กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--ประชาสัมพันธ์ อพวช.
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิธรรมมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัด "ค่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็น"ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 11 - 14 กรกฎาคม 2559 ณ อพวช. คลองห้า ปทุมธานี
นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดเผยว่า "ค่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็น" เป็นค่ายที่จัดขึ้นเพื่อวางรากฐานและสร้างกลไกในการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีความบกพร่องทางการเห็น ให้มีโอกาสเรียนรู้ฝึกฝนทักษะและเข้าถึงกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปสู่การแสวงหาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี อีกทั้งยังสามารถนำกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปประยุกต์ใช้กับวิชาอื่น ๆ ที่ตนเองสนใจต่อไปในอนาคต ค่ายนี้นอกจากจะเน้นพัฒนานักเรียนเรายังหวังให้เกิดเครือข่ายครูและบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาดูแลนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดการสอน รวมทั้งถ่ายทอดเทคนิคการและกระบวนการถ่ายทอดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นอีกด้วย
กิจกรรม "ค่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็น" จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2549 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการสนับสนุนส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้กับสังคมทุกชนชั้น สำหรับค่ายครั้งที่ 9 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 -14 กรกฎาคม 2559 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายประกอบด้วยนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็น จำนวน 40 คน ครูจากโรงเรียนสอนคนตาบอด 12 โรงเรียน และโรงเรียนเรียนร่วมจากโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็น จำนวน 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนสันติราษฎร์ โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน โรงเรียนเขาย้อย โรงเรียนโยธินบูรณะ และโรงเรียนมัธยมพัชระกิติยาภา 3 จำนวน 26 คน และ ศึกษานิเทศก์ จำนวน 2 ท่าน โดยมีกิจกรรมแบ่งออกเป็น 4 ฐาน ได้แก่ ฐานสนุกกับเคมี ฐานฟิสิกส์น่ารู้ ฐานคณิตสนุกคิด และฐานวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นได้ทดลองใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ โดยปรับให้เหมาะสมกับศักยภาพในการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นหลัก
นายทิวากร จันทรโชติ อายุ 19 ปี ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดธรรมสากลหาดใหญ่ กล่าวว่า "มีความประทับใจในการได้มาเข้าร่วมค่ายในครั้งนี้ เพราะมีโอกาสได้ใช้เครื่องมือทดลองในห้องทดลองวิทยาศาสตร์ เนื่องจากตนเองเป็นผู้บกพร่องทางการเห็นที่ตาทั้งสองข้างมืดสนิท แต่อยู่ในระดับช่วยเหลือตนเองได้ จึงจำเป็นต้องเข้ามาเรียนร่วมกับเพื่อนในโรงเรียนปกติ และมีครูพี่เลี้ยงค่อยดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถออกมาใช้ชีวิตกับสังคมปกติได้ แต่ก็ค่อนข้างยากในการทำความเข้าใจ ในอนาคตคิดว่าสิ่งที่เหมาะกับตนเองคงจะเป็นการเรียนเรื่องคณิตศาสตร์ และบริหารธุรกิจ เพราะจะช่วยให้สามารถนำไปต่อยอดธุรกิจที่บ้านได้ สุดท้ายอยากฝากถึงเพื่อน ๆ ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นเหมือนกันว่า ข้อจำกัดในการมองเห็นไม่ใช้อุปสรรคของการเรียนรู้เราควรเปิดใจ ไม่ปิดกั้นตนเอง และพิสูจน์ให้สังคมได้รู้ว่าเราสามารถทำได้ และพร้อมอยู่ร่วมสังคมกับคนปกติได้ อยากให้กำลังใจเพื่อน ๆ ทุกคน"
ด้านเด็กหญิงวริศรา คล้ำดำ อายุ 14 ปี ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ กล่าวว่า "ค่ายนี้สนุกมาก ได้รับความรู้และมิตรภาพดี ๆ มากมาย จากทั้งวิทยากรและเพื่อน ๆ เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้ใช้อุปกรณ์การทดลองต่าง ๆ ตนเองมีความสนใจในการศึกษาต่อด้านคณิตศาสตร์ – วิทยาศาสตร์ มีความฝันอยากเป็นคุณครูที่สอนให้กับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น"
"เป็นที่น่ายินดีว่าเยาวชนที่ผ่านการเข้าค่ายนี้ เลือกจะเรียนต่อในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้วถึง 2 คนด้วยกัน จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และปัจจุบันทั้งสองท่านได้ทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยที่สถาบันเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ เนคเทค และหวังว่าในอนาคตนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นเหล่านี้ จะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ และเข้ามาเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณิตศาสตร์ มากยิ่งขึ้น" นางกรรณิการ์ กล่าวทิ้งท้าย