กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--กรมสุขภาพจิต
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การดื่มสุราสร้างปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย โดยเฉพาะความรุนแรงเนื่องจากฤทธิ์ของสุราไปควบคุมสมองส่วน ของความคิด การตัดสินใจ และการใช้เหตุผล ทำให้ผู้ดื่มขาดสติ ขาดการยับยั้งชั่งใจ ไม่รับรู้ว่าสิ่งใดผิดหรือถูก ประกอบกับ ทำให้เกิดความรู้สึกคึกคะนองและก้าวร้าว จึงทำให้เกิดปัญหา สร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่นได้ง่าย ในที่สุดก็เกิดปัญหาอาชญากรรมตามมา รวมทั้ง ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งพบว่า ในแต่ละปีมีผู้เข้ารับการบำบัดรักษาปัญหาสุขภาพจิตจากการดื่มสุราของโรงพยาบาลสวนปรุง ซึ่งเป็นศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาสุขภาพจิตจากแอลกอฮอล์ ไม่น้อยกว่า 4 พันรายต่อปี และคาดว่า ยังมีผู้มีแนวโน้มจะติดสุราจนต้องส่งมารักษาอยู่อีกจำนวนมาก
การลด ละ เลิก หรือไม่ดื่มเลย จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ต้องขอย้ำว่า ควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดย ค่อยๆ ลด ปริมาณการดื่มลง ให้ต่ำกว่าปริมาณการดื่มที่เคยดื่ม เช่น กำหนด และจำกัดปริมาณที่จะดื่ม ดื่มช้าๆ เพื่อจะได้มีสติในการยั้งคิด ดื่มน้ำเปล่าสลับบ้างในระหว่างที่ดื่มสุรา เพื่อทิ้งช่วงในการดื่มให้ห่างขึ้น ทำกิจกรรมอย่างอื่นทดแทน เช่น เล่นดนตรี เล่นกีฬา ทำงานศิลปะ งานอดิเรกต่างๆ ปฏิบัติธรรม หลีกเลี่ยงกลุ่มเพื่อนที่เคยดื่มด้วยกัน พบปะหรือเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนที่ไม่ดื่มแทน หากถูกชักชวนให้ดื่ม ให้ปฏิเสธโดยตรงว่ามีปัญหาสุขภาพ หรือหมอสั่ง ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะหลังดื่มสุรา และไม่ควรดื่มสุราเมื่อมีการทานยาทุกชนิด ทั้งนี้ เพราะ การหักดิบ หรือ หยุดดื่มในทันที ย่อมทำให้เกิดอาการถอนพิษสุรา หรือ อาการลงแดงได้ เช่น ตัวสั่น เครียด ชัก ประสาทหลอน สับสนวุ่นวาย ดังนั้น หากพบว่า มีอาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง หงุดหงิดกระสับกระส่าย ใจสั่น มือสั่น เหงื่อแตก หลังจากหยุดดื่ม ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน ที่สำคัญ แจ้งให้ชัดว่า หยุดดื่มสุรา ทั้งนี้ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว