กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "การปฏิรูปภาคเกษตรไทย" ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการผลการพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ปี2559 ณ กรมส่งเสริมการเกษตร ว่า รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาคการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักที่สำคัญของไทย จึงมีนโยบายในการพัฒนาภาคการเกษตรหลายมิติ รวมทั้งมีนโยบายในการปฏิรูปภาคการเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาของเกษตรกร ซึ่งประเด็นปัญหาสำคัญที่ต้องปฏิรูปการเกษตรของไทย ได้แก่ การจัดการด้านราคาและผลผลิตสินค้าเกษตรของไทย การจัดการทรัพยากรที่เอื้อต่อกระบวนการผลิตของเกษตรกร สถานภาพของเกษตรกร ความเข็มแข็งของเกษตรกร และการตัดสินใจในการผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกร
กระทรวงเกษตรฯ จึงได้กำหนดนโยบายให้มีการปฏิรูปภาคเกษตร ได้แก่ 1.การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมโดยกำหนดเขตที่เหมาะสมเพื่อการผลิตสินค้าเกษตร ( Zoning) เชิงรุกของทุกจังหวัด โดยใช้แผนที่เกษตร ( Agri Map) เพื่อแนะนำให้เกษตรกรเลือกพืชปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ 2. ศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 882 ศูนย์ ดำเนินการในอำเภอละ 1 ศูนย์ 3.การรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ โดยความร่วมมือระหว่างเกษตรกร ภาครัฐ และเอกชน 4.สนับสนุนให้เกษตรกรผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาด และยกระดับสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก 5.ธนาคารสินค้าเกษตร โดยการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่มีการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้เกษตรกรมีแหล่งปัจจัยการผลิตในชุมชน 6.การขับเคลื่อนงานสู่การปฏิบัติ โดยอาศัยการทำงานเป็นทีมผ่านระบบ Single Command และ7.ปฏิรูปภาคการเกษตร โดยกำหนดให้ ปี 2559 เป็นปีลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน
"การปฏิรูปภาคการเกษตรจะสำเร็จได้ ต้องให้ความสำคัญกับเกษตรกร โดยมีเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง และยึดผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลัก พร้อมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ได้แก่ กลุ่ม Young Smart Farmer กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร กลุ่ม Smart Farmerรวมถึงวิสาหกิจชุมชน โดยขยายผลการทำการเกษตรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้ครอบคลุมทุกครัวเรือน สามารถต่อยอดไปสู่การทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ ก่อให้เกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ควบคู่กับการพัฒนาองค์ความรู้ของเกษตรกรที่เป็น Smart Farmer สร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ตลอดทั้งส่งเสริมการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนให้เห็นผลในทางปฏิบัติโดยดำเนินกิจกรรมการเกษตรที่เกื้อกูลประโยชน์ต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพ" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการผลการพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ปี 2559 ภายใต้แนวคิด "Smart Farmer ทางรอดเกษตรไทย" เพื่อแสดงศักยภาพและพลังของ Smart Farmer, Young Smart Farmer, Smart Group และอาสาสมัครเกษตร ในงานส่งเสริมการเกษตร โดยจัดงานในวันที่ 13 – 15 กรกฎาคม 2559 ณ กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อนำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร Young Smart Farmer และSmart Farmer Model ที่ผ่านกระบวนการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร ปี 2559 และการเชื่อมโยงประสานงานกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งยกย่องเชิดชูเกียรติเกษตรกรดีเด่นและอาสาสมัครเกษตร เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาหรือเป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกรอื่นๆ นำไปเป็นแบบอย่างได้ เป้าหมายรวม 400 คน
สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การสัมมนาทางวิชาการ การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การปฏิรูปภาคเกษตรไทย การบรรยาย เรื่อง Smart Farmer ทางรอดเกษตรไทย : การบริหารจัดการความเสี่ยงและการสร้างแบรนด์สินค้าเกษตรในอนาคต จัดสถานีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ Smart Farmer และ Smart Group ต้นแบบ 8 สถานีการจัดนิทรรศการ ภายใต้หัวข้อ Smart Farmer ทางรอดเกษตรไทย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. นโยบายการพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร 2. ผลงานความสำเร็จของต้นแบบ Smart Farmer และ Smart Group 3. นิทรรศการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร จากหน่วยงานภาคี ในหัวข้อ "ประชารัฐ พัฒนาเกษตรกรไทย" รวมทั้งจำหน่ายสินค้าที่เป็นผลผลิต/ผลิตภัณฑ์ ของเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร เป็นต้น