กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
เหตุคนส่วนใหญ่ใช้ศัพท์แสลงพูดคุย-ลืมคำที่ถูกต้อง แนะรณรงค์สร้างจิตสำนึกใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง - รักการอ่าน หนุนตั้งชมรมรักการอ่าน การพูด การเขียนภาษาไทย-กระตุ้นเด็กเข้าหอสมุดแห่งชาติ
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า วธ.ได้ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชนต่อ "ภาษาไทย" กับกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 3,073 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.61 ทราบว่า วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม และร้อยละ 52.59 ทราบวัตถุประสงค์ของการกำหนดให้วันที่ 29 ก.ค.เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อ"เฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นนักปราชญ์และนักภาษาไทยและได้ทรงร่วมอภิปรายปัญหาการใช้ภาษาไทย ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2505
นายวีระ กล่าวว่า จากการสำรวจความคิดเห็นเรื่องปัญหาการใช้ภาษาไทยในปัจจุบันที่ประชาชนส่วนใหญ่เสนอให้ควรเร่งดำเนินการแก้ไข พบว่า ร้อยละ 32.77 ระบุว่า การพูด เพราะการพูดเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทย การพูดที่ถูกต้องจะทำให้การเขียนถูกต้องไปด้วย และระบุว่าคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะวัยรุ่นมักใช้ศัพท์แสลงในการพูดคุยทำให้ลืมคำที่ถูกต้องไป และการพูดจาที่ไพเราะถูกต้องจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กและผู้อื่น ร้อยละ 32.28 บอกว่าการเขียน เพราะอักษรไทยแสดงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ปัจจุบันใช้คอมพิวเตอร์แทนการเขียนหนังสือมากขึ้น ต้องการให้คนไทยเขียนหนังสือ เขียนข้อความที่ถูกต้อง และการคัดลายมือทำให้เขียนตัวอักษรไทยได้สวยงาม และร้อยละ 16.99 บอกว่าการอ่าน เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับเด็ก คนไทยอีกจำนวนมากที่อ่านหนังสือไม่ได้ อ่านไม่ออก ออกเสียงไม่ถูกต้อง การอ่านเป็นการเพิ่มพูนความรู้ พัฒนาสติปัญญา และปัจจุบันคนไทยอ่านหนังสือน้อยมาก
นายวีระ กล่าวต่อว่า จากการสอบถามว่าสิ่งที่ประชาชนอยากให้ วธ. ดำเนินการจัดทำสื่อเพื่อส่งเสริมการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องให้ถูกต้อง ร้อยละ 40.65 ระบุว่าการ์ตูนแอนิเมชั่น ร้อยละ 33.49 ภาพยนตร์สั้น ร้อยละ 29.51 ละคร ร้อยละ 24.91 นิทาน และร้อยละ 23.24 สารคดี อย่างไรก็ตามประชาชนมีข้อเสนอแนะและแสดงความคิดเห็นเรื่องการส่งเสริมให้คนไทยใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง อาทิ
1. จัดกิจกรรมให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นประจำต่อเนื่อง เช่น การประกวดแต่งกลอน การโต้วาทีการแสดงละคร ค่ายเยาวชน จัดนิทรรศการวันภาษาไทย กิจกรรมส่งเสริมการใช้ภาษาไทย ประกวดการพูด อ่าน เขียน ภาษาไทย การขับร้องเพลงไทยเดิม เพลงลูกทุ่ง และ จัดโครงการอบรมต่าง ๆ
2.รณรงค์สร้างจิตสำนึกการใช้ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เช่น การให้คนไทยให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง รักการอ่านมากขึ้น ส่งเสริมการก่อตั้งชมรมรักการอ่าน การพูด การเขียน ภาษาไทย และ ให้เด็ก ๆ เข้าใช้หอสมุดแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการอ่าน
3. ควบคุมและกวดขันเรื่องการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเหมาะสม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี ผ่านสื่อออนไลน์ และบุคคลที่มีอิทธิพลในสังคม เช่น นักการเมือง นักข่าว พิธีกร นักแสดง นักร้อง นักเขียน หรือบุคคลสาธารณะ
4. บูรณาการกับกระทรวงศึกษาธิการเน้นให้ครูสอนนักเรียนให้พูด อ่าน เขียน ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง ควรจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยด้วยความสนุก และเรียนรู้อย่างเข้าใจในภาษาไทย และ5. ปลูกฝังให้เด็กปฐมวัย เด็ก เยาวชนรักภาษาไทย รักการอ่าน ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง สำหรับข้อเสนอแนะต่างๆ วธ. ก็จะนำมาปรับปรุงและดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้คนไทยสามารถใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องต่อไป