กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--โมด อิมเมจ
วงการอัญมณีและเครื่องประดับไทยยิ้มยอดขยับ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เหตุเพราะไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปกลุ่มผู้ชายให้ความสนใจติดตามคนดังในวงการที่มีอิทธิพลด้านแฟชั่นเครื่องประดับผู้ชาย
ปัจจุบันเครื่องประดับไม่ได้เป็นสิ่งของเฉพาะสำหรับเพศหญิงอีกต่อไปแล้ว หากแต่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ชายไม่ว่าจะเป็นต่างหู กำไล แหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ฯลฯ จากค่านิยมที่เปลี่ยนไป ทั้งวิถีการดำเนินชีวิต ตลอดจนการเข้ามามีบทบาทของบุคคลดังๆ ที่เป็นไอดอลในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นักแสดง ศิลปิน นักกีฬา นักดนตรี ฯลฯ อาทิ เดวิด เบคแฮม นักกีฬาขวัญใจของคนทั่วโลก ที่ทุกคน ต่างพากันยอมรับเอกลักษณ์แฟชั่นการแต่งกายของเขา ทำให้ปัจจุบันผู้ชายหันมา สวมใส่เครื่องประดับ กันมากขึ้น
การผลิตเครื่องประดับสำหรับผู้ชายในปัจจุบัน ผู้ผลิตให้ความสำคัญและใส่ใจในเรื่องของการดีไซน์ และการเลือกใช้วัสดุในการผลิตที่มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ตรงกับรูปแบบการใช้ชีวิตที่หลากหลาย ทำให้เครื่องประดับสำหรับผู้ชาย ตอบโจทย์ความต้องการใช้เครื่องประดับ ที่ไม่ใช่เพียงแค่การใช้งานอีกต่อไป หากแต่ต้องการให้เครื่องประดับนั้น เป็นเฟอร์นิเจอร์ประจำตัวที่สามารถหยิบมาใช้งานได้ตามโอกาสอันจะเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์และบุคลิกภาพที่ดีให้กับผู้ที่สวมใส่ได้ด้วย
จากเหตุผลดังกล่าว สอดคล้องกับผลการวิจัยด้านตลาดเครื่องประดับของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ตลาดเครื่องประดับสำหรับผู้ชายมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน เพราะคนกลุ่มนี้เชื่อมั่นว่า การสวมใส่เครื่องประดับสามารถแสดงออกให้เห็น ถึงความเป็นตัวตนได้อย่างชัดเจน และจากความต้องการของตลาดที่มีมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมค้าปลีกเครื่องประดับในประเทศไทย มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมาว่า มีจำนวนผู้ประกอบการ มากถึง 1,683 ราย ยังไม่รวมผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ได้จดทะเบียนในฐานข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มหลังนี้จะทำธุรกิจในลักษณะของการขายตรง รวมถึงผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่อาศัยช่องทางโซเชียลมีเดียเป็นหน้าร้านอีกจำนวนมาก ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุไว้เมื่อ เดือนกันยายน 2558 ว่าจำนวนแรงงานในระบบมีประมาณ 5-6 แสนคน และยังมีแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบ รวมถึงครัวเรือนที่เกี่ยวข้องอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับในลักษณะรายย่อยอีกจำนวนมาก
นั่นจึงกล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงมีโอกาสที่จะยกระดับและพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความรู้ และมีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาธุรกิจให้ได้มาตรฐาน เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตอัญมณีและเครื่อง ประดับของโลก
จากเหตุผลดังกล่าว ประเทศไทย โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงได้เป็นเจ้าภาพจัดงานงานบางกอกเจมส์มาแล้วถึง 57 ครั้ง กล่าวได้ว่างานนี้เป็นงานแฟร์สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการด้านอัญมณีและเครื่องประดับจากทั่วโลกในการเข้าร่วมงานและเข้าชมงาน โดยในการจัดงานครั้งที่ 58นี้ ได้กำหนดจัดงานให้ยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา จัดแสดงเต็มพื้นที่อาคารชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1 - 3 บนพื้นที่กว่า 60,000ตารางเมตร มีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าจากในประเทศและต่างประเทศไม่น้อยกว่า 800 บริษัท หรือกว่า 2,400 คูหา คาดการณ์ผู้เข้าชมงาน และ ผู้ซื้อคุณภาพกว่า 30,000 คนจาก 160 ประเทศทั่วโลก พร้อมปรับรูปแบบงานใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความนำสมัยและเป็นเอกลักษณ์ ด้วยการจัดวางผังโซนใหม่เพื่อให้สะดวก ทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย รวมถึงการเปิดเวทีสำหรับเครื่องประดับแพลทฟอร์มใหม่ๆ ที่มีการสร้างสรรค์ และ ออกแบบ เพื่อส่งเสริมการค้าและการพัฒนาคุณภาพการจัดงาน อันจะนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางอัญมณี และเครื่องประดับของโลกที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้จากทุกประเทศทั่วโลกต้องมาเยือน
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดโซนพิเศษ 6 SHOW CASE โดยผู้เชี่ยวชาญจากอิตาลี และ ญี่ปุ่น มาให้คำแนะนำ และคัดเลือกสินค้าเพื่อมาจัดแสดง โดยเน้นการทำตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น แบ่งออกเป็น (1) 60+ Exhibition - กลุ่มสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ (2) Pet Parade - กลุ่มสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง (3) The Moments – กลุ่ม สินค้าสำหรับเทศกาลพิเศษต่างๆ อาทิ งานแต่งงาน (4) Art & Craft – กลุ่มสินค้า ศิลปหัตถกรรม (5) Gemstlemen – โซนที่รวบรวมเครื่องประดับสำหรับคุณผู้ชายทุกชนิด และ (6) Spiritual & Horoscope – กลุ่มสินค้ามงคลและความเชื่อ ที่คาดว่าจะเป็นโซนไฮไลท์อีกโซนหนึ่งของงานนี้
งาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ครั้งที่ 58 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 กันยายน 2559 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1 - 3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ผู้สนใจเข้าร่วมงาน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กลุ่มงานพัฒนาธุรกิจแฟชั่น (สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ) โทรศัพท์ 02 507 8392-3 โทรสาร 02 547 4286 อีเมล์bkkgems@ditp.go.th