กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
บสย. เปิดตัวโครงการ TCG-Financial Literacy ปูพรมSMEs 4ภาค เสริมความแกร่ง SMEs ด้านการเงิน บัญชี ภาษี กฎหมาย สัญญาจำนำ จำนอง ร่วมกับพันธมิตร ธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์ฯ สรรพากร กรมบังคับคดี และบีโอไอ
นายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ บสย. พร้อมเปิดตัวโครงการ TCG-Financial Literacy การส่งเสริมความรู้ทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย โดย บสย. ร่วมกับพันธมิตร ธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กรมสรรพากร กรมบังคับคดี และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดหลักสูตรอบรมให้ความรู้ทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs ทุกระดับตั้งแต่กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (Micro) ขนาดเล็ก (Small) และขนาดกลาง(Medium)ทั้ง 4 ภาค โดย บสย. ทั้ง 11สาขา กรุงเทพฯ นครราชสีมา เชียงใหม่ สงขลา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา อุดรธานี สุราษฎร์ธานี พิษณุโลก อุบลราชธานี และประจวบคีรีขันธ์ ทำหน้าที่เป็นกลไกขับเคลื่อนโครงการ
"กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs และหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพที่สำคัญก็คือการให้ความรู้ทางการเงิน บสย.คาดว่า โครงการอบรมครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการธุรกิจ ทั้งด้านการบริหาร การเงิน ต้นทุน และการตลาด ส่งผลให้มีความเข้มแข็งขึ้น อันนำไปสู่การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้น"
โครงการนี้จะก่อเกิดประโยชน์โดยตรงกับ ผู้ประกอบการทั้ง 3 กลุ่ม ด้วยเนื้อหาและหลักสูตรที่เหมาะกับผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ประกอบการกลุ่ม Micro หลักสูตรความรู้ขั้นพื้นฐานทางการเงินที่ผู้ประกอบการSMEs ต้องรู้ (Beginning Financial Knowledge) 2.ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่ม Small หลักสูตรการพัฒนาธุรกิจด้วยการเพิ่มศักยภาพทางการเงินของผู้ประกอบการ SMEs (Advance Financial Knowledge) และ3.ผู้ประกอบการSMEs กลุ่ม Medium หลักสูตรการเพิ่มโอกาสการขยายตัวของธุรกิจควบคู่ไปกับการลดต้นทุนทางการเงิน
ทั้งนี้ หัวข้อหลักสูตรการอบรม ยังได้การสนับสนุนจากพันธมิตรเป็นอย่างดี ประกอบด้วย 1.สินเชื่อและดอกเบี้ยสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย โดยมีสถาบันการเงินเป็นผู้ให้ความรู้ 2.กฎหมายพื้นฐานที่ผู้ประกอบการควรรู้ เช่น สัญญา จำนำ จำนอง และขายฝาก เป็นต้น ซึ่งวิทยากรที่อบรมจะมาจากกรมบังคับคดี 3.การอบรมหัวข้อ ภาษีต้องรู้สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา เช่น ภาษีซื้อ ภาษีขาย VAT และการจ่ายภาษีเงินได้ โดยกรมสรรพากร และ 4.การเตรียมข้อมูลธุรกิจเพื่อขอสินเชื่อ เช่น การเตรียมแสดงรายได้ และวิธีการเดินบัญชี Bank Statement โดยวิทยากรจาก บสย.และธนาคาร