กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--มทร.ธัญบุรี
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เผยว่า จากนโยบายและแผนการพัฒนามหาวิทยาลัย ทั้งการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน เพิ่มบทบาทของคณาจารย์ด้านงานวิจัยเพื่อต่อยอด พร้อมถ่ายทอดสู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งตอนนี้ผลลัพธ์อันเป็นที่ประจักษ์เริ่มเด่นชัดและสะท้อนกลับมา ทำให้ มทร.ธัญบุรี มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักโดยทั่วกัน สร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจให้กับผู้ปกครอง และการบอกต่อแนะนำจากรุ่นพี่ถึงรุ่นน้อง จึงทำให้ยอดสมัครเรียนในคณะ/สาขาต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"จำนวนผู้สมัครเรียน ทั้งสอบตรง โควตา 70% และแอดมิชชั่น 30% เพิ่มขึ้นมากจากปีที่แล้ว และมีสัดส่วนผู้สละสิทธิ์เพียงแค่ 10-12 % ซึ่งน้อยกว่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้วประมาณ 20% และภาพรวมของคะแนนสอบตรงปีนี้ก็สูงกว่าปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าเด็กเก่งเลือกที่จะมาอยู่ที่นี่ ส่วนแอดมิชชั่นเปิดรับ 1,600 คน มียอดสมัคร 2,200 คน สำหรับคณะยอดนิยมของปีนี้ คือ บริหารธุรกิจ สถาปัตยกรรมศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ยังมีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารมีจำนวนผู้เรียนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ของตลาดและสอดรับกับโปรเจกต์รัฐบาลในกลุ่มคลัสเตอร์ต่าง ๆ เช่น ยานยนต์ ไอที การท่องเที่ยวและอาหาร ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกเรียน" รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าว
รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า ความสำเร็จของการดำเนินงานตามแผนการศึกษาเป็นไปตามความมุ่งหมาย แต่ มทร.ธัญบุรี ยังคงพัฒนาการศึกษาอย่างต่อเนื่องจากโรดแมปที่วางไว้ ซึ่งมีส่วนต่างๆ ที่ดำเนินการไปแล้วและจะขับเคลื่อนต่อไป ส่วนแรกคือการปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการสอน โดยเน้นสมรรถนะวิชาชีพที่สอดรับความต้องการของสถานประกอบการ เพื่อสร้างโอกาสในการมีงานทำหลังจบ และมีรายได้ที่มั่นคง รวมถึงการฝึกสหกิจศึกษาโดยมีเงินกองทุนพัฒนากิจการนักศึกษาเพื่อให้นักศึกษาได้ไปฝึกสหกิจในต่างประเทศ ซึ่งปีนี้ มทร.ธัญบุรี ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาให้เป็นสถานศึกษาดำเนินการสหกิจศึกษานานาชาติดีเด่น ประจำปี 2559 ส่วนที่สองเป็นการเติมเต็มทักษะด้านไอทีและภาษาต่างประเทศ โดยจัดอบรมและจัดสอบทั้งมาตรฐานวิชาชีพไอที และการสอบโทอิคโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และเน้นการทำผลงานพอร์ตโฟลิโอเพื่อเป็นการตรวจสอบคุณภาพวิชาการและวิชาชีพ สำหรับใช้ยื่นสมัครงานต่อไป ส่วนที่สาม คือการส่งเสริม สนับสนุนให้อาจารย์และนักศึกษาสร้างผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และนำงานวิจัยออกไปใช้ประโยชน์ ช่วยเหลือภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งทำไปแล้วและประสบความสำเร็จโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ทั้งในกลุ่ม Start-up และTurn Around ดังที่ปรากฏออกไป
"อีกส่วนที่กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งในอีก 1-2 ปี ข้างหน้าจะได้เห็นบทบาท มทร.ธัญบุรี ในด้านมหาวิทยาลัยวิจัย ที่มีผลงานวิจัยและนักวิจัยคุณภาพ ที่พร้อมจะเป็นเพื่อนคู่คิดทางธุรกิจร่วมมือสร้างผลงานวิจัยกับภาคเอกชน เพื่อนำรายได้เข้ามหาวิทยาลัยและส่วนหนึ่งเป็นค่าตอบแทนนักวิจัยเพื่อจูงใจให้อาจารย์ของมหาวิทยาลัยสนใจทำวิจัยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้รายได้จากงานวิจัยจะเป็นทุนการศึกษาสำหรับเด็กที่จะมาเรียนที่ มทร.ธัญบุรี ต่อไป"รศ.ดร.ประเสริฐ สรุปทิ้งท้าย