กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรฯ เตรียมจัดโครงการ "เพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำจืด คืนชีวิตสู่แหล่งน้ำ" เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในแหล่งน้ำธรรมชาติ สร้างแหล่งอาหารโปรตีนจากสัตว์น้ำ และสร้างมาตรการอนุรักษ์และการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติให้ประชาชนพื้นถิ่นได้มีใช้อย่างยั่งยืน
นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง เตรียมจัดโครงการ "เพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำจืด คืนชีวิตสู่แหล่งน้ำ" มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในแหล่งน้ำธรรมชาติ สร้างแหล่งอาหารโปรตีนจากสัตว์น้ำ และสร้างมาตรการอนุรักษ์และการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติให้ประชาชนพื้นถิ่นได้มีใช้อย่างยั่งยืน ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรอย่างถูกต้องให้กับประชาชน มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคม – ธันวาคม 2559
สำหรับกิจกรรมในการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว จะมีการผลิตพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำทั่วประเทศในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม โดยประกอบด้วย 3 กิจกรรมย่อย ได้แก่ 1) การปล่อยไข่ปลา/ลูกปลาแรกฟัก ในพื้นที่ 13 แหล่งน้ำสำคัญ ใน 12 จังหวัดทั่วประเทศ 2) การปล่อยปลาไทย ๕ ชนิด ลงสู่ท้องถิ่นเดิม ได้แก่ โครงการฟื้นปลากระโห้คืนถิ่นเจ้าพระยา โครงการปลากาดำคืนถิ่นในหนองหาร จังหวัดสกลนคร โครงการปลากรายคืนถิ่นเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา โครงการปลาพรมคืนถิ่นเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และโครงการยี่สกคืนถิ่นแม่กลอง จังหวัดกาญจนบุรี และ 3) การปล่อยลูกปลาบึกสู่หนองหลวง จังหวัดเชียงราย, การปล่อยปลาบึกสู่เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์, การเพิ่มผลผลิตปลาบึกในเขื่อนบางลาง (ทะเลสาบฮาลา) จังหวัดยะลา และการเพิ่มผลผลิตปลาบึกในเขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยตลอดการดำเนินโครงการจะมีการเฝ้าระวังและควบคุมการทำการประมงเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำจืดคืนชีวิตสู่ต้นน้ำ
ด้านนายมีศักดิ์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง จะจัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการ "โอบเอื้อ เกื้อชีวิต : เพิ่มผลผลิต คืนชีวิต สู่ลำน้ำแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี" เพื่อเป็นการเปิดตัวโครงการ "เพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำจืด คืนชีวิตสู่แหล่งน้ำ" ในวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ที่จะถึงนี้ โดยจะมีการปล่อยไข่/ปลาแรกฟัก และพ่อแม่พันธุ์ปลา ได้แก่ ปลาตะเพียนขาว ปลาตะเพียนทอง ปลากระแห ปลาจาด เป็นต้น ณ บริเวณปากลำห้วยบีคลี่ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งมีลำน้ำ 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำบีคลี่ และแม่น้ำรันตี มาบรรจบกัน ซึ่งคาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 3,000,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 240 ล้านบาท และจะมีชาวประมงได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 39,.000 คน