แบงก์บัวหลวงรุกธุรกิจเอสเอ็มอีครบวงจรเปิดตัวสินเชื่อใหม่เน้นการลงทุนระยะยาว

ข่าวทั่วไป Wednesday June 13, 2001 13:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--ธ.กรุงเทพฯ
แบงก์บัวหลวงเดินหน้าพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างครบวงจร ออกสินเชื่อใหม่เพื่อสนับสนุนการลงทุนของเอสเอ็มอีดอกเบี้ยต่ำ 6.75% พร้อมตั้งหน่วยงานเอสเอ็มอีเฉพาะขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางผลักดันโครงการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของธนาคาร อีกทั้งอาศัยสำนักธุรกิจ 32 แห่ง ในเขตนครหลวงเป็นแกนกลางเพื่อให้ใกล้ชิดกับผู้ประกอบการตลอดจนพัฒนาประสิทธิภาพในงานบริการและเสริมความเข้มแข็งให้กับเอสเอ็มอีด้วยการปรับบริการทางวิชาการเพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบการของนักธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างครบวงจร
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่าการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นงานที่ธนาคารให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2542 และในปี 2544 นี้ธนาคารถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนให้งานบริการมีคุณภาพและประสิทธิภาพสามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าขนาดกลางและขนาดเล็กได้ดีขึ้นทั้งในด้านการบริการสินเชื่อและการสนับสนุนทางวิชาการอย่างครบวงจร
นางอัจฉริยา พัฒนวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพชี้แจงว่าในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน การลงทุนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้น ธนาคารกรุงเทพจึงได้มีการปรับปรุงงานในส่วนของการให้สินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอีโดยเพิ่มทางเลือกแก่ผู้ประกอบการตามลักษณะความต้องการใช้เงินกู้ เพื่อการนี้ ธนาคารจึงได้กำหนดแยกสินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอีออกเป็น 2 ประเภทคือสินเชื่อเพื่อการลงทุนซึ่งเป็นสินเชื่อระยะยาวและสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนซึ่งเป็นสินเชื่อระยะสั้น โดยเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ ธนาคารได้เริ่มโครงการสินเชื่อใหม่สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยใช้ชื่อว่า “ เงินกู้บัวหลวงเพื่อ SMEs ” เป็นเงินกู้ระยะยาว 3-7 ปี ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเลือกอัตราดอกเบี้ยใน 2 ปีแรกได้ 2 แบบ คือแบบที่ 1 เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.75% ต่อปีและแบบที่ 2 เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวคิดอัตราดอกเบี้ย MRR-1% โดยวางเป้าหมายให้สามารถสนับสนุนการขยายการลงทุนได้ 10,000 ล้านบาทในปี 2544 สำหรับสินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียนยังคงได้แก่สินเชื่อรวมใจพัฒนาเอสเอ็มอีซึ่งเป็นสินเชื่อที่เริ่มประกาศใช้มาแล้ว 2 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก MRR หรือหากเข้าโครงการขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินของธนาคารแห่งประเทศไทยคิดอัตราดอกเบี้ย MLR-1%
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ กล่าวเสริมว่านอกจากการปรับปรุงด้านสินเชื่อแล้ว ธนาคารยังได้เริ่มทำการปรับปรุงองค์กรครั้งใหญ่ตั้งแต่ปลายปี 2543 ให้เน้นเป้าหมายกลุ่มเอสเอ็มอีโดยธนาคารจะดำเนินการผ่านสำนักธุรกิจซึ่งกำลังทยอยจัดตั้งให้ครบทั้ง 32 แห่งในเขตนครหลวงภายในเดือนกันยายนนี้ นอกจากนั้นธนาคารยังได้จัดให้มีการจัดตั้งหน่วยงานเอสเอ็มอีขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อดูแลงานเกี่ยวกับการพัฒนาเอสเอ็มอีของธนาคารทั้งระบบเพื่อให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีของธนาคารสามารถอำนวยประโยชน์ให้กับธุรกิจของลูกค้าได้ดีขึ้นในลักษณะของเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน โดยธนาคารได้แต่งตั้งนายพันธ์ศักดิ์ ลีลาวรรณกุลศิริ Senior Vice President ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้จัดการภาคนครหลวง 1 เป็นผู้ดูแลผลิตภัณฑ์เพื่อธุรกิจขนาดกลางและเล็ก นายพันธ์ศักดิ์เป็นผู้ที่มีประสบการณ์สูงในเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาเอสเอ็มอีและเป็นผู้ทำงานใกล้ชิดกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาเป็นเวลานานทั้งในส่วนของงานด้านสินเชื่อของธนาคารและงานด้านวิชาการ ซึ่งนายพันธ์ศักดิ์มีประสบการณ์ในการทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายให้ความรู้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในโครงการพัฒนาผู้ประกอบการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยต่างๆมาตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์กล่าวต่อว่านอกจากการปรับปรุงเรื่ององค์กรและสินเชื่อระยะยาวเพื่อเอสเอ็มอีแล้วแล้วธนาคารยังมุ่งปรับปรุงการให้บริการทางวิชาการซึ่งเน้นให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาศักยภาพทางธุรกิจโดยการเพิ่มพูนด้านความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ งานบริการทางวิชาการได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2542 อย่างเป็นขั้นตอน โดยในปี 2542 เป็นการวางรากฐานในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และในปี 2543 เป็นการฉายภาพยุทธศาสตร์ในการปรับตัวเข้าสู่ความเป็นเอสเอ็มอียุคใหม่ การอบรมสัมมนาที่ธนาคารจัดขึ้นใน 2 ปีนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมทั้งสิ้นประมาณ 5,000 คน และตั้งแต่ปลายปี 2543 จนถึงปัจจุบัน ธนาคารได้เริ่มใช้หลักสูตรอบรมแผนธุรกิจเอสเอ็มอี กับทั้งผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ของธนาคารโดยธนาคารได้พัฒนาหลักสูตรแผนธุรกิจของธนาคารขึ้นเองเพื่อใช้อบรมเจ้าหน้าที่ของธนาคารและผู้ประกอบการขนาดกลาง สำหรับโครงการที่ธนาคารจะริเริ่มต่อไปจะเน้นผู้ประกอบการขนาดเล็กและเกษตรกรก้าวหน้าเป็นพิเศษเพื่อให้สามารถเข้าสู่ระบบธุรกิจสมัยใหม่ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการอำนวยสินเชื่อ ในขณะนี้ ธนาคารกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาหลักสูตรการบริหารการเงินและต้นทุนที่ออกแบบเป็นพิเศษสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและเกษตรกรก้าวหน้าร่วมกับผู้เชี่ยวชาญโดยมีเป้าหมายที่จะเริ่มทำการทดลองหลักสูตรดังกล่าวภายในไตรมาส 4 ของปีนี้และพร้อมจะขยายผลต่อไปในปี 2545
ในส่วนของสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคาร ตั้งแต่ต้นปี 2544 จนถึง 30 เมษายน ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วในโครงการรวมใจพัฒนา SMEs 4,482 ล้านบาท สำหรับโครงการตั๋วสัญญาใช้เงินสำหรับเอสเอ็มอีภายใต้กรอบของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ 30 เมษายน 2544 มีภาระ3,390 ล้านบาท--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ