กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
ความสนุกสนานของดนตรีที่เล่นสดในจังหวะตีโทนโจ๊ะครึม ครึม สอดรับกับคำร้องภาษาเขมร ผสานท่วงท่าร่ายรำ คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของการแสดง"กันตรึม"การละเล่นพื้นบ้าน ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของอีสานใต้ ที่สืบสานโดยเยาวชนรุ่นใหม่จาก "โครงการอนุรักษ์สืบสานการละเล่นกันตรึมพื้นบ้าน" ได้อย่างน่าสนใจ
น.ส.กมลลักษณ์ จันเลิศ (ฝน) น.ส.สุกัญญา แพงงาม (ชมพู่) และน.ส.ธัญญารัตน์ แหวนวงค์ (แป้ง) กลุ่มตัวแทนจาก"โครงการอนุรักษ์สืบสานการละเล่นกันตรึมพื้นบ้าน" กล่าวว่า โครงการนี้เป็นหนึ่งใน โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปีที่ 2 สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
สุกัญญา เล่าว่า โครงการอนุรักษ์สืบสานการละเล่นกันตรึมพื้นบ้าน เป็นการรวมกลุ่มของเยาวชนบ้านระกา ต.พิมาย อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ ที่ชื่นชอบและต้องการอนุรักษ์ศิลปะแสดงพื้นบ้านของชาวอีสานใต้ ซึ่งได้ร่วมกันจัดตั้งวงกันตรึมพื้นบ้าน โดยกลุ่มศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดระกาขึ้น โดยมีปราชญ์ชาวบ้านจากจังหวัดสุรินทร์มาเป็นวิทยากรสอนท่ารำ ส่วนการเล่นดนตรีนั้นมีปราชญ์ในชุมชนเป็นคนสอนให้ จากนั้นกลุ่มเยาวชนแกนนำจึงได้ถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่นมาเรื่อยๆ โดยล่าสุดมีน้องๆเยาวชนให้ความสนใจร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
"การทำกิจกรรมนี้เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รวมถึงได้ถ่ายทอดความรู้ในเรื่องท่ารำให้กับน้องๆเยาวชน โดยกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการคือตั้งแต่ ป.4 ขึ้นไป ซึ่งตอนนี้มีน้องๆสนใจเยอะมาก น้องที่อายุน้อยๆอย่าง 5 ขวบ ก็มารำ รู้สึกดีใจมากที่น้องๆสนใจศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน"
ทั้งนี้ คุณค่าของบทเพลงกันตรึมอยู่ที่เนื้อร้องซึ่งเป็นภาษาเขมร โดยส่วนใหญ่มีเนื้อหาหรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับบริบทชุมชน ค่านิยมในสังคม และการดำเนินชีวิตในแบบฉบับคนอีสานในชนบท เช่น การทำนา เกี่ยวข้าว งานบ้านงานเรือนของผู้หญิง การเลือกคู่ครอง เป็นต้น
สำหรับการละเล่นกันตรึมนั้นจะเล่นในโอกาสต่างๆ อาทิ โอกาสเฉลิมฉลอง งานมงคล งานรื่นเริง เช่น งานแต่งงาน งานโกนจุก งานบวชนาค เทศกาลขึ้นปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ วันออกพรรษา-วันเข้าพรรษา เทศกาลลอยกระทง ขณะเดียวกันกันตรึมยังใช้เล่นในงานอวมงคลหรือใช้เล่นในพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อพื้นบ้านอีกด้วย
ด้าน กมลลักษณ์ กล่าวถึงความรับผิดชอบของแต่ละคนในทีมว่า จะแบ่งความรับผิดชอบในการฝึกซ้อมตามความถนัดของแต่ละคน ได้แก่ ทีมซอ ทีมกลอง ทีมฉิ่งฉาบและทีมนางรำ โดยให้พี่แต่ละคนที่เรียนมาแต่ละด้านไปสอนน้องเป็นกลุ่ม โดยกมลลักษณ์ สุกัญญา และธัญญารัตน์ จะรับผิดชอบนางรำ ซึ่งท่ารำของกันตรึมไม่มีแบบแผนตายตัว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือนางรำต้องร่ายรำอย่างอ้อนช้อยและสนุกสนานในบางจังหวะเพื่อสอดรับกับเสียงจังหวะดนตรีในท่อนนั้นๆ
"เวลาสอนน้องจะค่อยๆสอนไปทีละท่า สมมุติว่า 1 เพลง มี 7-8 ท่า ก็สอน 1-4 ท่าให้น้องไปก่อน เพราะหากสอนทั้งหมดน้องจะจำท่าไม่ได้ เนื่องจากน้องยังเป็นเด็กต้องค่อยๆสอนไปทีละท่า เวลาน้องเหนื่อยหรือสังเกตเห็นว่าน้องเริ่มไม่สนใจในสิ่งที่เราสอน ก็ต้องหากิจกรรมอื่นๆเข้ามาเสริม เช่น พาเล่นเกม พาร้องเพลง หรือให้เขาพักทำอย่างอื่นเพื่อไม่ให้เขาเครียด ซึ่งระหว่างสอนต้องคอยสังเกตท่าทีของน้องด้วย"
ขณะที่ ธัญญารัตน์ สะท้อนถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ในการทำกิจกรรมว่า ตนเป็นคนไม่ค่อยกล้าแสดงออกโดยเฉพาะการจับไมค์พูดหน้าเวที แต่ตอนนี้กล้าแสดงออก กล้าพูดมากขึ้น เพราะต้องเป็นผู้นำในการสอนน้องรำ ขณะเดียวกันต้องพูดคุยทำความเข้าใจและพาน้องทำกิจกรรมด้วยตัวเอง
"แรกๆที่เข้ามาทำกิจกรรมใหม่ๆ ไม่ค่อยกล้าพูดแต่พอมาอยู่โครงการฯนี้ มีพวกพี่ๆช่วยสอนช่วยสนับสนุนการทำกิจกรรมก็กล้าแสดงออกมากขึ้น ทำให้เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นไปในทางที่ดีขึ้น และรู้สึกดีใจที่ได้อนุรักษ์ศิลปะการแสดงที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษให้คงอยู่ต่อไป"
ด้าน พระครูปริยัติสีลาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดระกา เจ้าคณะตำบลพิมายเขต 2 ซึ่งสนับสนุนกลุ่มเยาวชนกล่าวว่า ชีวิตในช่วงวัยเด็กของตนนั้นถูกขับกล่อมด้วยเพลงกันตรึม โดยมองว่านอกจากการพาเด็กนั่งสมาธิแล้ว การฝึกเด็กให้ใฝ่ดีมีคุณธรรม การใช้ดนตรีกล่อมเกลาจิตใจจะช่วยให้เยาวชนเข้าถึงธรรมะได้ง่ายขึ้นถึง 5 ข้อ ได้แก่ 1.ขันติ คือเยาวชนต้องอดทนในการฝึกซ้อม 2.วิริยะ เยาวชนต้องมีความขยันหมั่นเพียร 3.สมาธิ คือเยาวชนต้องมีความนิ่งสงบก่อนการเล่นดนตรี 4.สติ คือเยาวชนต้องมีใจไม่วอกแว่ก และ 5.ความสามัคคีธรรม กล่าวคือเยาวชนต้องมีความสามัคคีในการบรรเลงเพลงทั้งวงไม่ว่าจะเป็นกลอง ซอ ปี่ ขลุ่ย ฉิ่ง กรับและนางรำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เยาวชนสามารถเรียนรู้ได้จากการเล่นดนตรี นั่นเอง
ส่วน ด.ญ.กัญญาพัชร มาตย์วังแสง (อุ๋มอิ๋ม) จากโรงเรียนอนุบาลปรางค์กู่ ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เล่าว่า ชื่นชอบการร่ายรำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เห็นรุ่นพี่ชักชวนมาฝึกซ้อมโดยใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนก็สนใจเป็นอย่างยิ่ง ตอนนี้ตนสามารถรำได้เก่งขึ้นและเวลารำต้องมีสมาธิมีความตั้งใจเพื่อจับจังหวะท่ารำให้เข้ากับจังหวะดนตรีที่ส่งกลับมา
อย่างไรก็ตาม คงไม่ง่ายนักที่เยาวชนจะลุกขึ้นมาอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเองโดยปราศจากการสนับสนุนหรือส่งเสริมจากผู้ใหญ่ ดังนั้น การสานฝันและเป็นกำลังใจให้เยาวชนเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้คนรุ่นใหม่หันมาเห็นคุณค่ามรดกทางปัญญาของบรรพบุรุษ และสนใจสืบสานศิลปะดนตรีพื้นบ้านอย่างจริงจัง เพราะถ้าไม่มีการอนุรักษ์ไว้อาจสูญหายไปตามกาลเวลา.