กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--กรมสุขภาพจิต
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันเข้าพรรษา ในวันที่ 20 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ ว่า จากรายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทย ประจำปี 2558 โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พบว่า การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นนักดื่มสูงขึ้น และในทุกช่วงอายุมีสัดส่วนนักดื่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน โดยกลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี มีสัดส่วนการดื่มเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 23.7 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 25.2 ในปี 2557 ทั้งนี้ ในปี 2557 พบว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ราว 1 ใน 3 หรือประมาณ 17.7 ล้านคน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อายุเฉลี่ยที่เริ่มดื่มครั้งแรก คือ 20.8 ปี ในขณะที่กลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีอายุเฉลี่ยที่เริ่มดื่มครั้งแรกตั้งแต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ คือ อายุ 16.7 ปี สาเหตุหลัก 3 อันดับแรก ที่เริ่มดื่ม คือ เพื่อเข้าสังคม/สังสรรค์ ตามอย่างเพื่อน/เพื่อนชวนดื่ม และอยากทดลองดื่ม นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจจากการศึกษาผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อบุคคลรอบข้างผู้ดื่ม โดยเฉพาะผลกระทบต่อครอบครัว ที่พบว่า เยาวชนที่มีพ่อติดสุรา จะมีความเสี่ยงต่อความผิดปกติทางสุขภาพจิตมากขึ้นถึง 11.5 เท่า เมื่อเทียบกับเยาวชนที่มีพ่อไม่ติดสุรา ผู้ที่มีภาวะติดสุรามากกว่าครึ่งมีปัญหาการใช้ชีวิตสมรสและปัญหาในการประกอบอาชีพ ครอบครัวที่มีสมาชิกอยู่ในภาวะติดสุราจะมีความเสี่ยงต่อความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นถึง 3.84 เท่า ภรรยาที่มีสามีดื่มแอลกอฮอล์จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการถูกกระทำรุนแรง 4.27 เท่า และหากทั้งภรรยาและสามีดื่มแอลกอฮอล์โอกาสเสี่ยงต่อการถูกกระทำรุนแรงจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.55 เท่า นอกจากนี้ ผู้ที่ดื่มสุราตั้งแต่อายุยังน้อย ย่อมส่งผลกระทบต่อสมอง กระบวนการคิด ความจำ และการตัดสินใจบกพร่อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ซึ่งจะเป็นปัญหาเรื้อรัง ขาดความต่อเนื่องในการศึกษา ปัญหาการมีงานทำ และการดูแลของครอบครัว รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาติดสุราเรื้อรัง
ช่วงเทศกาลเข้าพรรษานี้ จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะ ลด ละ เลิกสุรา เพื่อลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดังคำขวัญของนายกรัฐมนตรี เนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ปี 2559 "ครอบครัว เยาวชน คนรุ่นใหม่ ห่างไกลสุรา พาชาติเจริญ" ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา 3 เดือน นักดื่มทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่จำนวนมากอาจมีความตั้งใจที่จะหยุดดื่ม และมักพบว่า ส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีการหยุดดื่มแบบหักดิบ จึงทำให้พบผู้ป่วยเกิดอาการถอนพิษสุรา หรือ อาการลงแดง อยู่เสมอๆ เช่น อาการตัวสั่น เครียด ชัก ประสาทหลอน สับสนวุ่นวาย เป็นต้น ดังนั้น หากมีความตั้งใจที่จะงดเหล้าช่วงเข้าพรรษานี้ นักดื่มและผู้ใกล้ชิด จึงต้องเตรียมแผนรับมืออาการที่จะเกิดขึ้นให้ดี โดยเฉพาะในช่วง 3 วันแรก หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง หงุดหงิดกระสับกระส่าย ใจสั่น มือสั่น เหงื่อแตก ให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยบำบัดอาการ ทั้งนี้ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ด้าน นพ.ปริทรรศ ศิลปกิจ นายแพทย์เชี่ยวชาญ รพ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า สถิติการเข้ารับการรักษาปัญหาสุขภาพจิตจากการดื่มสุราของโรงพยาบาลสวนปรุง ซึ่งเป็นศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาสุขภาพจิตจากแอลกอฮอล์ พบว่า ในรอบ 3 ปี (ปี 2556-2558) มีจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดไม่น้อยกว่า 4 พันราย 4,784 ราย 4,307 ราย และ 4,268 ราย ตามลำดับ เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง พบกลุ่มวัยทำงาน อายุ 35-44 ปี มากที่สุด ขณะที่ กลุ่มเยาวชน อายุ 15-19 ปี เป็นช่วงอายุน้อยที่สุดที่พบ โดยพบว่าเข้ารับการรักษาปัญหาสุขภาพจิตจากการดื่มสุราเพิ่มขึ้นทุกปี จาก 4 ราย ในปี 2556 เป็น 6 ราย ในปี 2557 และ 9 ราย ในปี 2558 ซึ่ง ผู้ที่มีแนวโน้มจะติดสุรา ที่คาดว่าในที่สุดจะต้องส่งมารักษานั้นยังมีอยู่จำนวนมาก จึงควรร่วมกันสังเกตว่า ผู้ที่ดื่มสุราที่อยู่ใกล้ชิดท่าน เริ่มติดสุราหรือไม่ โดย สังเกตว่ามีอาการ 3 ใน 7 อย่าง ต่อไปนี้ หรือไม่ ได้แก่ 1.ต้องเพิ่มปริมาณการดื่มมากขึ้นจึงจะได้ฤทธิ์เท่าเดิม 2. มีอาการทางร่างกายเมื่อไม่ได้ดื่ม 3. ควบคุมการดื่มไม่ได้ 4. มีความต้องการอยู่เสมอที่จะเลิกดื่มหรือพยายามหลายครั้งแล้วแต่ไม่สำเร็จ 5. หมกมุ่นกับการดื่มหรือการหาสุรามาดื่ม 6. มีความบกพร่องในหน้าที่การงานหรือการพักผ่อนหย่อนใจ และ 7. ยังคงดื่มอยู่ทั้ง ๆ ที่มีผลเสียเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งหากพบอาการ 3 ใน 7 อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบขอคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง สำหรับแนวทางการช่วยคนใกล้ชิดในครอบครัวให้เลิกสุรานั้น แนะว่า ไม่ควรชักจูงด้วยวิธีการขู่ ดุด่า หรือยื่นคำขาดโดยเอาความสัมพันธ์มาเป็นเดิมพัน เพราะอาจทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก อาจใช้เทคนิคชักจูง ดังนี้ 1.พูดในเวลาที่เหมาะสม ไม่พูดในช่วงที่เขาเมาอยู่ ที่สำคัญไม่ควรด่าว่า หรือมองด้วยแววตาดุร้าย 2.ไม่เซ้าซี้ แต่แสดงความเป็นห่วงสุขภาพแทน 3.หากผู้ดื่มตั้งใจอยากเลิกหรือบ่นว่าอยากเลิกดื่มสุรา ควรชื่นชมพร้อมกับให้กำลังใจ ให้ความเชื่อมั่นว่าเขาสามารถทำได้ อยู่เคียงข้าง ให้คำแนะนำวิธีการช่วยเหลือต่าง ๆ และพาพบแพทย์ 4. หากผู้ดื่มไม่ยอมพบแพทย์ แต่จะขอหยุดดื่มด้วยตัวเอง ควรให้ความมั่นใจกับเขาว่าการไปพบหมอเป็นวิธีการที่ปลอดภัย ไม่ทรมาน และมีโอกาสเลิกได้สูง แต่หากเขายังยืนยันที่จะหยุดดื่มด้วยตัวเอง ก็ไม่ควรเซ้าซี้ต่อ ให้เขาลองหยุดดื่มด้วยตัวเองไปก่อน พร้อมกับหาวิธีการหยุดดื่มด้วยตัวเองเพื่อช่วยเหลือเขาต่อไป
การดื่มสุราลดลง ย่อมทำให้สุขภาพดีขึ้น ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆก็ลดลงตาม หรือโรคที่เป็นอยู่สามารถควบคุมได้ดีขึ้น ลดปัญหาสังคม ความรุนแรงต่างๆ ลงได้ ดังนั้น ผู้ที่ต้องการลดปริมาณการดื่มลง ควรลดปริมาณการดื่มให้ต่ำกว่าปริมาณการดื่มสุราที่เคยดื่ม เช่น กำหนด และจำกัดปริมาณที่จะดื่ม ดื่มช้าๆ เพื่อจะได้มีสติในการยั้งคิด ดื่มน้ำเปล่าสลับบ้างในระหว่างที่ดื่มสุรา เพื่อทิ้งช่วงในการดื่มให้ห่างขึ้น ทำกิจกรรมอย่างอื่นทดแทน เช่น เล่นดนตรี เล่นกีฬา ทำงานศิลปะ งานอดิเรกต่างๆ ปฏิบัติธรรม หลีกเลี่ยงกลุ่มเพื่อนที่เคยดื่มด้วยกัน พบปะหรือเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนที่ไม่ดื่มแทน หากถูกชักชวนให้ดื่ม ให้ปฏิเสธโดยตรงว่ามีปัญหาสุขภาพ หรือหมอสั่ง ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะหลังดื่มสุรา และไม่ควรดื่มสุราเมื่อมีการทานยาทุกชนิด เป็นต้น หากไม่ประสบความสำเร็จในการลดปริมาณการดื่มลง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับความช่วยเหลือต่อไป ทั้งนี้ โรงพยาบาลสวนปรุงและภาคีเครือข่ายได้ร่วมมือกันจัดโครงการรณรงค์ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตจากการดื่มสุรา "ชีวิตล้ำเลิศ...ถ้าเลิกสุรา" ตลอดเดือนกรกฎาคม นี้ เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นเตือนให้ประชาชน ผู้ที่ดื่มประจำ และนักดื่มหน้าใหม่ตระหนักถึงผลเสียของการดื่มสุรา เผยแพร่ความรู้แนวทางการเลิกสุราให้สำเร็จ สนับสนุน และให้กำลังใจในผู้ที่ติดสุราให้มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่จะเลิกสุราอย่างจริงจังและเข้าถึงการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการลดละเลิกสุราโดยต้นแบบชุมชน องค์กร และเครือข่ายลด ละ เลิกสุรา ในเขตสุขภาพที่ 1 และ 2 หัวข้อการอภิปราย เช่น "แนวทางการลดละเลิกสุราโดยต้นแบบชุมชน" "ทำอย่างไรให้ใจเลิกสุรา" "การจัดการเลิกสุราภาษาวัยรุ่น" ตลอดจนการจัดนิทรรศการชุมชนต้นแบบลด ละ เลิก สุรานพ.ปริทรรศ กล่าว