กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--i2C Communications
น้อยคนนักที่จะรู้ว่า "ธิดา แซ่หว้า" นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา ผู้ซึ่งได้รับรางวัลนักศึกษาสหกิจศึกษานานาชาติรองดีเด่น ระดับชาติ จากพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเด็กสาวชาวเขา ที่ได้รับคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยให้ไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษา ณ Enclave Danang Software Engineering Center ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม จนทำให้เธอได้รับรางวัลดังกล่าว
"ธิดาเป็นหนึ่งในความภูมิใจของมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา และเป็นหนึ่งในความสำเร็จของโครงการสหกิจศึกษาที่เรามุ่งมั่น ตั้งใจ ที่จะผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับตลาดแรงงาน เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่เพียงแค่ผลิตบัณฑิตที่มีใบปริญญาบัตรเท่านั้น" ดร.ดารัตน์ ศิริวิริยะกุล วิภาตะกลัศ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา กล่าว
มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา เป็นหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาเพียงไม่กี่แห่ง ที่เดินหน้าอย่างจริงจังในการพัฒนาคุณภาพนักศึกษาผ่านโครงการสหกิจศึกษา (Co-operative Education หรือ Co-op) ซึ่งเป็นระบบการศึกษาที่จัดให้มีการผสมผสาน ระหว่างการเรียนของนักศึกษาในห้องเรียน กับการปฏิบัติจริงในสถานประกอบการอย่างมีหลักการและเป็นระบบ เพื่อให้ได้ประสบการณ์ตรง
สหกิจศึกษาได้เริ่มขึ้นครั้งแรกที่ทวีปยุโรปในประเทศอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2446 และเผยแพร่เข้าสู่ประเทศเยอรมนี สหรัฐอเมริกาและแคนาดา ต่อมาแนวคิดดังกล่าวได้เผยแพร่จากทวีปยุโรปอเมริกาเหนือไปสู่ประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก โดยเริ่มจากประเทศออสเตรเลียและแพร่ขยายสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ เช่น ฮ่องกงและสิงคโปร์ นอกจากนี้ สหกิจศึกษายังได้แพร่ขยายไปสู่ประเทศจีนและประเทศไทยในลำดับต่อมา
สำหรับประเทศไทย สหกิจศึกษา เป็นศัพท์บัญญัติขึ้นโดยศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่ได้นำระบบสหกิจศึกษาเข้ามาใช้ในประเทศไทย และได้รับการขนานนามว่า เป็นบิดาแห่งสหกิจศึกษาไทย โดยเริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2536 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
"หลายคนสงสัยว่า สหกิจศึกษาต่างจากการฝึกงานอย่างไร ต้องบอกเลยว่า ต่างกันมาก เพราะการฝึกงาน นักศึกษาจะเป็นคนติดต่อสถานประกอบการเอง แล้วจากนั้นก็แจ้งให้มหาวิทยาลัยทราบ โดยที่หลายครั้งระหว่างการฝึกงาน มหาวิทยาลัยแทบไม่ได้มีส่วนร่วมเลย และการฝึกงานมักจะมีระยะสั้นๆ แต่สหกิจศึกษาจะลงลึกกว่านั้น เริ่มตั้งแต่มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับสถานประกอบการ มีข้อตกลงร่วมกันในการส่งนักศึกษาเข้าไปปฏิบัติงาน ขณะเดียวกัน เราก็ต้องทำหน้าที่ในการคัดกรองนักศึกษา ต้องผ่านการสัมภาษณ์ ต้องพิจารณาความเหมาะสมกับตำแหน่งงาน เพื่อให้นักศึกษาสามารถออกไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการ ในฐานะเสมือนหนึ่งเป็นพนักงานชั่วคราวที่ปฏิบัติงานเต็มเวลา ซึ่งนักศึกษาจะมีระยะเวลาในการปฏิบัติงานนานถึง 4 เดือน ที่จะสร้างความเข้าใจและคุ้นเคยกับโลกแห่งความเป็นจริงของการทำงานและการเรียนรู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งทักษะของงานอาชีพและทักษะด้านการพัฒนาตนเอง" ดร.ดารัตน์กล่าว
ในส่วนของมหาวิทยาลัยเจ้าพระยานั้น ได้นำสหกิจศึกษามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนการสอนแบบเต็มรูปแบบตามมาตรฐานการดำเนินงานสหกิจศึกษา ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา โดยที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางด้านการดำเนินงานสหกิจศึกษา กับสถานประกอบการกว่า 25 แห่ง และได้รับรางวัลทางด้านการดำเนินงานสหกิจศึกษากว่า 40 รางวัล
"เราโชคดีมากที่มีพันธมิตรเป็นเครือข่ายธุรกิจชั้นนำในโครงการสหกิจศึกษา ที่ครอบคลุมทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคผลิต และภาคบริการ รวมถึงการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ 'เคทิส' ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว นับได้ว่าเป็นจุดเด่นที่สำคัญของมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาของเราสามารถคว้ารางวัลด้านสหกิจศึกษามาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างมาก"
หลังจากประสบความสำเร็จของการดำเนินงานสหกิจศึกษาในประเทศแล้ว มหาวิทยาลัยเจ้าพระยายังได้เดินหน้าพัฒนาศักยภาพนักศึกษาสู่ตลาดแรงงานให้สามารถรองรับตามหลักการของประชาคมอาเซียน โดยในปีการศึกษา 2558 มหาวิทยาลัยเจ้าพระยาได้พัฒนาไปสู่การจัดสหกิจศึกษานานาชาติ เริ่มจากกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีนโยบายขยายไปสู่ประชาคมโลกต่อไป
ดร.ดารัตน์ ขยายความด้วยว่า ความร่วมมือในการจัดสหกิจศึกษานานาชาติของมหาวิทยาลัยเจ้าพระยาเน้นการสร้างความร่วมมือผ่านมหาวิทยาลัยในประเทศนั้นๆ เพื่อให้ร่วมในกระบวนการตั้งแต่การคัดเลือกสถานประกอบการจนถึงการที่เราฝากให้เขาช่วยดูแลนักศึกษา จึงเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยด้วยกัน ไม่ใช่เฉพาะระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการ
"ที่เป็นแบบนั้น ก็เพราะเราเชื่อว่า ถ้าเป็นเรื่องข้ามชาติในระยะแรกเช่นนี้ ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยด้วยกันจะแนบแน่นกว่า โดยเฉพาะการพึ่งพาให้ช่วยดูแลนักศึกษาของเราในต่างแดน เพราะมหาวิทยาลัยจะเข้าใจในธรรมชาติของการดูแลนักศึกษา มีความตระหนักเรื่องความปลอดภัยสูง ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยพันธมิตรเหล่านั้นจะรู้จักและเข้าใจวิธีการทำงานของสถานประกอบการในประเทศของตัวเองว่า ต้องการบุคลากรแบบไหน อย่างไร เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการศึกษาของเขาเช่นกัน"
โดยก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับสถาบันการศึกษาในประเทศเวียดนาม ได้แก่ Hue Industrial College เมืองเว้ และ Danang College of Technology - University of Danang เมืองดานัง โดยได้แลกเปลี่ยนนักศึกษาร่วมโครงการสหกิจศึกษานานาชาติระหว่างกัน ซึ่งมีนักศึกษาเวียดนามเข้ามาปฏิบัติงานในสถานประกอบการไทย จำนวน 59 คน และมีนักศึกษามหาวิทยาลัยเจ้าพระยาเข้าไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการเวียดนาม จำนวน 11 คน
"ธิดา แซ่หว้า" ผู้คว้ารางวัลสหกิจศึกษานานาชาติ รองดีเด่น ระดับชาติ ประจำปี 2558 ก็เป็นหนึ่งในนั้น
ดร.ดารัตน์ กล่าวด้วยว่า มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา ยังเดินหน้าเปลี่ยนแปลง "วิธีคิด" ที่ว่า นักศึกษาจะมีโอกาสปฏิบัติจริงในสถานประกอบการเฉพาะตอนเรียนในชั้นปีที่ 3 ด้วยการส่งเสริมให้นักศึกษาได้ทำงาน ควบคู่ไปกับการเรียนตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า วิล (WIL : Work-Integrated Learning) เพื่อสนับสนุนให้เด็กๆ ได้มีโอกาสรู้จักชีวิตการทำงานที่แท้จริงก่อนสำเร็จการศึกษา ช่วยให้พวกเขาสามารถนำความรู้และทักษะการทำงานมาผสมผสานกัน ซึ่งสุดท้ายแล้ว จะเป็นประโยชน์สูงสุดกับทั้งนักศึกษาและสถานประกอบการ
รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา กล่าวปิดท้ายด้วยว่า หลายคนอาจจะมองว่า "สหกิจศึกษา" เป็นทางรอดของมหาวิทยาลัย ในยุคที่การแข่งขันสูง ซึ่งหากมองในแง่ธุรกิจ ก็ต้องยอมรับความจริงในข้อนั้น แต่ถ้าหากตัดประเด็นทางธุรกิจออกไป เหลือไว้แต่ "หัวใจของนักการศึกษา" หรือ "หัวใจของครู" จะเห็นว่า การที่สหกิจศึกษาจะเป็นทางรอดของมหาวิทยาลัยหรือไม่นั้น ไม่สำคัญเลยเมื่อเทียบกับการที่สหกิจศึกษาจะเป็นทางรุ่งของนักศึกษา
"จุดหมายปลายทางของนักศึกษาส่วนใหญ่ก็คือ การเรียนจบออกมาแล้วมีงานทำ ขณะที่ความต้องการของสถานประกอบการ คือ การสรรหาบุคลากรที่สามารถทำงานได้ โครงการสหกิจศึกษาเป็นสะพานเชื่อมทั้งสองส่วนเข้าหากัน มหาวิทยาลัยไม่ได้สร้างแค่บัณฑิต แต่เราสร้างคนที่ทำงานได้จริง มหาวิทยาลัยไม่ได้สร้างแค่ใบปริญญาให้กับนักศึกษา แต่เรากำลังสร้างบุคลากรคุณภาพที่จะเป็นรากฐานในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่ง และนี่คือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างแท้จริง"
การพัฒนาโครงการสหกิจศึกษาของมหาวิทยาลัยเจ้าพระยาที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า จึงไม่ได้ตอบโจทย์แค่ทางรอดของมหาวิทยาลัย เพราะเป้าหมายที่ใหญ่กว่า คือ การสร้างคน