริเริ่มจากบรรดาบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำต่างๆ ด้วยเจตนารมณ์ที่จะรณรงค์ต้านผลกระทบทั่วโลกจากตลาดมืดที่มีต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยี สมาชิกในกลุ่มผู้ก่อตั้ง ประกอบไปด้วยทรีคอม แอปเปิล คอมแพค คอมพิวเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ฮิวเล็ตต์-แพคการ์ด นอร์เทล เน็ตเวิร์กส์ และซีร็อกซ์ คอร์ปอเรชั่น และยังมีบริษัทชั้นนำระดับโลกอื่นๆ ที่ได้แสดงความจำนงค์ที่จะเข้าร่วมโครงการนี้อีกภายใน 60 วัน
โครงการ AGMA มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้:
- วิเคราะห์โครงสร้างตลาดมืด และลักษณะการเคลื่อนไหวของสินค้า
- ยกระดับความพึงพอใจของผู้บริโภค
- สร้างความรู้ความเข้าใจให้สาธารณชนเรื่องกิจกรรมของตลาดมืด
- ตรวจจับและแสดงผลกระทบจากตลาดมืด
- สร้างรูปแบบ Best Practices ให้แก่บรรดาสมาชิก
- กระชับความสัมพันธ์ของช่องทางจัดจำหน่าย
- ป้องกันตราสินค้าและเครื่องหมายการค้า
โครงการ AGMA ประกอบไปด้วย การสร้างความรู้ความเข้าใจการให้สถานที่ติดต่อสำหรับตัวแทนจำหน่ายหรือดิสทริบิวเตอร์ที่ได้รับการแต่งตั้ง รวมทั้งผู้ค้ารายย่อย และอื่นๆ เพื่อให้สามารถแจ้งเรื่องกิจกรรมที่ไม่ได้รับอนุญาตของตลาดมืดรวมทั้งการศึกษารูปแบบตัวอย่าง การตั้งแนวทางการปฏิบัติสำหรับวงการ อุตสาหกรรม และการให้คำปรึกษานโยบายทั่วไปในด้าน การบังคับใช้กฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่างๆ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ได้แก่ผู้บริหารและผู้จัดการอาวุโสที่อยู่ในสายงานตรวจสอบคุณภาพสินค้าลูกค้าสัมพันธ์การเงิน ความปลอดภัย ตรวจสอบ และส่วนอื่นๆ โครงการ AGMA ได้จัดการประชุมครั้งที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2544 ที่ผ่านมา
สมาชิกภาพของโครงการนี้เปิดกว้างต่อบริษัทเทคโนโลยีทั่วไป และจะได้มีการจัดตั้งเป็นองค์การไม่หวังผลกำไรตาม 501 ( c )6 ในลำดับต่อไป ขณะนี้ทางกลุ่มได้รวมกับ สมาคม อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (Information Technology Association of America: ITAA) ที่เมืองอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย และมีสัญญาให้ ITAA ทำการบริหารงานให้
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ http://www.agmatoday.org-- จบ--
-สส-