ททท. เร่งดำเนินงานกู้วิกฤติแหล่งท่องเที่ยว เพิ่มมาตรการเข้มข้นด้านการฟื้นฟู การประชาสัมพันธ์ และการส่งเสริมตลาด

ข่าวท่องเที่ยว Wednesday January 5, 2005 11:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--ททท.
นางจุฑามาศ ศิริวรรณ ผู้ว่าการ ททท. ได้แถลงแผนการดำเนินงานในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในระยะต่อไปภายหลังจากที่ ททท. ได้ดำเนินการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ประสบภัยพิบัติจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ เดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาได้อย่างปลอดภัย ซึ่งในเบื้องต้น ททท.ได้จัดตั้งคณะทำงานในการจัดการกู้ภาวะวิกฤติรวม 3 คณะ ประกอบด้วย คณะทำงานด้านการสำรวจสินค้าทางการท่องเที่ยว คณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ และคณะทำงานด้านการส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ โดยจะมีการดำเนินงานควบคู่กันไปในลักษณะสอดประสานไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งงานทางด้านการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบนั้น ในระยะสั้น มีการจัดส่งทีมสำรวจลงพื้นที่วิกฤต เพื่อประเมินความสูญเสีย รวมทั้งจัดกลุ่มพื้นที่สินค้าทางการท่องเที่ยว ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกที่ยังสามารถเร่งดำเนินการส่งเสริมการตลาดได้ โดยสามารถจัดกลุ่มพื้นที่วิกฤตได้ 3 กลุ่ม ตามระดับความรุนแรงของผลกระทบ ได้แก่ พื้นที่ท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบระดับสูงสุด และระดับกลาง ซึ่งต้องใช้เวลาฟื้นฟูอย่างน้อย 1 ปี และ 3-6 เดือน ตามลำ ดับ รวมทั้งพื้นที่ที่สามารถเปิดให้บริการได้ ส่วนแผนการดำเนินการในระยะยาว มุ่งเน้นการปรับปรุงและจัดระเบียบการฟื้นฟูสภาพแหล่งท่องเที่ยว โดยจัดแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์ (Zoning) การจัดระเบียบสิ่งก่อสร้างอาคารบ้านเรือน สถานประกอบการ และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้มีการบริหารจัดการพื้นที่อย่างเป็นระบบ และเกิดการเติบโตทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การดำเนินการในด้านการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มีมาตรฐาน เพื่อรองรับการท่องเที่ยวระดับโลก การสร้างพิพิธภัณฑ์และอนุสรณ์สถาน เพื่อเป็นการไว้อาลัยและรำลึกถึงผู้เสียชีวิต การประสานงานในการผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเร่งจัดหามาตรการอุดหนุนต่าง ๆ ในการให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่การดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์ ในระยะสั้นมีความคืบหน้าในส่วนของการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว ตามแนวคิด Save Andaman มุ่งกลยุทธ์การเผยแพร่สภาพพื้นที่ และความคืบหน้าการดำเนินการด้านการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งตลาดในประเทศจะเน้นการร่วมมือกันในการคืนความสวยงามให้อันดามัน ส่วนตลาดต่างประเทศจะเน้นการนำเสนอภายใต้แนวคิด Andaman Smile สำหรับแผนระยะยาวมุ่งดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ดีของการท่องเที่ยวไทย พร้อมกระตุ้นให้เกิดการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้คืนสู่ประเทศไทยและพื้นที่ฝั่งอันดามันในระดับเดิม โดยเชื่อมโยงสู่แคมเปญส่งเสริมตลาดในประเทศ "เที่ยวที่ไหนไม่สุขใจเท่าบ้านเรา" และแคมเปญ "Thailand Happiness on Earth" ของตลาดต่างประเทศ รวมทั้ง Re launch พื้นที่ท่องเที่ยววิกฤติเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยว โดยทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ของพื้นที่ สำหรับงานด้านการส่งเสริมตลาดนั้น ในส่วนของตลาดต่างประเทศในระยะสั้นจะเพิ่มความเข้มข้นในการประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนในการส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวร่วมกัน การจัดโครงการรณรงค์กระตุ้นความต้องการเดินทาง และทำกิจกรรมกระตุ้นการขายเข้าสู่พื้นที่วิกฤต รวมทั้งเร่งทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการนำเที่ยวในตลาดให้หันกลับมาเสนอขายประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่วิกฤติโดยเร็ว ตลอดทั้งการเผยแพร่ข้อเท็จจริงและทำความเข้าใจกับภาคเอกชนและนักท่องเที่ยวในแต่ละตลาดผ่านช่องทางการร่วมงานส่งเสริมการขายในต่างประเทศ สำหรับแผนในระยะยาว จะนำเสนอ Theme การตลาดใหม่ในแหล่งท่องเที่ยวเขตอันดามัน พร้อมสร้าง Gimmick เพื่อกระตุ้นความต้องการเดินทางเข้ามาในแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ ตลอดทั้งร่วมมือกับภาคเอกชนไทยและผู้ประกอบการท้องถิ่นในการเสนอขายแหล่งท่องเที่ยวทั้งในลักษณะ Soft Sale และ Hard Sale ตามความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวในแต่ละกลุ่มตลาด ขณะเดียวกัน ในส่วนของแผนงานส่งเสริมตลาดในประเทศ ในระยะสั้นจะนำผู้ประกอบการเข้าสำรวจพื้นที่ที่ยังสามารถให้บริการแก่นักท่องเที่ยวได้ และร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดแพกเก็จพิเศษ เพื่อนำคนไทยที่สนใจเข้าร่วมฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่ประสบวิกฤติ ส่วนในระยะยาว จะผนวกการเสนอขายในกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวชาวไทยทั่วไป และการเสนอขายการท่องเที่ยวข้าม ภูมิภาคภายในประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนให้มีการจัดประชุม สัมมนาในพื้นที่ในช่วง Green Season ตลอดจนการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวต่าง ๆ ในพื้นที่ (Event Marketing) อย่างไรก็ดี จากผลสำรวจของ ททท. ในเบื้องต้น พบว่า ยังมีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตที่ยังคงสภาพพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว อาทิ บริเวณหาดไม้ขาว หาดในยาง รวมทั้งบริเวณตัวเมืองภูเก็ต ขณะที่จังหวัดกระบี่ บริเวณอ่าวนาง ก็สามารถฟื้นคืนสภาพขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ส่วนแหล่งท่องเที่ยวเกาะแก่งบริเวณอ่าวพังงานั้นกลับไม่ได้รับผลกระทบจากวิบัติภัยครั้งนี้ ส่วนแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดตรัง สตูล และระนอง ได้รับผลกระทบไม่มากนัก
แหล่งข่าว กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ ททท.
โทร. 0-2250-5500 ต่อ 1555 - 1563
โทรสาร 0-2250-5681
Web Site :ข่าวประชาสัมพันธ์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
http://www.tat.or.th/pr--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ